โจ

หน้าแรก ย้อนกลับ โจ

โจ

 

โจ

 

          โจ1 คือของศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องมือป้องกันหรือทำอันตรายคนที่มาลักขโมยทรัพย์สินสิ่งของ   ต่าง ๆ อาทิ ผลไม้ ตลอดจนกระทั่งวัว ควาย เป็ด ไก่ และอื่น ๆ โดยทั่วไป เรามักเห็นชาวพื้นเมืองภาคใต้ทำโจแขวนไว้ตามต้นไม้ที่มีผล เพื่อป้องกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ให้ลักขโมยผลไม้ต้นนั้น ๆ ไปกิน เนื่องจากมีความเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่าโจเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ลงยันต์เวทมนตร์คาถาอย่างแข็งแรง จึงทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าลองดี 

        การสร้างโจขึ้นใช้แต่โบราณยังมีวัตถุประสงค์และวิธีการที่มากกว่าที่เห็นโดยทั่วไป มีการลงอักขระเลขยันต์    เวทมนตร์คาถามากบ้าง น้อยบ้าง ที่ตั้งใจทำอย่างแข็งแรงก็มีครูหมอซึ่งมีตำราการทำโจแบบต่าง ๆ เป็นผู้ลงมือทำเองโดยตรง ถ้าเป็นโจธรรมดาตามพื้นบ้านก็อาศัยคนเฒ่าคนแก่ที่มีความรู้เรื่องวิธีผูกโจทำ เพราะการผูกโจมีวัตถุประสงค์ไม่ต้องการทำให้ผู้ลักขโมยได้รับโทษรุนแรงถึงขนาดตาย หวังเพียงท้องพอง ท้องอืด หรือปวดท้องเท่านั้น ซึ่งบทคาถาที่ใช้ใส่โจ มักเป็นคาถาหัวใจ 108 สำหรับใช้บริกรรมปลุกเสกยันต์ต่าง ๆ ทั่วไป โดยโจมีหลายประเภท ดังนี้

         1. โจฝัง หาหม้อดินใหม่ยังไม่เคยใช้มาก่อนเลยมาใบหนึ่ง แล้วไปขอปูนกินหมากจากคนพุงใหญ่ (ตั้งครรภ์)      จำนวน 3 คน โดยให้คนพุงใหญ่เป็นคนควักปูนป้ายให้เอง เมื่อได้ปูนมาแล้วก็เอามาป้ายเขียนข้างหม้อเป็นรูปยันต์ตามตำรา สำหรับของใส่ในหม้อให้ไปเอาไม้ทิ่มผี (คือ ไม้ที่สัปเหร่อเขาใช้แทงแยงไฟ แยงศพขณะเผาอยู่บนเชิงตะกอน) โดยตัดเอามาสักท่อนหรือซีกหนึ่งก็ได้ พอใส่หม้อเสร็จแล้วเขียนยันต์โจลงบนผ้าหรือบนกระดาษใส่ไว้ในหม้อ ก่อนนำหม้อไปฝังต้องทำพิธีเซ่นสรวงไหว้พระแม่ธรณีเสียก่อน โจชนิดนี้ใช้ฝังไว้ในสวนหรือบริเวณใต้ต้นไม้

           2. โจแขวน ให้ไปหาไม้โลงผี (โลงศพ) ความยาวสักราว 1 คืบนำมาลงเลขยันต์ต่าง ๆ ตามตำราเสกด้วยมนต์  แขก (ภาษามลายู) เสร็จแล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ที่ต้องการไม่ให้ใครมาลัก เล่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ใครมาลักเป็นถูกตีหัวและเป็นไข้หัวโกร๋น

            3. โจควายธนู ให้ปลูกเป็นโรงยกพื้น 4 เสา ขนาดที่เล็กคล้ายศาลพระภูมิ สูงแค่เอว ทำหลังคา ฝามิดชิด        เปิดแต่ด้านหน้า ใช้ดินเคล้าผสมกับขี้ผึ้งปั้นรูปควาย (ถ้าเป็นคอกวัวก็ปั้นรูปวัว เป็นคอกควายก็ปั้นรูปควาย) ลงยันต์อักขระตามตำราปลุกเสกเซ่นหญ้าให้กิน (เอาหญ้าวางกองไว้หน้ารูปวัว ควาย) ทุกวันเสาร์และวันอังคาร ใครมาลักขโมยวัว ควาย ข้าวของ จะเกิดมีคนออกมาดักหน้าและตีฟันขับไล่กระเจิงไม่ทันรู้ตัว

             4. โจบอก (กระบอก) โจกระบอกรู้สึกว่ามีใช้แพร่หลายที่สุดและทำส่วนประกอบรายละเอียดแตกต่างกัน        วิธีทำโจกระบอกหาไม้ไผ่ตายพราย คือต้นไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอตัดมาปล้องหนึ่ง ตัดหัวตัดท้ายเอาข้อออกให้ลำรูทะลุตลอดนำมาเจาะรู 4 รู ข้างกระบอกทั้ง 4 ด้านโดยรอบ ใช้ไม้ไผ่เหลากลมขนาดเล็กกว่าไม้ตะเกียบจำนวน 2 อัน เสียบตามรูที่เจาะไว้ ปลายไม้ก็จะทะลุทั้ง 4 ทิศ และในรูกระบอกก็จะเป็นรูปกากบาท หาผ้าขาวมา 2 ผืนลงเลขยันต์อักขระตามตำราครูหมอ โดยมากเป็นยันต์ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ยันต์แผ่นดินทรุด” ใช้ยันต์พระพุทธเจ้า 5 องค์ก็มี ใช้ “ยันต์ขันธ์ 5” ก็มี หลังจากนั้นหุ้มปิดปากโจรูดให้แน่นทั้งหัวท้ายใช้ปูนกินหมากวงรอบกระบอก 1-2 วง (แล้วแต่ตำรา) พลางว่าคาถา เสร็จแล้วใช้เชือกกล้วยผูกทำสายนำไปผูกแขวนห้อยไว้ที่กิ่งต้นไม้ที่หวงไว้ไม่ต้องการให้ใครมาลักขโมย ขนาดสูงประมาณไม่ให้คนคว้าถึง ทั้งนี้การทำโจกระบอกมีความแตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้น สุดแต่เกจิอาจารย์ของใครจะสอนไว้อย่างไร

            5. โจพรก คำว่า “พรก” ภาษาปักษ์ใต้แปลว่ากะลามะพร้าว ดังนั้นคำว่าโจพรกก็หมายถึงโจชนิดหนึ่งที่ทำด้วยกะลามะพร้าวนั่นเอง วิธีทำโจพรกไม่ยากเพราะกะลามะพร้าวหาได้ง่าย แต่กะลามะพร้าวที่ใช้ทำโจต้องเลือกฝา (ซีก) ตัวผู้ขนาดเดียวกันมา 2 ฝา (บางแห่งใช้ฝาเดียวก็ได้) ประกบให้ปากติดกัน ใช้เชือกกล้วยร้อยรูทั้ง 2 ฝาเข้าด้วยกัน        บางตำราก็ทุบคางคกใส่ไว้ข้างในเพื่อว่าคางคกจะเน่าพองส่งกลิ่นเหม็น ใครมาลักกินผลไม้ท้องไส้ก็จะได้ทั้งพองทั้งคันด้วย แต่บางตำราก็ไม่ใส่หรือใส่ยันต์แทน ข้างกะลามะพร้าวด้านนอกใช้ปูนป้ายเป็นรูปกากบาท ยาว 3-4 แห่งพร้อมกับว่าคาถา เสร็จแล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในที่ซึ่งใครผ่านไปผ่านมามองเห็นได้ง่าย

             6. โจตอก ใช้เส้นผมหรือเชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกตรึงผีที่เรียกด้วยคาถาอาคมเอาไว้ แล้วผูกเข้ากับตะปู ตอกตะปู    นั้นไว้ที่ต้นผลไม้ที่จะใส่โจ เชื่อว่าเมื่อมีคนมาขโมยผลไม้ ผีที่ผูกไว้นั้นจะคอยผลักหรือดักขาขโมยให้ตกลงมา

              7. โจหลอก คือโจที่ไม่ได้ลงเลขยันต์หรือคาถาอาคมสิ่งใดไว้ แต่คนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโจของจริงหรือเป็นโจหลอก    ทำขู่ไว้ เหตุที่คิดทำโจหลอกหรือโจปลอมขึ้นใช้ก็เพราะทำง่าย ไม่ต้องให้ครูหมอหรือท่านผู้เฒ่าผู้รู้ใด ๆ มาทำให้            อีกประการหนึ่งการผูกโจจริงบางครั้งก็เป็นบาปหรือเป็นการกระทำรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะลูกเล็กเด็กแดงยังไม่ประ-  สาอะไรอาจเผลอไปกินเข้าก็ได้ จึงต้องการแสดงเครื่องหมายไว้สักอย่างหนึ่งให้คนทั่วไปเห็นว่าต้นไม้ต้นนี้เจ้าของหวง อยากเอาไว้กินไว้ขายบ้าง อย่าได้รบกวนเลย โจพรกซึ่งทำเป็นโจหลอกทำด้วยกะลามะพร้าวฝาเดียว ใช้ปูนขีดตีนกาพอเป็นเครื่องหมายนำไปแขวนทิ้งไว้ พบมากกว่าโจชนิดอื่น ๆ

  

 

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “โจ” (หน้า 1784-1787). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 4. (2542). มูลนิธิสารานุกรม                        วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.                                  

แชร์ 2264 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้