ผ้าบาติก

หน้าแรก ย้อนกลับ ผ้าบาติก

ผ้าบาติก

ที่มา: https://shorturl.asia/dVHK0

ผ้าบาติก

วรรณพิชชา โตะสัน

 

        ผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปะทางด้านฝีมือและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการทำผ้าบาติกมาประมาณ 2,000 ปีแล้ว แต่แหล่งกำเนิดของศิลปะพื้นเมืองโบราณนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ผู้หญิงในตระกูลสูงของชวาเป็นผู้ริเริ่มทำผ้าบาติกขึ้นมา มีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ต่อจากนั้นชาวดัตช์ก็นำผ้าบาติกจากชวาไปแพร่หลายยังทวีปยุโรป และยังได้รับความนิยมสูงในอเมริกาอีกด้วยทั้งนี้เป็นเพราะผ้าบาติกมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนศิลปะอย่างอื่น

      ในประเทศไทยมีการทำผ้าบาติกกันมานานแล้วโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยใช้วิธีการพิมพ์ลวดลายด้วยเทียนลงบนผ้า ผู้คนทั้งชายและหญิงต่างใช้ผ้าบาติกกันโดยทั่วไป สำหรับผู้หญิงใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อ กระโปรง หรือนุ่งเป็นโสร่งออกงานสังคมและอยู่กับบ้าน ส่วนผู้ชายนั้นนิยมตัดเป็นเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวปัจจุบันผ้าบาติกสามารถส่งผลิตออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างมาก นอกจากนี้ ยังได้รับความนิยมจากเหล่าดีไซเนอร์ชาวไทย นำมาออกแบบตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นอีกด้วย

         การทำผ้าบาติกเป็นศิลปหัตถกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนใช้วิธีการเขียนด้วยเทียนเป็นหลัก โดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสีเท่านั้น    ผ้าบาติกบางผืนอาจผ่านขั้นตอนมาเป็นสิบ ๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่ายอาจทำขึ้นโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษอย่างแท้จริง อีกทั้งลายของผ้าบาติกส่วนมากจะเป็นลายและสีแบบธรรมชาติ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้อย่างเด่นชัด ความโดดเด่นของผ้าบาติกจึงอยู่ที่ลวดลายและการใช้สี ที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างทั้งท้องถิ่นที่มา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ธรรมชาติ ไปจนถึงเอกลักษณ์ของแหล่งผลิต หรือกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงนับได้ว่าเป็นการรวมอารยธรรมของความเป็นภาคใต้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

     เครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำผ้าบาติก ได้แก่ เตาสำหรับต้มขี้ผึ้ง (เดิมใช้เตาถ่าน แต่ปัจจุบันนิยมใช้เตาไฟฟ้าเพราะป้องกันขี้ผึ้งลุกไหม้ได้ดีกว่า) หม้อสำหรับต้มขี้ผึ้ง อ่างเคลือบหรืออ่างพลาสติกสำหรับใส่สีย้อมผ้าอย่างน้อย  2 ใบ ถุงมือยางสำหรับสวมเวลาย้อมสี เฟรมหรือกรอบไม้สำหรับขึงผ้าเวลาเขียนขี้ผึ้ง แปรงและพู่กันสำหรับเขียนผ้าบาติกโดยเฉพาะ และเทอร์มอมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิขี้ผึ้งเวลาต้ม

         วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ผ้า เทียน สี และเฟรม ผ้านั้นควรเป็นผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าป่าน หรือผ้าไหมก็ได้ แต่ต้องเป็นผ้าที่มีเนื้อเหนียวแน่น มีคุณสมบัติในการดูดซึมได้ดี และผ้าที่นำมาย้อมควรเป็นสีขาว เพราะดูดสีได้ดีกว่าผ้าสีอื่น ๆ 

     ขั้นตอนในการทำผ้าบาติกมี 4 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นของการออกแบบลวดลาย ขั้นการเขียนขี้ผึ้ง ขั้นการย้อมสี และขั้นการเอาขี้ผึ้งออก

ขั้นการออกแบบลวดลาย เป็นขั้นตอนแรก อาจจะร่างลงบนกระดาษก่อน หรือหากชำนาญแล้วจะเขียนลงบนผ้าเลยก็ได้ ในขั้นตอนนี้จะต้องกำหนดสีที่ใช้ด้วย

ขั้นการเขียนขี้ผึ้ง นำผ้าขาวมาขึงบนเฟรมให้ตึง แล้วร่างลวดลายลงบนผ้าด้วยสีเทียน พอได้ภาพร่างแล้วจะเขียนจริงด้วยขี้ผึ้ง การเขียนขี้ผึ้งนั้นจะต้องใช้ขี้ผึ้งที่ต้มจนเหลวในอุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส ใช้พู่กันเขียน และในการเขียนขี้ผึ้งนี้จะต้องสังเกตว่าขี้ผึ้งซึมลงไปในเนื้อผ้าดีหรือไม่หากซึมไปในเนื้อผ้าดีก็จะได้ลายที่คมชัด ทั้งนี้การเขียนขี้ผึ้งจะต้องคำนึงถึงสีที่จะย้อมด้วยว่าลวดลายแต่ละส่วนนั้นจะให้เป็นสีอะไรบ้าง 

ขั้นการย้อมสีการย้อมสีสามารถย้อมทับกันได้ทั้งชนิดที่ใช้สีโปรชั่นและแวตถ้าเป็นสีโปรชั่นเมื่อย้อมทับกันสีจะผสมกัน เช่น ถ้าย้อมสีเหลืองแล้วย้อมสีแดงทับก็จะได้สีส้ม แต่ถ้าเป็นสีแวตจะย้อมทับไปได้เลย สีแวตจะไม่ผสมกับสีเดิมที่ย้อมไว้แล้ว

ลำดับขั้นของการย้อมสี มีดังนี้

  1. การเขียนขี้ผึ้งลงบนบริเวณที่ต้องการให้เป็นสีขาว

  2. ย้อมสีที่ 1 ซึ่งควรเป็นสีที่อ่อนที่สุด

  3. รอผ้าแห้งสนิท

  4. เขียนขี้ผึ้งถมลายที่ต้องการให้เป็นสีเดิม

  5. ย้อมสีที่ 2

  6. รอผ้าแห้งสนิท

  7. หากต้องการให้เทียนแตกร้าว ให้นำผ้าไปจุ่มลงในน้ำเย็นเพื่อที่สีจะได้ซึมลงไปในลาย

ขั้นการเอาขี้ผึ้งออก หากย้อมสีตามที่ต้องการเสร็จแล้ว ให้นำผ้าที่ย้อมแล้วไปต้ม เอาขี้ผึ้งหรือไขออก โดยต้มในน้ำที่ร้อนจัด และผสม Sodium I.C.I. ลงไปด้วย เพื่อให้สีผ้าสวยงาม จากนั้นจึงนำไปซักในน้ำเย็นแล้วนำกลับมาต้มในน้ำผสมสบู่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ขี้ผึ้งหลุดออกให้หมด นำไปตากที่ร่มแล้วนำมารีด 

        แหล่งผลิตผ้าบาติกที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ คือ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รองลงมา คือ จังหวัดภูเก็ต และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

  

 

มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). ผ้าปาเต๊ะ. ใน สารานุกรม
         วัมฒนธรรมไทย  ภาคใต้ (เล่มที่ 10 , น. 4731 - 4732). ธนาคารไทยพาณิชย์.
 

แชร์ 1013 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้