โคระ

หน้าแรก ย้อนกลับ โคระ

โคระ

ที่มา: https://oer.learn.in.th/search_detail/result/265059

 

โคระ: เครื่องหุ้มห่อผลไม้


          โคระ (โคระ) หรือ โคร่ เป็นเครื่องสานที่ใช้ห่อหรือสวมผลไม้จำพวกขนุนและจำปาดะ เพื่อป้องกันตัวหนอนชอนไชทำความเสียหายให้กับผลไม้ โดยทั่วไปทำจากใบมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าเป็นใบแห้งต้องแช่น้ำก่อนหนึ่งคืน เพื่อให้ใบคลี่สะดวกต่อการสาน การทำโคระ เริ่มด้วยเลือกทางมะพร้าวที่มีก้านใบสมบูรณ์ดีไม่มีรอยฉีกขาดหรือมีแต่น้อย ตัดทางให้เป็นท่อนติดใบข้างละ 3 ก้าน รวม 6 ก้าน นำท่อนทางที่ตัด 2 ท่อน สานเข้าด้วยกัน โดยจับท่อนทางทั้งคู่หันหน้าเข้าหากัน สานรูปขึ้นทีละด้านด้วยลายขัด เมื่อขัดตอกได้ 4 ตาแล้ว ใช้ก้านมะพร้าวทำเป็นหมุดกลัดดอกเส้นบนสุดของทั้งสองข้างไว้กันหลุด แล้วพลิกไปสานด้านตรงข้ามต่อไป ขัดตอกตามวิธีเดิมจนได้รูปคล้ายกรวยปลายดอกทั้ง 2 ของแต่ละท่อนทางจะไปรวมอยู่ด้านเดียวกัน ขัดตอกตามวิธีเดิมจนใกล้สุดปลายตอกใบ รวมปลายใบขัดเป็นปม ๒ ปม คล้ายผมเปีย ได้รูปโคระที่สมบูรณ์
          อนึ่ง การทำโคระขนาดที่โตกว่า เพื่อใช้ห่อผลไม้ขนาดโตก็ทำได้โดยการตัดทางมะพร้าวให้มีดอกใบข้างละ 5-7 ก้าน 2 ท่อน ได้ก้านใบ 20-28 ก้าน สานขึ้นรูปโดยวิธีเดียวกัน
          ชาวสวนใช้โคระสวมขนุนหรือจำปาดะตั้งแต่ยังเป็นผลอ่อนอายุประมาณ 1 เดือน โดยสวมทางปากหรือก้นโคระก็ได้แล้วปล่อยทิ้งไว้จนผลไม้เจริญเต็มที่ โคระก็จะขยายตัวยืดออกตามขนาดผลไม้นั้นๆโคระแต่ละใบใช้ได้เพียงครั้งเดียวชาวสวนบางคนนิยมสานโคระออกจำหน่ายด้วย  (สุภาคย์ อินทองคง) 


โคระ : ภาชนะใส่ของ
          โคระ (โคระ) เป็นภาชนะอย่างหนึ่งลักษณะก้นกลมปากกว้าง ขนาดเดียวกับส่วนก้นหรือแคบกว่าเล็กน้อย คล้ายกระเชอ คือกว้างและลึกประมาณ 2 ฟุต ตัวของโคระทำด้วยหนังควายหรือหนังวัวทั้งผืนที่นำมาตัดให้ได้ขนาดตามต้องการแล้วดัดให้เข้ารูปและทำขอบด้วยหวายและผูกทำเป็นหูสำหรับแขวนจำนวน 2-4 มุม คล้ายสาแหรก โคระใช้สำหรับใส่รวงผึ้งซึ่งตีได้จากต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากผึ่งทำรังสูง เมื่อตีได้เล้วจึงใส่โคระผูกเชือกที่หูโคระห้อยลงสู่พื้นเพื่อถ่ายใส่ภาชนะอื่นต่อไปฉะนั้นโคระจึงเหมาะสำหรับการนี้โดยเฉพาะ (นเรศ ศรีรัตร์)

 


เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “โคระ: เครื่องหุ้มห่อผลไม้ และ โคระ : ภาชนะใส่ของ” (หน้า 1325). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 3. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์กรุงเทพฯ.
 

แชร์ 375 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้