ไอ้คลกสีชูด,ไอ้คลกมลายู/ไอ้คลกแประ

หน้าแรก ย้อนกลับ ไอ้คลกสีชูด,ไอ้คลกมลายู/ไอ้คลกแประ

ไอ้คลกสีชูด,ไอ้คลกมลายู/ไอ้คลกแประ

 

ไอ้คลกสีชูด,ไอ้คลกมลายู (ไอ้คลกแประ)

บุญเลิศ จันทระ1

 

รูปลักษณ์ของวัตถุ

      เป็นมีดพกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในภาคใต้ มีความยาวของคม 10 นิ้วขึ้นไป และคมส่วนที่กว้างสุดประมาณ 2.5 นิ้วโดยประมาณ ประกอบด้วย 4 ชิ้นส่วน ได้แก่ ตาหรือใบ ด้าม รัดด้าม และฝักในส่วนของตาเป็นมีดที่ตีให้หลังหรือสันหนาจากส่วนด้ามไล่เรียวไปยังปลายแหลม และหลังโค้งลงเล็กน้อย ส่วนคมจะห้อยย้อยเป็นท้องช้างจากปลายแหลม และจะกิ่วคอดตรงเอวก่อนที่จะถึงกั่น ส่วนปลายจะตีแผ่กว้างแบนทำให้มีน้ำหนักดีเมื่อต้องใช้สำหรับฟัน ฝักของเก่าพบเป็นไม้เจาะเซาะเป็นร่องจากไม้ชิ้นเดียว ในยุคหลังจะใช้ไม้ผ่าออกเป็นสองชิ้น ทำการเซาะร่องให้พอดีกับคมแล้วนำมาประกบยึดด้วยหมุด ด้านหนึ่งของฝักมัก แกะสลักนูนขึ้น ลวดลายบนฝักขึ้นอยู่กับทักษะของช่าง บ้างแกะสลักนูนเป็นก้นหอยบ้างเป็นรูปดอกไม้ บ้างเป็นรูปหัวนก ทั้งนี้เพื่อยึดเหนี่ยวไม่ให้หลวมยามเหน็บพกพา ส่วนด้ามนิยมทำให้โค้งมนเพื่อให้รับกับอุ้งมือในยามใช้งาน รูปลักษณ์ของด้ามเหมือนผลของกล้วยแก่เป็นส่วนใหญ่ เป็นหัวมกร2 ก็พบในยุคหลังพบมีดคลกขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกกันว่า 'มีดลูกคลก' ซึ่งช่างผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองในการใช้ประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

 

ประโยชน์ใช้สอย     

       เป็นมีดเดินป่า มีประสิทธิภาพสูงในการใช้ฟันใช้สับ และยังมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ชำแหละเนื้อสัตว์ ด้วยความสวยงามของรูปทรงยังพบว่าถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นมีดพก โดยทำให้มีขนาดเล็กลง และมีจุดเน้นตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน แต่โครงสร้างยังคงรักษารูปแบบมีดคลกเอาไว้ได้

 

คุณค่าและความสำคัญ

         มีดคลก พบว่าใช้กันอยู่ในคาบสมุทรมลายูตั้งแต่ประเทศมาเลเซียจนถึงภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย คำว่า คลก น่าจะมาจากภาษามลายู คือ คำว่า โก-ลก (kolok) แปลว่า คด-โค้ง ซึ่งเป็นคำใช้เรียกมีดชนิดหนึ่งรูปแบบลักษณะเดียวกับมีดคลก มีดคลกมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ไอ้คลกสีชูด กับไอ้คลกมลายู หรือที่เรียกกันว่า ไอ้คลกแประ รูปแบบที่ใช้อยู่ในภาคใต้ตอนล่างของไทยเรียกกันว่า ไอ้คลกสีชูด คำว่า สีชูด ในภาคใต้ เป็นชื่อของตัวตลกหนังตะลุง รูปตัวหนังตะลุงสีชูดดังกล่าวมีอาวุธคู่กาย คือ มีดคลก เพื่อแยกให้เห็นว่า ไอ้คลกของชาวภาคใต้มีรูปแบบที่แตกต่างกันกับไอ้คลกของชาวมลายู ความต่างกันในรูปลักษณ์ของคลกมลายูกับคลกสีชูดที่เป็นลักษณะเด่นมองเห็นได้ชัดเจน คือ ปลายของคลกมลายูมีความแหลมเรียวกว่า และส่วนเอวจะคอดกิ่วยาวกว่าเช่นกัน ลักษณะดังกล่าวน่าจะพัฒนาตามรูปแบบที่ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า ในอดีตป่าดงและสัตว์ในภาคใต้ตอนล่างน่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เพราะขนาดของมีดที่มีความใหญ่หนาคม แหลมมนต่างกัน อย่างไรก็ตามที่สำคัญอีกประการหนึ่ง มีดคลกชนิดนี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการดำรงชีวิตและภาษาที่คนในคาบสมุทรมลายูแลกเปลี่ยนถ่ายโอนสู่กันและกันอย่างใกล้ชิด

 

ศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์

        ศักยภาพด้านการใช้ประโยชน์ เป็นที่ทราบกันในปัจจุบันว่า ระบบการผลิตและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในสังคมถูกระบบการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาครอบงำ นำพาให้ใช้ประโยชน์ตามสภาพ ความไว ความสะดวก ความสบาย ส่งผลสำคัญต่อวิถีการบริโภคแบบใหม่ รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ถูกกำกับโดยตลาด อย่างไรก็ตาม พบว่าผลิตภัณฑ์หลายประการเป็นเพียงสิ่งใช้แทนของที่ตนเองต้องการใช้ แต่ด้วยกลไกทางตลาดจึงทำให้ของที่ต้องการใช้หายไปจากตลาด อย่างไรก็ตามด้วยพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่ก่อเกิดและพัฒนาขึ้นจากบริบทของท้องถิ่นย่อมมีประโยชน์และคุณค่าสอดรับกับสังคมและวัฒนธรรมอย่างสำคัญแต่เมื่อมีต้นทุนและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าจึงหายไปจากตลาดหากสามารถผลิตขึ้นและตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างที่ผลิตภัณฑ์นำเข้ามาในภายหลัง คุณค่าและคุณภาพย่อมเป็นทางเลือกของสังคมได้ในที่สุด ควรมีการสนับสนุนให้มีการผลิตภายในชุมชนเพื่อออกจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับตลาด

 

ศักยภาพด้านการนำไปสู่การสร้างสรรค์

           ลายกนก3ที่ปรากฏอยู่บนฝักของมีด ชาวใต้เรียกลายก้านขดยกก้นหอยนูนขึ้นเพื่อให้สามารถเป็นสลักเหนียวกับชายผ้าที่ใช้เป็นผ้าคาดเอวหรือชายผ้านุ่ง รวมถึงเข็มขัดก็ได้ ลายดังกล่าวมีความสวยงามสามารถนำไปใช้เพื่อออกแบบงานศิลปะสร้างสรรค์ได้หลายประการ เช่น นำไปออกแบบเป็นหัวเสาโคมไฟได้อย่างสวยงาม หรือสร้างเป็นไอคอนเพื่อนำไปประดับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น เวทีการแสดง เชิงชายจั่วเรือนไทย ภาคใต้ เป็นต้น

 

 

 

 

1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

2มังกร หมายถึง สัตว์ทะเลโบราณตามตำนานความเชื่อชาวฮินดู

3ลายกนก เป็นลายพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญของลายไทย โดยมีพื้นฐานจากสามเหลี่ยมชายธง (สามเหลี่ยมมุมฉาก) หลายตัว

4ก้านขด เป็นลายไทยชนิดหนึ่งที่เขียนขดไปขดมา โดยมีการสร้างสรรค์หลากหลายวิธี ทั้งการระบายสี ปิดทองรดน้ำ แกะสลัก                            การทอผ้า

แชร์ 2471 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้