น่ำข้าว

หน้าแรก ย้อนกลับ น่ำข้าว

น่ำข้าว

ภาพโดย ทุ่งใหญ่ก็มีดี นครศรีธรรมราช 

น่ำข้าว

 

            น่ำข้าว เป็นวิธีปลูกข้าววิธีหนึ่ง นิยมใช้กับการปลูกข้าวไร่หรือปลูกข้าวดอน ก่อนลงมือน่ำข้าวต้องเตรียมพื้นที่  ให้พร้อมโดยถางป่า ถากหญ้าและกวาดผิวหน้าดินให้เตียนโล่ง ขั้นนี้จะทำตั้งแต่ช่วงหน้าแล้ง พอฝนเริ่มโปรยตอนต้นฤดูมาสักห่าสองห่าก็น่ำข้าวได้ การน่ำข้าวนิยมทำทีละเจ้าโดย "ออกปาก" หรือวานคนในละแวกใกล้เคียงมาช่วยกัน แบ่งแรงงานเป็น 2 พวก พวกผู้ชายให้ "แทงสัก" เตรียมหลุมสำหรับหยอดเมล็ดพันธุ์ พวกผู้หญิงให้ "หยอดหลุม" คือเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงหลุมที่ฝ่ายชายเตรียมไว้และปิดหลุมให้มิดกันสัตว์จะมาคุ้ยเขี่ยกิน
           ในการแทงสัก ผู้แทงจะยืนเรียงหน้ากระดานตั้งแต่มุมแปลงที่จะนำข้าวมุมใดมุมหนึ่ง โดยยืนห่างกันราว 2 วา  ทุกคนใช้ไม้ขนาดโตเกือบเท่าข้อมือยาวพอเสมอศีรษะ ปลายแหลม คนละ 2 อันเป็นอุปกรณ์ไม้นี้เรียกว่า "ไม้สัก" ผู้แทงสักคนหนึ่งจะเริ่มแทงกำหนดแนวและระยะถี่ห่างเต็มทั้งแปลง จากนั้นผู้แทงสักทุกคนจะแทงตามแนวและระยะที่กำหนดไว้ โดยเดินถอยหลังไปเรื่อย ๆ จนสุดแปลง ในการแทงเนื่องจากแต่ละคนถือไม้สักคู่ จึงแทงสลับมือซ้ายขวา ขนาดหลุมที่แทงต้องให้ลึกพอเหมาะคือประมาณ 1.50 นิ้ว ถ้าหลุมลึกเกินไป ข้าวจะแทงหน่อขึ้นเหนือพื้นดินไม่ได้ ถ้าหลุมตื้นเกินไป สัตว์อาจคุ้ยเขี่ยเสียหายได้ เมื่อแทงสักทำหลุมไปได้พอประมาณ ฝ่ายหยอดหลุมก็จะเรียงแถวในท่าก้มโค้งจากริมแปลงด้านหนึ่งถือ "บอกน่ำ" ซึ่งเป็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดเท่าข้อมือคนละกระบอก ภายในกระบอกใส่พันธุ์ข้าวปลูก เทพันธุ์ข้าวใส่มืออีกข้างหนึ่ง แล้วหยอดพันธุ์ข้าวนั้นลงหลุม ประมาณหลุมละ 15-20 เมล็ด เมื่อหยอดเสร็จหลุมหนึ่ง ๆ ก็ใช้ก้นกระบอกทิ่มดินปากหลุมให้ปิดหลุมให้มิด การหยอดหลุมผู้หยอดจะเดินหน้าไปเรื่อย ๆ จนสุดแปลง โดยปกติในที่แปลงหนึ่ง ๆ จะน่ำข้าวให้เสร็จในวันเดียว ทั้งนี้เพราะจะได้ไม่รบกวนผู้ที่ถูกวานมาช่วยเหลือมากจนเกินไป ทั้งยังจะต้องหมุนเวียนไปช่วยน่ำข้าวเจ้าอื่น ๆ ต่อไปอีก ฝ่ายผู้วานคนมาช่วยก็จะได้ไม่ต้องรับภาระจุกจิกเกินจำเป็น เพราะการวานคนมาช่วยเหลือ ผู้วานต้องเตรียมอาหารไว้ต้อนรับ ถ้าวันเดียวไม่เสร็จก็ดูจะมีภาระเกินจำเป็น 
          การน่ำข้าวเป็นวิถีการยังชีพที่ทำให้ทุกครัวเรือนต้องช่วยเหลือกัน เป็นการประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา      และเป็นเครื่องเสริมสร้างความรักหมู่พวกได้ดีอย่างหนึ่ง 

 

 

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “น่ำข้าว” (หน้า 3765). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 8. (2542).                                                    มูลนิธิสารานุกรม วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 1251 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้