บอกมิหลัง

หน้าแรก ย้อนกลับ บอกมิหลัง

บอกมิหลัง

ที่มา Shutterstock

บอกมิหลัง

 

        บอกมิหลัง เป็นเครื่องมือจับปลาแบบพื้นบ้าน ที่อาศัยจากการสังเกตธรรมชาติแวดล้อมและอุปนิสัยของปลาดุกทะเล เนื่องจากปลาชนิดนี้ชอบกินพวกตัวเพรียงที่เกาะอยู่ตามไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่น้ำท่วมถึง เมื่อแดดร้อนก็จะชอบฝังตัวอยู่ในรูใต้พื้นโคลน
        เครื่องมือและอุปกรณ์ในการวางบอกมิหลัง ประกอบด้วย "บอก" ซึ่งทำด้วยปล้องไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่ประมาณ 2 นิ้วขึ้นไป ยาวประมาณ 1 เมตร โดยทะลวงข้อไม้ไผ่ข้อกลางให้เป็นรูกลวงตลอด และมี "ผ้า" สำหรับใช้ปิดปากกระบอก 1 ผืน
           วิธีการวางบอกมิหลัง ชาวประมงจะนำไม้ไผ่ที่ทะลวงข้อด้านในออกเรียบร้อยแล้วไปวางในที่ ๆ มีตัวเพรียงจับ    เกาะอยู่ เช่น ตามไม้หรือตามปีกของเครื่องมือประมงชนิดอื่น ซึ่งมักจะมีตัวเพรียงเกาะอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ และมีร่มเงาให้ปลาดุกทะเลหลบแดด ชาวประมงจะนำเอาบอกจมลงในแนวนอน หากมีหลายกระบอกก็จะจมให้ห่างกันประมาณ 2-3 เมตร โดยธรรมชาติของปลาดุกทะเล หลังจากกินอาหารจนอิ่มแล้วก็จะขุดรูแล้วฝังตัวเองอยู่ใต้พื้นโคลน แต่เมื่อชาวประมงนำเอากระบอกไม้ไผ่ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับรูที่ปลาดุกทะเลขุด ปลาดุกทะเลก็จะเข้าไปหลบอยู่ในกระบอกที่จมไว้ โดยปกติชาวประมงจะจมบอกไว้ข้ามวันจึงค่อยกลับมากู้
           การกู้บอก โดยการนำผ้าไปปิดปลายบอกด้านใดด้านหนึ่ง พร้อมทั้งเอามือกดทับผ้าปิดบอกด้านนั้นให้แน่น        พร้อม ๆ กับใช้มืออีกข้างปิดปากบอกอีกด้านหนึ่ง แล้วจึงค่อยนำบอกขึ้นจากพื้นน้ำ หลังจากนั้นก็จะนำบอกขึ้นเรือเพื่อนำปลาดุกทะเลที่ติดอยู่ในบอกนั้นออก เมื่อกู้บอกแล้วชาวประมงบางรายอาจจะจมบอกไว้ ณ ที่เดิม แต่บางรายอาจเปลี่ยนที่ในการจมบอกครั้งต่อไปก็ได้ 


ที่มา PHIN PHIN OFFICIAL

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “บอกมิหลัง” (หน้า 3957). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 8. (2542).                                                   มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 1109 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้