หน้าแรก ย้อนกลับ กริชสกุลช่างสงขลา ผลึกแห่งภูมิปัญญา
กริชสกุลช่างสงขลา ผลึกแห่งภูมิปัญญา
บุญเลิศ จันทระ1
กริช เป็นชื่อของศาสตราวุธ ศาสตราภรณ์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันในคาบสมุทรมลายูจนถึงภาคใต้ของไทย เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอินโดนีเชีย (Indonesia Bahaza) ใช้เป็นกิริยาแปลว่า แทง (ในระยะประชิดตัว) ในภาษาไทยใช้เป็นคำนาม กริชเป็นโบราณวัตถุชนิดหนึ่งที่มีพัฒนาการทั้งด้านรูปลักษณ์และความหมายสืบเนื่องกันมาเป็น 1,000 ปี มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับกริชที่เก่าแก่ เป็นภาพสลักนูนต่ำในโบราณสถานของพราหมณ์ในชวากลาง ประเทศอินโดนีเชีย ประเมินอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ในภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเทพหรือเทวดาได้จับอาวุธซึ่งมีลักษณะเดียวกับกริชวางไว้บนเข่า แสดงกิริยากำลังตีกริช โดยใช้เข่าต่างถั่ง ปัจจุบันในพื้นที่ (หมายถึงชวากลาง ประเทศอินโดนีเชีย) ดังกล่าว ยังคงเป็นแหล่งผลิต แหล่งจำหน่ายกริชที่สำคัญของประเทศ ของภูมิภาคและของโลก นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมการใช้ที่ซับซ้อนสืบทอดกันมาอย่างไม่เสื่อมคลาย
ดังประสบการณ์ของผู้เขียนในช่วงปี พ.ศ. 2557-2560 เมื่อครั้งลงเก็บข้อมูลกริชในหลายพื้นที่ของประเทศอินโดนีเชีย เช่น โรงผลิตกริชในเมืองยอร์คจากาต้า เมืองสุลาปายา เมืองบาหลี เป็นต้น พบว่ายังคงมีการผลิตและจำหน่ายกริชกันอยู่ทั่วไป มีร้านวางขายสามารถเลือกซื้อได้ตามกำลังทรัพย์ที่มี และยังมีคติ (ความเชื่อ) ที่ปรากฏอยู่ในวิถีพื้นบ้านเกี่ยวกับกริชอีกมากมาย เช่น คติเกี่ยวกับลาย (parmor) หรือในเกาะชวาบ้านใดไม่มีกริชอยู่ประจำบ้านก็แทบไม่ใช่บ้านเรือนของคนชวา
กริชนอกจากใช้เป็นสิ่งมงคลประจำบ้านเรือนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวให้เห็นผู้ชายหรือความเป็นชายกับกริช ของคนชวาที่ถือกันว่า ชายชาวชวาที่ดีต้องมีกริชดีคู่กายเสมอ แม้ในสุภาพสตรีบางคนยามต้องเดินทางไกล มีการพกกริชติดตัวอีกด้วย ดังกรณีที่ผู้เขียนเดินทางข้ามช่องแคบมะละกาโดยทางเรือ จากท่าเรือเมืองยะโฮร์บาห์รูของประเทศมาเลเซียไปยังท่าเรือสนามบินเมืองเมดาล เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามเรื่องกริชกับนักเดินทางสุภาพสตรีชาวชวาท่านหนึ่ง เธอได้นำกริชที่พกติดตัวออกมาแสดงจำนวน 4 เล่ม เป็นลักษณะกริชเล่มเล็ก ๆ มีความยาวไม่เกินหนึ่งคืบ เก็บห่อผ้าไว้อย่างสวยงาม เธออธิบายว่า กริชแต่ละเล่มมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เล่มนี้จะให้คุณกับการเจรจาทางการค้า เล่มนี้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย เล่มนี้จะให้คุณทางเสน่ห์ และเล่มนี้ใช้สำหรับป้องกันภัย และเธออธิบายเสริมว่า มันจะเตือนภัยเราล่วงหน้าหากจะมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นจากการเดินทางเป็นต้น สิ่งที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ศูนย์กลางของวัฒนธรรมแขนงนี้ยังมีพลังและพลวัตอยู่มาก
ด้วยกริชเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ดังที่กล่าวแล้ว ยุคแรกน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในชีวิต ประจำวัน ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์ได้แพร่กระจายมายังพื้นที่แห่งนี้ อาวุธดังกล่าวจึงปรับตัวเข้ากับคติของพราหมณ์ ส่งผลให้ความหมายและรูปลักษณ์ค่อย ๆ พัฒนาสอดรับกัน เมื่อพัฒนาต่อมาตามลำดับผ่านคลื่นศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม รูปลักษณ์และความหมายจึงค่อย ๆ ปรับตามสอดรับกับคติอันเกี่ยวเนื่องด้วยศาสนานั้น ๆ สืบมา
ด้วยอิทธิพลทางศาสนา การค้า การเมืองและวัฒนธรรมในคาบสมุทรมลายูและดินแดนสุวรรณภูมิที่เชื่อมโยง ถ่ายโอนถึงกันมาแต่โบราณกาล ส่งผลให้วัฒนธรรมกริชแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค ตั้งแต่ช่องแคบซุนดาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ บาหลี ซูลาเวซี บอร์เนียว ชวา สุมาตรา ช่องแคบมะละกา ภาคใต้ตอนล่าง จนถึงศูนย์กลางของรัฐสยาม พัฒนาการของวัฒนธรรมกริชที่ดำรงอยู่บนแกนหลักของวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู ถึงแม้จะมีคลื่นวัฒนธรรมใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรมตะวันตก แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่ง คือ กริชกลับพัฒนาผสมกลมกลืนไปกับคลื่นวัฒนธรรม แต่ละคลื่นอย่างมีเอกลักษณ์ ก่อเกิดเป็นสายสกุลช่างกริชต่าง ๆ ดังปัจจุบัน
กริชสงขลาบ้าง กริชสงขลา-นครศรีธรรมราชบ้างที่เรียกกัน เป็นกริชที่ปรับแต่ง ปรุงแต่งรูปลักษณ์ และ จิตลักษณ์ (ความหมาย) ด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นจนก่อเกิดอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแยกออกจากรูปลักษณ์ที่เคยปรากฏมาก่อน กลายเป็นพันทาง กลายเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น บนสายรากทางประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมือง ณ ปากน้ำทะเลสาบสงขลาจากฝั่งหัวเขาแดง แหลมสน จนถึงเมืองบ่อยาง จากเมืองซิงกอรามาสู่เมืองสงขลาในปัจจุบัน
กริชเป็นโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของประวัติศาสตร์ศิลปะที่สอดรับกับประวัติศาสตร์ของหัวเมือง ท้องถิ่นนี้ได้เป็นอย่างดี ดังที่เราพบหลักฐานกริชที่มีอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามากมาย กล่าวได้ว่ามีทุกรูปแบบที่ใช้อยู่ในคาบสมุทรมลายู ไม่ว่าจะเป็นกริชมัชปาหิต แบบบาหลี กริชแบบชวา กริชแบบสุมาตรา กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ แต่ละสายสกุลพบอย่างกระจายตัวและมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษทั้งในด้านรูปลักษณ์และคติการใช้ประโยชน์ คือ กริชสกุลช่างสงขลา
คติการใช้กริชสกุลช่างสงขลาของท้องถิ่นถือเป็นหลักฐานสำคัญในหลายประการ ประการที่หนึ่ง กริชสงขลา ถูกใช้ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ทุกพิธีกรรม เช่น พิธีตัดเหมรย2 พิธีแต่งงานกับนางไม้ พิธีโนราลงครู เป็นต้น ประการที่สอง คติความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าเปลวหรือเจ้าป่าช้าของคนในท้องถิ่น ที่เรียกขานกันว่า ยายกาหลาตากาหลี ความเชื่อดังกล่าวนี้ส่งผลสำคัญในพิธีงานศพของคนในท้องถิ่นอย่างพิสดาร และเทพเจ้าผู้เป็นเจ้าป่าช้าหรือเจ้าเปลวที่คนในท้องถิ่นมีความเชื่อและมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างพิสดาร อันเป็นคติที่มีวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดูเป็นรากฐานปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอย่างซับซ้อน เช่น คติเรื่องครูหมอ คติเรื่องเสาเอก คติเรื่องการสร้างเบญจา เป็นต้น ประการที่สาม มีหลักฐานการพบกริชในพื้นที่ซึ่งมีอายุเก่าแก่อยู่แทบทุกสายสกุลช่าง โดยเฉพาะสายสกุลช่างแบบชวา ไม่ว่าจะเป็นแบบมัชปาหิต แบบหัวลูกไก่ หัวจิ้งเหลน สกุลช่างบูกิส กริชหัวเทพเจ้า สกุลช่างบาหลี กริชหัวไม้เท้า สกุลช่างชวาทั้งแบบกายามัน แบบลาดลัง และแบบโซโลที่รู้จักกันในนามหัวกริชเจรีบอน กริชเหล่านี้สันนิษฐานว่าใช้กันอยู่ในเมืองซิงกอรา อาจจะเข้ามาก่อนหรือจะมีจำนวนมากขึ้นในยุคที่ดาโต๊ะโมกุลเข้ามาสร้างเมืองที่หัวเขาแดง ผู้เขียนมีความมั่นใจว่า กริชในยุคแรกเป็นกริชที่สร้างขึ้นให้มีรูปลักษณ์สอดรับกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทุกส่วนของกริชจึงมีความหมายแทนสิ่งเคารพสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงพบกริชยุคแรกที่เรียกว่ากริชมัชปาหิตซึ่งสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะและค่อย ๆ ชัดขึ้นตามลำดับคือกริชสกุลช่างบาหลีที่มีรูปแบบเก่าแก่ยังคงเป็นรูปเทพเจ้าที่ตนนับถือ ค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างไปตามอิทธิพลทางศาสนาที่เข้ามายังดินแดนแห่งนี้ จากรูปธรรมของสิ่งเคารพสูงสุดค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นนามธรรมดังที่ปรากฏเป็นกริชหัวลูกไก่ กริชหัวจิ้งเหลน และยังคงสืบพลังความหมายเดิมต่อมาในรูปของหัวลูกไก่และหัวจิ้งเหลนทรงเครื่อง ลดรูปไปเหลือแต่แบบเกลาจนเกลี้ยงที่เรียกกันว่าหัวลูกไก่ หัวจิ้งเหลน ซึ่งปรากฏอยู่มากในพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่าง ส่วนที่แตกแขนงไปตามอิทธิพลดังกล่าวกลายเป็นแบบนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนในแต่ละพื้นที่ กระจายไปทั่วภูมิภาค เมื่อถูกนำเข้ามายังเมืองชิงกอลาโดยเฉพาะรูปแบบ เจรีบอน ซึ่งน่าจะนำความหมายเข้ามาด้วย เมื่อนำรูปลักษณ์และความหมายเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ ประกอบกับในพื้นที่เองถึงแม้ผู้คนจะนับถือศาสนาพุทธก็ตาม แต่เป็นพุทธที่ดำรงอยู่บนรากฐานของความเป็นพราหมณ์ โลกทัศน์ของคนในท้องถิ่นจึงค่อย ๆ ปรับรูปลักษณ์ของกริชที่นำเข้ามาสอดรับกับคติท้องถิ่นเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือเป็นทุนเดิมดังที่กล่าวแล้ว
จากรูปลักษณ์ที่ปรับไปตามคติศาสนาอิสลามในพื้นที่ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนในพื้นที่ของกลุ่มผู้นับถือ ศาสนาพุทธจึงปรับให้เข้ากับคติแบบพุทธที่มีรากฐานวัฒนธรรมพราหมณ์ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง หัวกริชแบบเจรีบอนจึงปรับและขยายสัดส่วนให้รูปธรรมปรากฏชัดขึ้นตามคติและจินตนาการของคนในท้องถิ่นกลายเป็นกริชสงขลา ต่อมาเมื่อผสมเข้ากับเทคนิคภูมิปัญญาของชาวจีนที่นำองค์ความรู้การเล่นแร่แปรธาตุจึงเกิดงานเงิน-ทองรูปพรรณขึ้น ความรู้ในแขนงดังกล่าวจึงนำไปสู่การสร้างสรรค์งานกริชหัวเงินจนเป็นสกุลช่างกริชที่มีความโดดเด่น ได้รับความนิยมสืบทอดตราบถึงปัจจุบัน และยังเป็นต้นแบบของสกุลช่างกริชต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน และหัวกริชแบบสงขลานี้เอง เป็นหัวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะปางดุร้ายที่สุดที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า "ตากาหลา" อันเป็นเทพเจ้าผู้เป็นเจ้าของเขาพระสุเมรุ ซึ่งในท้องถิ่นเชื่อถือกันตามคติพราหมณ์ว่า เป็นเทพเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย และตรงกับคติชวาที่เรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า "พระกาลอ (กาฬ)"
การใช้ประโยชน์
ใช้เป็นอาวุธ ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ใช้ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในภาคใต้ตอนล่าง เช่น พิธีตัดเหมรย พิธีโนราลงครู พิธีแต่งงานกับนางไม้ เป็นต้น โดยเชื่อกันว่า หากใช้อาวุธชนิดอื่นจะทำให้พิธีกรรมเสียไปหรือไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์
ศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์
กริชเป็นศาสตราวุธโบราณที่มีพัฒนาการร่วมกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การศึกษาทำความเข้าใจกริชซึ่งเป็น โบราณวัตถุที่มีโบราณคดีแนบแน่นอยู่กับการก่อเกิด การเปลี่ยนแปลง และล่มสลายลงของเมืองสงขลาโบราณ หากนำศาสตราวุธดังกล่าวมาสร้างเป็นวรรณกรรมการต่อสู้ให้เห็นพลังของการสร้างสรรค์ทั้งในเชิงรูปลักษณ์ และความหมายบนความอภินิหารและศักดิ์สิทธิ์ ที่ผูกติดอยู่กับประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้ ในทำนองการเล่าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอยุธยาโดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในลักษณะบทละครทีวีเรื่องบุพเพสันนิวาสจะทำให้ผู้คนในเมืองเก่าแห่งนี้เกิดสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอันจะเป็นต้นทุนสำคัญสู่การพัฒนาเมืองแห่งนี้ไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนั้นด้วยกริชเป็นศาสตราวุธที่สำคัญของภูมิภาคและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจสูง จึงสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ชุมชนผู้ผลิต มีผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกส่วนหนึ่ง
1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
2เหมรย เป็นคำไทยถิ่นใต้ หมายถึง สัญญาหรือพันธสัญญาที่ให้ไว้กับพลังที่อยู่เหนือธรรมชาติหรือศักดิ์สิทธิ์
มีลักษณะ 2 รูปแบบ คือ “เหมรยปาก” และ “เหมรยห่อ” ขณะที่เหมรยปากคือคำพูดที่เป็นการให้ คำมั่นสัญญาไว้โดยไม่ต้องมีวัตถุพยาน ส่วนอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องมีวัตถุพยาน มักจะเป็นจำพวกหมาก พลู บุหรี่ ที่ห่อด้วยผ้า ขาว ทำนองเดียวกับหลักฐานที่ใช้เพื่อเป็นของมัดจำสัญญาเอาไว้ เมื่อสำเร็จ ตามประสงค์ก็ตัดให้ขาดออกจากกัน เป็นอันสิ้น สุดสัญญา ซึ่งจะมีอยู่หลายพิธี เช่น การตัดหมากคำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์หย่าร้างกัน บนปากโลงศพ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตลง เป็นต้น
แชร์ 3862 ผู้ชม