ลานวิ่ง

หน้าแรก ย้อนกลับ ลานวิ่ง

ลานวิ่ง

 

ลานวิ่ง

บุญเลิศ จันทระ1

 

ลักษณะและการใช้ประโยชน์

         ลานวิ่ง เป็นชื่อของเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง สามารถทำหรือผลิตขึ้นใช้ได้หลากหลายขนาด ขึ้นอยู่กับ      ลักษณะพื้นที่หรือสายน้ำที่จะนำไปดักหรือวาง ลานวิ่งมีองค์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ ขาลานวิ่งและผืนลานวิ่ง วัสดุที่ใช้ทำประกอบด้วยไม้ไผ่และย่านเชือก จะเป็นย่านลิเภา ย่านเต่าให้ ย่านย่านาง เป็นต้น เถาวัลย์ที่นำมาใช้ผ่านกรรมวิธีให้มีความเหนียวทนแตกต่างกันในแต่ละชนิด บ้างแช่น้ำแล้วขูดเอาเปลือกออก บ้างนำไปตากแดดให้หมาด ๆ แล้วนำไปใช้ เถาวัลย์จะถูกนำมากรองหรือสานไม้ไผ่ให้เป็นผืนทั้งขาลานวิ่งและลานวิ่ง ขนาดของผืนลานวิ่งพบส่วนใหญ่มีความกว้าง 1-2 เมตร ส่วนความยาว 2-3 เมตร การเหลาซี่ไม้ไผ่เพื่อทำลานวิ่งจะดูละเอียดประณีตมากกว่าการทำขาวิ่ง เพราะลานวิ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้ในปีถัดไป ส่วนซี่ไม้ไผ่ของขาลานวิ่งจะเหลาให้มีขนาดใหญ่กว่าลานวิ่ง เพราะเน้นความแข็งแรง นอกจากนั้นขนาดและความยาวของซี่ไม้ไผ่ยังขึ้นอยู่กับความลึกของสายน้ำหรือแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ซึ่งพบว่าขาวิ่งหรือเรียกว่ารั้วลานวิ่งมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร เพื่อปิดกั้นไม่ให้ปลาชนิดที่ตนเองต้องการกระโดดข้ามไปได้ ตำแหน่งของขาวิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ปากของขาวิ่ง ชาวบ้านจะลดให้ต่ำลง เพื่อเป็นช่องบังคับน้ำให้ไหลลงมาตามที่ต้องการ และเหนือผิวน้ำที่กำลังไหลลงมาจะถูกวางเสาไม้ปักยืนสี่เสาลักษณะเป็นร้านและปูราดด้วยผืนของลานวิ่งให้มีความลาดเอียงประมาณ 45 องศา รองรับปลาที่จะกระโดดขึ้นไปด้านบน ทั้งนี้ปากขาวิ่งจะเว้นไว้เพียงแค่ 1.70 เมตร เพื่อบังคับให้น้ำไหลลง และให้ปลาที่จะกระโดดขึ้นไปไม่หลุดออกนอกกรอบพื้นของลานวิ่ง            โดยชาวบ้านจะจับปลาในขณะกระเสือกกระสนอยู่บนลานวิ่งดังกล่าว

         การนำไปใช้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่เพียงมีความรู้เรื่องการทำอุปกรณ์ ต้องมีความรู้เรื่องการติดตั้ง และ    บริบทของการนำไปใช้งานหรือสภาพของธรรมชาติ ทั้งในด้านพื้นที่ของสายน้ำ และอุปนิสัยหรือพฤติกรรมของสัตว์น้ำที่ต้องการจับอีกด้วย เมื่อเครื่องมือพร้อม สัตว์น้ำพร้อม ดินฟ้าอากาศพร้อม ขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะไม่ครบองค์ประกอบแห่งความสำเร็จ เมื่อมาถึงตรงนี้คล้ายจะเกิดคำถามในลักษณะที่ว่า ระหว่างความรู้ที่ตกผลึกเกี่ยวกับระบบของธรรมชาติกับการผลิตลานวิ่งหรือตัวลานวิ่งอะไรจะเกิดก่อนกัน ซึ่งอาจตอบได้ว่า ความรู้ตกผลึกเกี่ยวกับระบบของธรรมชาติเกิดก่อน และเมื่อเกิดความรู้ข้างต้นขึ้น จึงผลิตเครื่องมือเพื่อรองรับความรู้ดังกล่าว ได้แก่ 1) ความรู้ความเข้าใจในระบบของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรู้เรื่องธรรมชาติของปลา ความรู้เรื่องระบบของน้ำ และความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล 2) ความรู้ในการสร้างเครื่องมือเพื่อรองรับธรรมชาตินั้น ซึ่งในที่นี้ ได้แก่ ลานวิ่ง

คุณค่าและความสำคัญ

         ลานวิ่ง คือ มหัศจรรย์แห่งระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์เรียนรู้จากการสังเกตธรรมชาติ ในที่นี้ คือ ในรอบปีหนึ่งสัตว์น้ำจะมีฤดูผสมพันธุ์ วางไข่ และขยายพันธุ์ ซึ่งปลาจะไข่ตกในช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เมื่อเกิดน้ำหลากในช่วงฤดูฝน แหล่งน้ำใหญ่น้อยจะรองรับน้ำจนเต็ม และเมื่อเต็มก็จะไหลบ่าไปยังที่ลุ่ม ทุกพื้นที่ลุ่มจะเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อสถานที่ใดเต็ม ก็จะเต็มไปยังที่ต่ำตามลำดับจนไปลงยังทะเล ปลาในทะเลหลายชนิดที่วางไข่ในน้ำจืดก็จะเคลื่อนตัวเองไปยังแหล่งน้ำจืดหรือน้ำใหม่ รวมถึงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ก็จะผสมพันธุ์กันแล้วมุ่งไปวางไข่ที่ต้นน้ำ ยิ่งต้นน้ำข้างบนมีขนาดใหญ่ ไม่เคยเหือดแห้งยิ่งกระตุ้นให้ปลาเหล่านั้นทำทุกวิถีทางไปให้ถึงแหล่งน้ำนั้นให้ได้ ปลาบางชนิดต้องรอน้ำไหลมา แต่ก็พบปลาหลายชนิดที่แค่ได้กลิ่นน้ำใหม่มันก็จะไถลตัวไปกับพื้นดินแห้ง ๆ เพื่อไปให้ถึงแหล่งน้ำใหม่นั้นให้จงได้ ความเข้าใจดังกล่าวก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาของสังคมที่ซับซ้อน สร้างผลึกปัญญาหยั่งเห็นกลายเป็นสำนวนไทยเกี่ยวกับช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เช่น ทำเหมือนปลาได้น้ำ กระดี่ได้น้ำ พี่เลี้ยงให้น้ำ บางสำนวนให้ความสำคัญที่ปลา บางสำนวนให้ความสำคัญที่น้ำ เป็นต้น เมื่อน้ำใหม่ เป็นเหตุให้สัตว์น้ำเคลื่อนย้ายไปยังต้นน้ำ บนฐานของสังคมไทยที่ถูกหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างมีพลวัต การสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องมือประมงจึงเกิดขึ้น โดยใช้หลักการพื้นฐานที่จะจับปลานำมาเป็นอาหาร อาจต้องย้ำจับปลาเพื่อนำมาเป็นอาหาร จึงเกิดลานวิ่งขึ้น ลานวิ่งที่ว่า คือ ลานสำหรับให้ปลาวิ่งขึ้นมาให้จับ จับปลาชนิดที่ตนต้องการ โดยเฉพาะปลานักล่าทั้งหลาย เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด กระสูบ เป็นต้น จึงวิ่งหรือจะกระโจนไปยังต้นน้ำเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ของมันสืบไป บนฐานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ปลาที่ได้ขนาด หรือปริมาณปลาที่ได้ตามที่ตนต้องการ จึงเป็นคำตอบของเครื่องมือประมงชนิดนี้ ปลายังคงกระโจนหาน้ำใหม่ต่อไป แต่ผู้คนค่อย ๆ หายไปจากวิถีดังกล่าว วิถีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างปลากับคนบนจุดสมดุลทางธรรมชาติ

ศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์

          จากหลักธรรมชาติของน้ำ ธรรมชาติของปลา และความต้องการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์หรือ    ชาวภาคใต้สั่งสมความรู้ผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นผลึกภูมิปัญญาสร้างนวัตกรรมเพื่อการจับปลา จนมีผลสำคัญต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำในอดีต นวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ทำลายล้าง ใช้อย่างพอดีพอประมาณตามหลักปรัชญาชีวิตที่มีอิทธิพลทางศาสนากำกับ ตอบโจทย์ความยั่งยืน ลานวิ่ง หากนำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ สามารถออกแบบเป็นรูปอัฒจันทร์ในสนามการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถนำไปสู่การออกแบบเพื่อการสร้างบันไดปลาโจนเพื่อแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่กล่าวเช่นนี้จากปัญหาในปัจจุบันที่พบว่า ประเทศไทยเมื่อต้องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำก็มักจะแก้แต่เรื่องน้ำอย่างเดียว ไม่ค่อยให้ความสนใจกับสัตว์น้ำ ด้วยเหตุที่ในอดีตเรามักเข้าใจและมีข้อสรุปตรงกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว วันนี้จากการมุ่งพัฒนาประเทศมาเกินครึ่งศตวรรษ พบว่าในน้ำอาจไม่มีปลาอีกแล้ว การไม่มีปลาดังกล่าวจึงเรียกร้องให้มนุษย์เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริม อนุรักษ์ให้พันธุ์สัตว์น้ำได้ฟื้นตัว และกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ไม่เพียงแค่การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ไปตามแหล่งน้ำ แต่อาจต้องเสริมสร้างกลไกให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้ขยายพันธุ์ โดยอาศัยประสบการณ์ความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทย ลานวิ่งจึงเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปสู่การสร้างแหล่งน้ำ รวมถึงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน เป็นต้น จึงอาจเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำได้อีกช่องทางหนึ่งในสังคมปัจจุบัน

 

 1นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

แชร์ 2125 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้