ผ้าปาเต๊ะ

หน้าแรก ย้อนกลับ ผ้าปาเต๊ะ

ผ้าปาเต๊ะ

ผ้าปาเต๊ะ

          คำว่า "ปาเต๊ะ" (Batik)  เป็นภาษาชวา ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปะทางด้านฝีมือและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการทำผ้าปาเต๊ะใช้กันมาประมาณ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว  แหล่งกำเนิดไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะหลักฐานที่พบไม่ได้เจอแต่ในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังพบในญี่ปุ่นและแอฟริกาด้วย

          ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ผู้หญิงในตระกูลชนชั้นสูงของชวาเป็นผู้ริเริ่มทำผ้าปาเต๊ะขึ้นใช้ มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามหลายแบบ ต่อจากนั้นชาวดัตช์ก็นำผ้าปาเต๊ะจากชวาไปแพร่หลายยังทวีปยุโรปอีกทีหนึ่ง และยังได้รับความนิยมสูงในอเมริกาอีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะผ้าปาเต๊ะมีความใหม่ มีอิสระเป็นตัวของตัวเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนศิลปะอย่างอื่น

          การทำผ้าปาเต๊ะเป็นศิลปหัตถกรรมที่น่าสนใจ หลักการทำผ้าปาเต๊ะอาศัยเทคนิคง่าย ๆ คือ "การเว้นสีด้วยเทียน" โดยการเขียนหรือพิมพ์เป็นลวดลายต่างๆ ลงบนผืนผ้าในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีย้อม  เมื่อนำไปย้อมสีสีก็จะติดเฉพาะส่วนที่ไม่ลงเทียนไว้และจะติดซึมไปตามรอยแยกของเทียนเกิดเป็นลวดลายสวยงามแปลกตาอันเป็นสัญลักษณ์ของผ้าปาเต๊ะ

          เครื่องมือที่สำคัญในการทำผ้าปาเต๊ะ ได้แก่ เตาสำหรับต้มขี้ผึ้ง หม้อสำหรับต้มขี้ผึ้ง อ่างพลาสติกสำหรับใส่สีย้อมผ้าอย่างน้อย ๒ ใบ ถุงมือยางสำหรับสวมเวลาย้อมสี เฟรมหรือไม้กรอบสำหรับขึงผ้าเวลาเขียนขี้ผึ้ง แปรง และพู่กันจันติง (Tjanting) ที่เขียนขี้ผึ้ง พู่กันปลายทองเหลืองสำหรับเขียนผ้าปาเต๊ะโดยเฉพาะ และเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิของขี้ผึ้งเวลาต้ม

          ส่วนวัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ผ้า เทียน เฟรม และสี ผ้านั้นควรเป็นผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าป่าน หรือผ้าไหมก็ได้แต่ต้องมีเนื้อเหนียวแน่นเนียน มีคุณสมบัติในการดูดซึมได้ดีที่สุด ผ้าที่มีใยสังเคราะห์ไม่เหมาะจะทำผ้าปาเต๊ะ ผ้าที่นำมาย้อมควรเป็นผ้าสีขาว เพราะดูดสีได้ดีกว่าผ้าสี  เทียนหรือขี้ผึ้งต้องเป็นพวก Bee Wax ผสมพาราฟินในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๘ หรือ ๑ ต่อ ๗ ส่วนสีที่ใช้ควรเป็นพวกสีเวต (Vat) หรือโปรชั่น (Procion)

กระบวนการในการทำผ้าปาเต๊ะมี ๔ ขั้นตอน คือ
          ๑. ขั้นการออกแบบลาย
          ๒. ขั้นการเขียนขี้ผึ้ง
          ๓. ขั้นการย้อมสี
          ๔. ขั้นการเอาขี้ผึ้งออก

          ปัจจุบัน การทำผ้าปาเต๊ะนิยมใช้วิธีพิมพ์ลายผ้ามากกว่าวิธีเขียนลายด้วยมือ เพราะเร็วและสะดวกกว่า วิธีการก็คือนำผ้า Poblem วางบนแท่นพิมพ์ซึ่งทำเป็นโต๊ะสูงประมาณ ๓ ฟุต และกว้างตามความเหมาะสม โดยพื้นบนของโต๊ะปูด้วยกาบกล้วย เพื่อทำให้เกิดความเย็นในขณะที่ใช้แม่พิมพ์ พิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้านั้น ๆ จุ่มลงในขี้ผึ้งหรือไขที่อุ่นเอาไว้พิมพ์ลงบนผ้าสีขาว สำหรับแม่พิมพ์ชุดแรกนี้จะต้องใช้ฝีมือมากเพราะจะเป็นลวดลายหลักของผ้าปาเต๊ะฝืนนั้นๆ ซึ่งลวดลายที่พิมพ์ครั้งแรกนี้ เมื่อย้อมเสร็จทั้งฝืนแล้วจะเป็นสีขาว เพราะการพิมพ์แต่ละครั้งจะทำให้ขี้ผึ้งหรือไขที่พิมพ์ลงนั้นรักษาสีของลายผ้าที่พิมพ์ครั้งนั้น ๆ ให้คงอยู่ เมื่อพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ชุดแรกเสร็จแล้วก็จะต้องนำผ้านั้นไปย้อมและผึ่งให้แห้ง เสร็จแล้วก็นำผ้านั้น ๆ มาพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ชุดที่ ๒ เสร็จแล้วนำไปย้อมสีอื่นที่ต้องการและผึ่งให้แห้งอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบตามจำนวนแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ ซึ่งโดยปกติแบบหนึ่ง ๆ จะมีแม่พิมพ์ ๓-๔ ชุด แล้วแต่ผู้ออกแบบจะออกแบบลวดลายนั้น ๆ ทั้งนี้ หากต้องการลวดลายของผ้าปาเต๊ะที่มีสีหลายสีก็จะต้องมีแม่พิมพ์เพื่อใช้พิมพ์ให้ครบตามจำนวนสีของแบบนั้น ๆ  การย้อมสีแต่ละครั้งจะต้องใช้สีแต่ละสีเพื่อให้เกิดลวดลายสลับสีตามแบบที่ช่างได้ออกแบบไว้ ซึ่งจะต้องใช้สีที่ซักแล้วไม่ตก

          สำหรับประเทศไทยเรา แหล่งผลิตผ้าปาเต๊ะที่สำคัญที่สุดในภาคใต้คือ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รองลงมาคือที่จังหวัดภูเก็ตและอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และมีการทำผ้าโสร่งปาเต๊ะ  ที่บริเวณจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยวิธีการพิมพ์ลวดลายด้วยเทียนลงบนผ้าเป็นอุตสาหกรรมกันมานานแล้ว ทั้งนี้ผู้คนทั้งชายและหญิงใช้ผ้าปาเต๊ะกันโดยทั่วไป สำหรับผู้หญิงใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อกระโปรง ส่วนผู้ชายนั้นนิยมตัดเป็นเสื้อแขนสั้นหรือยาว

 

เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ผ้าปาเต๊ะ” (หน้า 4731-4736)  ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 10. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์กรุงเทพฯ.
 

แชร์ 2222 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้