กระจูด

หน้าแรก ย้อนกลับ กระจูด

กระจูด

ที่มา: https://pixabay.com/th/  

 

หัตถกรรมพื้นบ้าน : กระจูด

วรรณพิชชา โตะสัน

     จักสานกระจูด ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้ ภูมิปัญญานี้สืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น กระจูด หรือ จูด เป็นพืชที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นตัวสูง มีความมันวาว ทนทาน ไม่ขาดง่าย แตกต่างจากพืชอื่นๆ เมื่อนำมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติที่โดดเด่น มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน พร้อมด้วยมีรูปลักษณ์ที่สวยสะดุดตา ยิ่งหากนำเส้นกระจูดมาย้อมสีจะยิ่งทำให้เพิ่มมิติของกระจูดให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น

     กระจูด เป็นพันธุ์ไม้จำพวก กก ลักษณะลำต้นกลม สีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1 - 2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่น กระจูดมักขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่า โพระ หรือ ป่าพรุ มีถิ่นกำเนิดมาจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกาสุมาตรา แหลมมลายู หมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู แหลมอินโดจีนตอนริมฝั่งทะเลฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดจนถึงทวีปออสเตรเลียริมฝั่งตะวันออก กระจูดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ควรเป็นต้นที่มีอายุประมาณ 3 ปี ลำต้นยาวไม่ตำกว่า 1 เมตร จึงจะเหมาะกับการนำไปใช้งาน ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลักษณะเล็ก สั้น และมีความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่

 

แหล่งวัสดุและแหล่งผลิตกระจูด

     แหล่งวัสดุที่สำคัญในภาคใต้ อยู่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณทะเลน้อย บริเวณพรุควน-เคร็ง ในเขตจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช และริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย คือ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนราธิวาส แหล่งกระจูดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและที่นำมาปลูกทำเป็นนากระจูดรวมพื้นที่อันเป็นแหล่งกระฉูดทุกเขตมีไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ แหล่งผลิตส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณพื้นที่เดียวกันกับแหล่งวัสดุ จะมีบางหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียวไม่มีแหล่งวัสดุ รับวัสดุมาจากหมู่บ้านอื่น หมู่บ้านที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่

  1. หมู่บ้านทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

  2. หมู่บ้านควนยาว ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช 

  3. หมู่บ้านบ่อกรัง ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพินจังหวัดสุราษฏร์ธานี

  4. หมู่บ้านสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

  5. หมู่บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

 

วัสดุ อุปกรณ์ในการสานกระจูด

กรรมวิธีในการสานกระจูด ประกอบด้วย วัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องมือ และส่วนประกอบเป็นสำคัญ ดังนี้

  1. วัตถุดิบ คือ ต้นกระจูดขนาดต่าง ๆ

  2. อุปกรณ์เครื่องมือ ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมวัสดุก่อนสาน ประกอบด้วย ที่สำหรับคัดความยาวของกระจูด  สำหรับผึ่งหรือตากกระจูด คือลานบ้านหรือที่โล่งเตียน แท่งไม้ที่ใช้เป็นที่รองทิ่มหรือทุบกระจูดสากปลายตัดสำหรับทิ่มหรือทุบกระจูดลูกกลิ้งทรงกระบอกใช้กลิ้งทับกระจูดภาชนะสำหรับการย้อมสีต้นกระจูด เตาไฟสำหรับต้มเมื่อย้อมสี กรรไกรหรือมีดตัดหนวดเสื่อใช้เมื่อสานเสร็จ และจักรเย็บผ้า ใช้เย็บรอยต่อของผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อพับ กระเป๋าแบบต่าง ๆ 

  3. ส่วนประกอบ มีน้ำโคลนดินสอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดินทรายน่ำ” ใช่คลุกกระจูดก่อนตากแห้ง ช่วยให้กระจูดแข็งตัว ไม่แห้งกรอบ เหี่ยว บิด จนใช้การไม่ได้ และสีสำหรับย้อมสิ่งของต่าง ๆ

 

ขั้นตอนการผลิตกระจูด

  1. การเตรียมกระจูด เริ่มตั้งแต่คัดเลือกหรือแยกกระจูดตามความยาว จนถึงทำให้กระจูดแบนเพื่อที่จะนำมาสาน ซึ่งแต่ละท้องที่มีขั้นตอนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นำกระจูดที่คัดเลือกแล้วคลุกน้ำโคลนดินสอในรางน้ำที่เตรียมไว้ เมื่อได้ที่แล้วนำมาตากให้แห้งประมาณ 2 -3 วัน แล้วเก็บเข้าที่ทิ้งไว้ 4 -5 วัน เพื่อให้กระจูดคลายตัว เมื่อจะใช้ก็นำไปตากน้ำค้าง 1 คืน จากนั้นนำไปทิ่มหรือทุบทีละมัด จนกระจูดแบนตามต้องการจากนั้นก็แก้มัดออก ปอกกาบโคนของลำต้นทิ้ง แล้วเก็บเข้าที่เพื่อไว้สานต่อไป 

       ในกรณีที่ต้องการย้อมสี นำกระจูดที่ทิ่มและตากน้ำค้างแล้วมาทับด้วยลูกกลิ้งจนแบนตามที่ ต้องการ แล้วนำไปแช่น้ำไว้ ต้มน้ำให้เดือด เอาสีใส่ลงไปในน้ำแล้วคนให้ละลายดี นำกระจูดที่จะย้อม มาพับ จุ่มลงไปในน้ำแช่ไว้ประมาณ 2 - 3 นาที หลังจากนั้นนำไปผึ่งแดดประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง แล้ว นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม 

  1. การสาน นำต้นกระจูดที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วมาสานเป็นลายต่าง ๆ โดยปกติจะสานด้วยลายสอง ถ้าสานเป็นเสื่อจะเริ่มต้นจากริม แต่ถ้าเป็นภาชนะจะเริ่มต้นจากกึ่งกลางของตอก เมื่อสานต้องให้ปลายต้นกับโคนต้นสลับกัน มิฉะนั้นจะทำให้เสียรูปได้ วิธีสานจะแตกต่างกันตามรูปแบบ ชนิดของผลิตภัณฑ์ และความถนัดของผู้สานโดยเฉพาะเสื่อ หมู่บ้านทะเลน้อยมีสานเป็นลายต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ลาย เช่น ลายสอง ลายสาม ลายสี่ ลายดอกจันทน์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน ลายพัดลายจันทน์แขก ลายดอกพิกุล ลายก้างปลา ลายพม่ารำขวาน ลายขนมปัง ลายดอกไม้ ลายตีนสุนัข ลายยายชิงเมือง ลายใยแมงมุม ลายสี่หน่วยใน ลายลูกแก้ว ลายกระดานหมาก และลายประดิษฐ์   อื่น ๆ เช่น ลายตัวหนังสือ ลายที่นิยมสารกันมากที่สุด คือ ลายสอง นอกจากสานเป็นเสื่อแล้วยังสานเป็นภาชนะและเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกด้วย

  2. การตกแต่ง มีเพียงการเก็บริมหรือพับริม และการตัดหนวดปลายที่เหลือออก

  3. การเก็บรักษา เมื่อสานเสร็จเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกน้ำฝน เพราะหากถูกน้ำฝนจะทำให้เกิดเชื้อราและเสียหายเร็ว วิธีเก็บมี 2 แบบ คือ ม้วนเก็บและซ้อนเก็บ

 

คุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม

     หัตถกรรมการสานกระจูดในภาคใต้นอกจากจะให้คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอยในลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทและชนิดของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังให้คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนและประเทศอีกด้วย กระจูดสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากมาย ในแต่ละชุมชนจึงผลักดันหัตถกรรมการสานกระจูดให้กลายเป็นรายได้หลักเพื่อหาเลี้ยงชีพคนในครอบครัว จากหนึ่งครัวเรือนสู่ชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ สร้างผลิตภัณฑ์การสานกระจูดให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการกระจายอาชีพสู่ชุมชนอื่น ๆ การสานกระจูดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ที่สร้างสรรค์ สะท้อนเอกลักษณ์และทักษะฝีมือเชิงช่างด้วยองค์ความรู้และความละเอียด ประณีต ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานได้รู้จัก และพัฒนางานหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

 

มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. (2542). กระจูด : หัตถกรรมพื้นบ้าน ใน สารานุกรม วัฒนธรรมไทยภาคใต้                   (เล่มที่ 10 , น.34 - 36). ธนาคารไทยพานิชย์.                                                                                                                        ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). งานศิลปหัตถกรรมจักสานกระจูด.                                                          https://shorturl.asia/dXnRe

แชร์ 3038 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้