หน้าแรก ย้อนกลับ น้ำหม้อ : วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์
น้ำหม้อ : วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์1
ในการหุงข้าว ไม่ว่าจะเป็นการหุงข้าวสวยหรือข้าวต้มหลังจากล้างข้าวสาร (ซาวข้าว) เรียบร้อยแล้ว ผู้หุงจะต้องใส่น้ำในหม้อข้าวให้เหนือระดับข้าวสารในหม้อพอเหมาะกับลักษณะการหุงแต่ละวิธี คือ ถ้าหุงข้าวสวย โดยวิธีไม่เช็ดน้ำก็ใส่น้ำให้เหนือระดับข้าวสารเพียงเล็กน้อย ประมาณ 1 ข้อนิ้วชี้หรือมากกว่านั้นไม่มากนัก ถ้าหุงข้าวโดยวิธีเช็ดน้ำ ซึ่งชาวภาคใต้นิยมเรียกว่า “หุงข้าวรินน้ำ” ก็ใส่น้ำให้เหนือระดับข้าวสารในหม้อมากกว่าการหุงโดยวิธีไม่เช็ดน้ำ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมากเกินไปจนเกือบถึงปากหม้อ และถ้าหุงข้าวต้มก็จะต้องใส่น้ำให้เหนือระดับข้าวสารในหม้อมากกว่าการหุงข้าวทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมาแล้ว คือ ใส่น้ำเกือบถึงขอบหม้อ หลังจากนั้นจึงยกหม้อข้าวขึ้นตั้งไฟ ในช่วงที่กล่าวมาแล้วนี้ยังไม่เรียกน้ำที่ใช้ในการหุงข้าวว่า “น้ำหม้อ” จนกระทั่งหม้อข้าวเดือด เมล็ดข้าวสารเริ่มพองตัวน้ำที่ใช้ในการหุงข้าวก็จะละลายเอาส่วนผิวของเมล็ดข้าวออกมาทำให้น้ำมีลักษณะสีขาวขุ่นข้น ตอนนี้เองที่เรียกกันว่า “น้ำหม้อ” หรือที่บางคนเรียกว่า “น้ำข้าว” หลังจากนั้นก็หุงตามวิธีของการหุงข้าวแต่ละแบบ
จะเห็นได้ว่า “น้ำหม้อ” หรือ “น้ำข้าว” มิได้มีขึ้นเฉพาะในการหุงข้าวโดยวิธีเช็ดน้ำเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากการหุงข้าวทุกวิธีดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ว่าในการหุงข้าวสวยโดยวิธีไม่เช็ดน้ำนั้น ตอนหุงใส่น้ำลงไปน้อย เมื่อหม้อข้าวเมล็ดเดือด ข้าวยิ่งพองตัวและน้ำบางส่วนก็ระเหยไป ทำให้การหุงข้าวโดยวิธีนี้มีน้ำหม้อน้อยมากและมีอยู่ในช่วงเวลาสั้นเท่านั้น เมื่อข้าวสุกน้ำหม้อก็จะเหือดแห้งไปเอง ในการหุงข้าวโดยวิธีนี้ผู้หุงบางคนไม่ได้เปิดฝาหม้อเลยในขณะที่หม้อข้าวเดือดจึงไม่ได้เห็นน้ำหม้อ อาจมีผู้หุงข้าวบางคนที่เปิดฝาหม้อเพื่อกวนข้าว (บางทีเรียกกันว่า “กวนหม้อ”) ในขณะที่หม้อข้าวเดือด แต่ก็มักจะกวนอยู่เพียงประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ปิดฝาหม้อไว้เช่นเดิมจนข้าวสุก ทำให้เห็นน้ำหม้อได้บ้างแต่ก็ในช่วงเวลาสั้นมาก ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อเอ่ยถึง “น้ำหม้อ” ทำให้หลายคนไม่นึกถึงน้ำหม้อในการหุงข้าวโดยวิธีไม่เช็ดน้ำ ถึงกับลืมนึกไปว่ามีน้ำหม้อในการหุงข้าวโดยวิธีนี้ด้วยก็มี ส่วนในการหุงข้าวต้มนั้นแม้จะมีน้ำหม้ออยู่มาก เนื่องจากใส่น้ำลงไปมากในขณะหุง และเมื่อหุงเสร็จแล้วจะยังคงมีน้ำหม้ออยู่มากก็ตาม แต่น้ำหม้อในการหุงข้าวต้มก็เป็นส่วนที่ต้องรวมกับเมล็ดข้าวแล้วจึงเป็น “ข้าวต้ม” ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นน้ำหม้อคนละประเภทกับน้ำหม้อของการหุงข้าวโดยวิธีเช็ดน้ำ ซึ่งต้องรินน้ำหม้อออก และเป็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ส่วนน้ำของข้าวต้มดังกล่าวแล้วคนทั่วไปมักเรียกกันว่า “น้ำข้าว” มากกว่าที่จะเรียกว่า “น้ำหม้อ” ทำให้หลายคนไม่ค่อยจะได้นึกถึงน้ำหม้อของการหุงข้าวต้มเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง น้ำหม้อ คนมักจะนึกถึงน้ำหม้อที่เกิดจากการหุงข้าวโดยวิธีเช็ดน้ำเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าในการหุงข้าวโดยวิธีนี้มีน้ำหม้อมากใกล้เคียงกับในการหุงข้าวต้ม และผู้หุงต้องมีขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำหม้อในขณะที่หุงอย่างเด่นชัดกว่าการหุงข้าวแบบอื่น โดยเฉพาะการที่ต้องคอยกวนหม้อและรินน้ำหม้อทิ้ง ทำให้ “น้ำหม้อ” ของการหุงข้าวโดยวิธีนี้เป็นที่ปรากฏชัดและติดอยู่ในความคิดคำนึงมากกว่าการหุงข้าววิธีอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นการกล่าวถึง วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากน้ำหม้อในที่นี้ จึงหมายถึงเฉพาะน้ำหม้อจากการหุงข้าวโดยวิธีเช็ดน้ำเท่านั้น ซึ่งวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากน้ำหม้อของชาวภาคใต้ที่สำคัญ มีดังนี้
1. ใช้เลี้ยงทารก ในสมัยก่อนชาวใต้ส่วนหนึ่งนิยมใช้น้ำหม้อเลี้ยงทารกเป็นประจำต่างนมมารดา นมกระป๋อง หรือนมผง และบางคนก็ใช้เป็นครั้งคราวแล้วแต่ความเหมาะสม เพราะน้ำหม้อนอกจากมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากแล้วยังสามารถหาได้ง่ายจากการหุงข้าวในครัวเรือนตน ไม่ต้องซื้อหา โดยการเอาขันหรือภาชนะอื่นใดรองรับน้ำหม้อที่เพิ่งรินออกจากหม้อ ซึ่งเป็นน้ำหม้อที่ไม่ข้นจนเกินไป ใส่น้ำตาลลงไปเล็กน้อยพอให้มีรสหวาน และผสมเกลือลงไปเล็กน้อย หรือบางคนอาจใช้เฉพาะน้ำหม้อ ไม่ต้องผสมน้ำตาลลงไปก็ได้ แล้วเอาน้ำหม้อนั้นกรอกใส่ขวดนมเด็กแล้วปิดปากขวดหัวนมหลอนเช่นเดียวกับการใช้นมเลี้ยงทารก
2. ใช้เป็นน้ำละลายยาเม็ดหรือยาผงทั่วไป ชาวใต้บางคนนิยมใช้น้ำหม้อแทนน้ำสะอาดธรรมดาในการละลาย ยาผงหรือยาเม็ด เพราะน้ำหม้อจะช่วยเสริมภูมิต้านทานโรค
3. ใช้ดื่มชูกำลัง นิยมใช้กันทั่วไปในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แต่ที่นิยมกันมาก ได้แก่ คนทำงานหนัก หญิงมีครรภ์ คนชรา และผู้เจ็บป่วย บางคนแม้จะอยู่ในภาวะปรกติก็นิยมดื่มน้ำหม้อเป็นประจำก็มี
4. ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากการรู้คุณประโยชน์ของน้ำหม้อดังกล่าวแล้ว และน้ำหม้อที่ได้จากการหุงข้าว ในชีวิตประจำวันเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นนอกจากเอาน้ำหม้อมาใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์โดยตรงแล้ว ชาวใต้ยังรู้จักเอาน้ำหม้อไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ที่นิยมกันมากมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือการใช้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะในการเลี้ยงหมูเป็นงานอดิเรกเพียงครอบครัวละไม่กี่ตัว
1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “น้ำหม้อ” (หน้า 3782-3783). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 8. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 3006 ผู้ชม