ผ้าทอเกาะยอ
วรรณพิชชา โตะสัน
เกาะยอ เกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ท่ามกลางทะเลสาบสงขลา ขึ้นชื่อด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน นั่นก็คือ “ผ้าทอเกาะยอ” ประวัติการทอผ้าของที่กลุ่มทอผ้าแต่ละกลุ่มรวบรวมข้อมูลไว้ทั้งจากบันทึก คำบอกเล่า และเพลงกล่อมเด็ก กล่าวว่า ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าชาวเกาะยอรู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยใด แต่มีการเล่าขานประวัติผ้าทอกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่ามีการทอผ้าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ผ้าเกาะยอในสมัยแรก ๆ เป็นผ้าลายขัดธรรมดาพื้นเรียบ ๆ ทอด้วยกี่มือโครงเตี้ยที่ทำจากไม้ไผ่ ใช้ “ตรน” แทนลูกกระสวย ใช้ฟืมที่ทำจากไม้คลุ้ม ใช้เส้นใยธรรมชาติและใยต้นปอที่ปลูกกันเอง ย้อมสีธรรมชาติ
ในปี พ.ศ. 2310 จึงเริ่มมีการทอยกดอก เป็นลายบ้างและยังคงใช้กี่มือ ใช้ลูกกลิ้งในการโยงตะกอกับเท้าเหยียบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคันโยกโยงตะกอกับเท้าเหยียบ ในยุคหลัง ๆ จึงได้พัฒนาการทอเป็นลวดลาย ยกดอกแบบ 2 ตะกอ 3 ตะกอ 4 ตะกอไปจนถึง 12 ตะกอ การพัฒนาลวดลายผ้าทอแต่ละยุคจะแตกต่างกันไป ปัจจุบันบางลวดลายก็ไม่ผลิตแล้ว เช่น ลายดอกจาก 3 ตะกอ 5 ตะกอ 10 ตะกอ และ 12 ตะกอ
ในปี พ.ศ. 2482 มีการสนับสนุนการทอผ้าของเกาะยอ ทางกรมการเมืองสงขลาได้เชิญครูจีนชาว เซี่ยงไฮ้ 2 คนที่หนีสงครามมาอยู่แถวเยาวราช ให้มาสอนทอผ้า ซึ่งชาวเกาะยอนับถือทั้ง 2 ท่าน เป็นครูทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน ชื่อนายยี่หลุ่น กับ นายพุดดิ้น แซ่หลิว สอนทอผ้าแบบกี่กระตุก ซึ่งทอได้เร็วกว่ากี่มือเป็น อันมาก ครูยี่หลุ่นเก่งเรื่องลายผ้า ส่วนครูพุดดิ้นเก่งเรื่องการสร้างกี่ แรกเริ่มครูจีนได้นำกี่ทอผ้ามาเพื่อใช้ในการสอน จำนวน 5 ตัว โดยตั้งเรือนที่วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ เจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ พระอธิการเผ่า (บางข้อมูลเรียก พระอธิการเภา) ตสิสะโร มีชาวบ้านไปเรียนทอผ้าด้วยจำนวน 18 คน หลังจากนั้นการทอผ้าของเกาะยอจึงปรับเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุกจนถึงปัจจุบัน ในจำนวนลูกศิษย์ทั้งหมดของครูจีน มีคนหนึ่งเป็นชาวบ้านสวนทุเรียน สามารถทอผ้าได้เก่งมาก คือ นายยี่ แสงอรุณ ท่านเรียนจบและได้พัฒนาลายผ้าขึ้นอย่างหลากหลายและสอนการทอลายผ้าดังกล่าวให้กับชาวเกาะยอด้วยลูกศิษย์นายยี่ที่สำคัญ ๆ เช่น นายกริ้ม สินธุรัตน์ (ได้รับการยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน พ.ศ.2560) นางเผือน และนางขิ้ม แซ่ลิ่ม และชาวเกาะยออีกจำนวนมาก
ขั้นตอนการทอ
การกรอด้ายพุ่งเพื่อนำไปใช้กับกระสวย เริ่มจากการที่ช่างทอกรอด้ายเข้าหลอด นำด้ายเป็นหลอด เข้ากระสวยแล้วนำกระสวยแต่ละสีไปใส่ในรางด้ายพุ่งพร้อมสำหรับการทอ
การค้นด้ายเพื่อนำไปเข้าฟืมหรือสอดฟันหวีให้หันด้ายทอผ้าเข้าหลอดด้ายค้นหูกหรือเดินด้ายจาก ลูกค้น แล้วนำเส้นด้ายที่ได้จากการค้นหูกไปสอดฟืม
การม้วนด้ายเข้าระหัดเพื่อนำไปเข้ากี่ทอผ้า เริ่มจากการหนีบด้ายเพื่อดึงให้ตึงม้วนด้ายเข้าระหัด จัดด้ายให้เป็นระเบียบด้วยฟืม แล้วยกระหัดวางในกี่ทอผ้า
การเข้ากี่ เก็บลาย และเตรียมกี่เพื่อทอลาย เริ่มจากการคลี่ด้ายผูกไว้กับไม้รับผ้า พลิกหูกและสอดไม้เข้าไปเก็บลายเส้นด้ายหลังจากนั้นจึงเก็บตะกอหรือก่อตะกอตามลายที่เก็บไว้ผูกโยงตะกอผูกโยงลูกกลิ้งหรือคันโยก ผูกคานเหยียบ และสุดท้ายจะได้กี่กระตุกที่พร้อมสำหรับการทอ
ขั้นการทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยมีคานเหยียบอยู่ข้างล่าง (ให้ใช้เท้าเหยียบ) สับตะกอให้ด้ายยืนแยกออกจากกัน เพื่อเป็นการเปิดช่องว่างให้กระสวยพุ่งผ่านไปได้ ใช้มือพุ่งกระสวยด้ายให้สอดไปตามระหว่างด้ายโดยมีช่องสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้ ปล่อยเท้าที่เหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้ด้ายพุ่งรวมกัน ดึงฟืมให้กระแทกกับเนื้อผ้า ฟืมจะพาด้ายพุ่งให้เข้ามาชิดกันเป็นระเบียบ และเหยียบที่บังคับตะกออีกครั้งหนึ่ง
โดยระยะเวลาการทอผ้าอยู่ที่ประมาณ 2-3 หลา/วัน ต่อช่างทอผ้า 1 คน
ภูมิปัญญาด้านลวดลายผ้า
ภูมิปัญญาที่สำคัญยิ่งของการทอผ้าเกาะยอ คือ ลวดลายผ้าที่เกิดจากการเก็บลายเหยียบตะกอแยกเส้นยืนขึ้น-ลง เป็นจังหวะตามที่เก็บตะกอไว้ เมื่อสอดเส้นพุ่งจะทำให้ เกิดลวดลายนูนยกขึ้นในเนื้อผ้า หรือที่เรียกกันว่า ยกดอก แต่เดิมใช้ลูกกลิ้งเป็นตัวยกตะกอต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตัวคันโยกโยงตะกอไว้กับเท้าเหยียบแทนวิธีการนี้ทำให้สามารถสร้างลวดลายได้มากขึ้น
ลวดลายผ้าทอเกาะยอที่มีชื่อเสียง
ลายราชวัตร เป็นลายที่มีชื่อเสียงและเป็นลายผ้าประจำจังหวัดสงขลา ที่มาของชื่อลายนี้พบว่ามี 2 ทาง ข้อมูลหนึ่งบอกว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นผู้พระราชทานชื่อให้ อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ในปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมาแหลมมลายูครั้งที่ 2 พระองค์ได้เสด็จมาเยือนเกาะยอ นางก่ำ ภัทรชนม์ ได้นำผ้าลายดอกเล็ก ๆ ที่ทอขึ้นเองมาถวาย ตอนนั้นเรียกชื่อกันว่า “ลายก้านแย่ง” หรือ “ลายคอนกเขา” เนื่องจากมีลักษณะคล้าย ๆ คอนกเขาชวา
ลวดลายผ้าทอเกาะยอ
ลวดลายของผ้าทอเกาะยอมีมากกว่า 100 ลาย ในปัจจุบันลวดลายที่ทอเป็นหลัก ได้แก่ ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว ลายจันทร์หอม ลวดลายใหม่ ๆ ได้แก่ ลายสุพรรณิการ์ ลายดอกขจร ลายแสงสุริยา ฯลฯ
นอกจากการทอผ้าทอเกาะยอแล้วนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากผ้าทอเกาะยออีกด้วย เช่น ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า หมวก สมุดไดอารี่ และพวงกุญแจ
ยมนา สินธุรัตน์ (สัมภาษณ์, 26 มกราคม 2566)
แชร์ 2930 ผู้ชม