เรือกอและ

หน้าแรก ย้อนกลับ เรือกอและ

เรือกอและ

 

เรือกอและ

วรรณพิชชา โตะสัน

 

  เรือกอและ เป็นเรือประมงที่ใช้แถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างรวมทั้งรัฐกลันตันและตรังกานูของประเทสหพันธรัฐมาเลเซีย ลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดาน โดยทำให้ส่วนหัวและส่วนท้ายสูงขึ้นจากลำเรือเพื่อให้ดูสวยงาม และนิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซียซึ่งนำมประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ จากข้อมูลน่าจะสันนิษฐานได้ว่า เรือกอและเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ดังนี้

 1.การเข้ามาของมุสลิมในประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัย(พ.ศ.1800-1921) มุสลิมอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชตลอดจนถึงมะละกาและมีหลักฐานที่แสดงว่าในสมัยสุโขทัยนั้นประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย อาหรับ นอกจากนี้ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2133-2148) ชาวเปอร์เซียมักได้รับตำแหน่งเสนาบดีทางการคลังและการท่าเรือ และสืบต่อมาจนสมัยอยุธยาและธนบุรี

2.มุสลิมในภาคใต้มีความชำนาญในการใช้เรือคนไทยภาคใต้รู้จักการใช้เรืออย่างชำนาญมากกว่าคนไทยในภากลาง เหตุผลหนึ่งที่สำคัญ คือ การอยู่ติดลำน้ำและฝั่งทะเล และหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขุนนางเชื้อสายอาหรับมุสลิมมีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในด้านกิจการค้าทางทะเล รับราชการตำแหน่งเจ้ากรมท่าสังกัดกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นตำแหน่งที่สืบทอดแบบประเพณี จึงสันนิษฐานได้ว่าชาวมุสลิมในภาคใต้คุ้นเคยและชำนาญในการใช้เรือมาตั้งแต่สมัยโบราณ และสืบทอดความชำนาญทางด้านการเดินเรือและการประมงให้แก่ลูกหลาน

3.ปรากฏเรื่องราวของเรือกอและในสมัยสุโขทัย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สรุปและสันนิษฐานได้ว่า ชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้มีความชำนาญพิเศษในการออกทะเล ดังนั้นกลุ่มชนนี้จึงยึดอาชีพการประมง และเนื่องจากมีทุนทรัพย์น้อย จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องมือในการออกทะเลเพื่อทำการประมงทำให้มี “เรือกอและ” เกิดขึ้น 

        ในประเทศไทยสามารถพบเรือกอและได้ทางภาคใต้ โดยชาวประมงใช้เรือกอและเป็นยานพาหนะเพื่อออกไปจับปลา เป็นวิถีชาวประมงที่มีเอกลักษณ์ มีความเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาผ่านลวดลายของเรืออย่างงดงาม “เรือกอและ” จึงเปรียบดั่งศิลปกรรมและหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า ถือเป็นสิ่งที่มีความสําคัญและอยู่คู่กับชาวประมงภาคใต้ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับแข่งขันโดยใช้ฝีพายหรือใช้ใบก็ได้

คุณลุงรอฮะ หวังพา กล่าวว่า “เรือกอและเป็นวัฒนธรรมการคมนาคมของชาวมุสลิมภาคใต้มาตั้งแต่ครั้งโบราณ จังหวัดสงขลาก็เคยมีเรือกอและแต่ในปัจจุบันไม่สามารถพบเรือกอและที่นี่ได้แล้ว พบเจอได้ที่จังหวัดนราธิวาสเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น จังหวัดสงขลามีแค่เพียงเรือท้ายตัด หรือเรียกว่า หัวสิงห์ใช้เป็นเรือประมงออกทะเลหาปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ”

ความสำคัญของเรือกอและ

    เรือกอและเป็นวัฒนธรรมด้านศิลปกรรมและหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของของชาวประมงภาคใต้ สามารถสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แสดงออกมาให้เห็นในลักษณะผสมผสานระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิม 

ศิลปะการตกแต่งเรือกอและ 

         ความสง่างามของเรือกอและอยู่ที่การตกแต่งลวดลายตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ ศิลปะลวดลายมีทั้งที่เป็นแบบไทยและมลายู ส่วนใหญ่สร้างสรรค์โดยจิตรกรพื้นบ้าน ตรงหัวเรือมักจะทำเป็นรูปหัวพญานาคหรือเหรา แต่ส่วนใหญ่มักทำเป็นรูปนกในตำนาน เช่น นกกาเฆาะซูรอ (หรือนกกากะสุระ) หรือวาดเป็นหัวนกบุหรงซีงอ และการแกะสลัก การวาดลวดลายงดงามที่เรือนี้พบว่ามีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

เรือกอและกับการผสมผสานทางวัฒนธรรม

      จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นไปได้ว่าชาวไทยมุสลิมที่เป็นช่างต่อเรือกอและได้รับอิทธิพลการตกแต่งเรือให้มีความงดงามตามแบบเรือพระราชพิธีของไทยภาคกลาง เรือกอและบางลำที่ชำรุดไปแล้วก็มีการแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง ทั้งลวดลายก็มีลักษณะเป็นลายกระหนกแบบของไทยภาคกลาง ผสมกับศิลปะอิสลามอยู่ไม่น้อย จึงนับเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม

 

 

กระทรวงวัฒนธรรม. (2556.) เรือกอและ. https://bit.ly/3X4FteI
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542.) กอและ, เรือ. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้
          (เล่มที่ 1 , น. 216 – 228). ธนาคารไทยพาณิชย์.
รอฮะ หวังพา (สัมภาษณ์, 5 มกราคม 2566)
southdeepoutlook. (2559). เรือกอและ จิตรศิลป์พหุวัฒนธรรม. https://bit.ly/3GqsM71

แชร์ 1743 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้