ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้

ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้

           

ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้

 

              ภูมิปัญญาชาวบ้าน1 หมายถึง วิธีการจัดการ วิธีการชี้นำ และการริเริ่มเสริมต่อของนักปราชญ์ในท้องถิ่นหรือในกลุ่มชน ภูมิปัญญาชาวบ้านล้วนสั่งสมงอกงามขึ้นจากความรอบรู้ ประสบการณ์ ผนวกด้วยญาณทัศนะ (ความเฉียบคมในการหยั่งเห็นหยั่งรู้ที่ลุ่มลึกกว่าวิสัยทัศน์) เป็นรากฐาน

             ภูมิปัญญาชาวบ้านย่อมมีขึ้นเพื่อการปรับเปลี่ยนสภาพทรัพยากร และองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมให้เพิ่มพูนคุณค่า  ขึ้นอย่างสอดประสานและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ของสังคมหรือชุมชนของตน ทั้งด้านระบบนิเวศ ทรัพยากร- ธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรวัฒนธรรม รวมทั้งปัจจัยและข้อจำกัดทั้งมวลที่เผชิญอยู่ เช่น ภูมิปัญญาการปรับเปลี่ยนวิธียังชีพจากเพียงเพื่อพออยู่รอดไปสู่ภาวะมีกินมีอยู่มีใช้อย่างเพียงพอไม่ต้องเสี่ยงต่อการเผชิญกับการขาดมือหรือขาดแคลน ปรับเปลี่ยนการอยู่แบบเอาตัวรอดหรือต่างคนต่างอยู่ ไปเป็นการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน ปรับเปลี่ยนภูมิธรรม จาก “อบายภูมิ2” ไปสู่ “มนุษยภูมิ3” คือการยกระดับการกระทำคนให้มีค่าเป็นคนมีค่า เป็นต้น

          ภูมิปัญญาชาวบ้านย่อมให้ผลสัมฤทธิ์ที่เกื้อประโยชน์ต่อกลุ่มชนมากกว่าต่อปัจเจกชน สามารถขยายผลสืบส่ง  อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่ของกลุ่มสามารถรับเอาภูมิปัญญานั้น ๆ เข้าสู่วิถีดำเนินชีวิตได้อย่างมีระบบและมีพลัง ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงไม่ใช่อภิปรัชญาที่สูงเหนือวิสัยที่ชาวบ้านจะเอาประโยชน์ได้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทรงคุณค่ายิ่งและสืบทอดต่อกันยาวนานจะค่อย ๆ ซึมซาบเข้าสู่นิสัยการคิดและการกระทำจนกลายเป็นสามัญลักษณะ เป็นขนบนิยมหรือจริยวัตรปกติของคนรุ่นหลัง ๆ และหากถูกนำไปใช้ต่างยุคต่างสมัย ต่างสถานที่ หรือต่างกลุ่มชนที่มีบริบทสอดคล้องแตกต่างกันโดยขาดการ “ปรับเปรอ” (ปรับให้เป็นที่พึงพอใจโดยปราศจากปัญหาทั้งปวง) อาจไร้คุณค่าอย่างสิ้นเชิง หรือเป็นโทษก็ได้

          รากเหง้าของภูมิปัญญาชาวบ้านจึงมักเกี่ยวเนื่องกับการนำ “สภาวะ” ตามธรรมชาติที่อยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ หรือ “ภาวะ” ที่เกิดจากการกระทำ การเสาะสร้างของคนรุ่นก่อน ๆ มาปรับเปรอให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีพขั้นพื้นฐานหรือปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วภูมิปัญญาเหล่านั้นค่อย ๆ แตกหน่อต่อยอดเป็นภูมิปัญญาเพื่อจรรโลงจิตใจ เป็นเครื่องประเทืองอารมณ์ อันได้แก่ ภูมิปัญญาประเภทงานช่างฝีมือ และศิลปกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนภูมิปัญญาอันเป็นปทัสถานที่ยึดถือว่าเป็นความดีความงามตามคติชน หรือคติชาว-    บ้าน

บ่อบ่มเพาะภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้
            ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้ มีบริบทสำคัญของสังคมภาคใต้เป็นบ่อบ่มเพาะ มีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่          สภาวะธรรมชาติ ภาวะสร้างสรรค์ คติความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล และคติความเชื่อและความศรัทธาอันเนื่องจากศาสนา

ประเภทของภูมิปัญญาชาวบ้าน
          บรรดาภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งปวง ถ้าจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ตามอรรถประโยชน์ได้อย่างน้อย 4 ประเภท    คือ 

       1. ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการยังชีพ ภูมิปัญญาชาวบ้านประเภทเพื่อการยังชีพ มีขึ้นเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดอยู่อย่างมีความสุขสบายตามอัตภาพ เป็นภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการเสาะหาปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพของสังคมปฐมฐาน ยุคที่มนุษย์เสาะหาปัจจัยด้วยวิธีเก็บเกี่ยวและการใช้แรงงาน ได้แก่ วิธีทำมาหากิน วิธีเสาะหา และจัดการเกี่ยวกับปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น ภูมิปัญญาเหล่านี้ค่อย ๆ เพิ่มพูนงอกงามขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นสิ่งสามัญ เช่น 1) ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน 2) ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 3) ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมโภชนาการ 4) ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม และ 5) ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับยารักษาโรค

           2. ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนทุกหมู่เหล่าต่างพยายามจะให้ตนมีชีวิตยั่งยืนมั่นคง   จึงทุ่มเทใช้สติปัญญาและสิ่งเอื้ออำนวยต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุความต้องการอันนี้ อาจจำแนกภูมิปัญญาชาวบ้านประเภทนี้เป็นกลุ่มย่อยได้ ดังนี้ 1) ภูมิปัญญาการพึ่งตนเอง 2) ภูมิปัญญาการหลบเลี่ยงอันตราย 3) ภูมิปัญญาการรวมพลังและการพึ่งพิง 4) ภูมิปัญญาการทำและใช้ศาสตราวุธ และ 5) ภูมิปัญญาการดูแลบำรุงรักษาชีวิตและทรัพย์สิน

            3. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการสร้างและพิทักษ์ฐานะและอำนาจ ผู้คนทุกหมู่เหล่าย่อมอาศัยฐานะและอำนาจเพื่อ    ช่วยในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของสังคม ขีดจำกัดของการศึกษา ขีดความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยุคสมัย ภูมิปัญญาการสร้างและพิทักษ์ฐานะและอำนาจ มีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และตำแหน่งหน้าที่ อาจจำแนกได้ ดังนี้ 1) ภูมิปัญญาการสร้างและขยายฐานอำนาจ 2) ภูมิปัญญาการรักษาฐานะและอำนาจ จำแนกเป็น 2 ลักษณะคือ การบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อผดุงอำนาจวาสนา และการเสริมศรัทธาบารมี

            4. ภูมิปัญญาการจัดการเพื่อสาธารณประโยชน์ ภูมิปัญญากลุ่มนี้ คือภูมิปัญญาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน    มีนานาลักษณะ เช่น การร่วมกันกำหนดทางสัญจรระหว่างหมู่บ้าน เรียกว่า “ทางลา” หรือ “ทลา” หรือ “ลา”          การกำหนดให้มีทางสาธารณะระหว่างที่ไร่นาเพื่อเป็นทางเดินสัตว์เลี้ยง ลำเลียงพืชผล หรือเป็นทางส่งน้ำระบายน้ำ เรียกว่า “ทางหยวน” หรือ “ทางหมอน” หรือ “ที่หมอน” เป็นต้น

            5. ภูมิปัญญาที่เป็นการสร้างสรรค์พิเศษ ภูมิปัญญากลุ่มนี้ หมายถึง สิ่งที่ปัญญาชนชาวบ้านใช้วิสัยทัศน์ หรือ    ญาณทัศนะเฉพาะตัวสรรค์สร้างขึ้นต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วอาจเป็นทัศนะส่วนตัวที่ลึกซึ้งและแยบยลยิ่ง เช่น ภูมิปัญญาที่ให้ตระหนักว่า นักปราชญ์เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่ง รวมทั้งภูมิปัญญาการเปรียบเทียบให้ประจักษ์    ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้เรื่อง “พญาฉัททันต์” ฉบับวัด บ้านนาเดิม อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้” (หน้า 5755-5768). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาใต้                                      ล่มที่ 12. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2อบายภูมิ เป็นดินแดนเสื่อมที่สัตว์และมนุษย์มาเกิด เนื่องจากการกระทำชั่วในภพชาติที่แล้ว
3มนุษยภูมิ เป็นดินแดนแห่งความดี ที่มนุษย์และสัตว์มาเกิด เนื่องจากสั่งสมบุญมาเพียงพอในชาติภพที่แล้ว

แชร์ 22730 ผู้ชม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้