ชาวเล

หน้าแรก ย้อนกลับ ชาวเล

ชาวเล

 

ชาวเล1

          บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย มีชนพื้นเมืองที่สำคัญอยู่ 2 เผ่า คือ เผ่าซาไก (Sakai) หรือเงาะป่า อาศัยอยู่    บริเวณตอนกลางแถบป่าเขาของคาบสมุทรภาคใต้ ในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ยะลา และนราธิวาส ปัจจุบันยังคงดำรงชีวิตที่เป็นแบบดั้งเดิม (Primitive) ส่วนอีกเผ่าหนึ่ง คือ ชาวเล หรือชาวน้ำ อาศัยอยู่บริเวณทางชายฝั่งทะเลและตามหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณฝั่งทะเลทางตะวันตก ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของพม่า จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล จนไปถึงเขตมาเลเซีย

ความเป็นมาของชาวเล

           การเริ่มต้นกำเนิดของชาวเลไม่ได้ระบุชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร และเริ่มต้นอยู่ในเขตไหนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อชนเผ่าอินโดนีเซียพวกหนึ่งอพยพจากแผ่นดินใหญ่ลงสู่เกาะบอร์เนียว
นับเป็นการเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบชาวเกาะ และได้เกิดเผ่าพันธุ์ดยัค (Dyak) ขึ้น ดยัคพวกหนึ่งอาศัยอยู่บนเกาะ และกลายเป็นบรรพบุรุษของคนพื้นเมืองแห่งเกาะบอร์เนียว แต่ดยัคอีกพวกหนึ่งชอบทำมาหากินในท้องทะเล เรียกว่า
“ดยัคทะเล” (Sea Dyak) ซึ่งได้อพยพมาตามแนวหมู่เกาะเรื่อย ๆ จนถึงแหลมมลายู และกลายเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวมลายู แต่ยังมีบางพวกที่ยังคงอพยพเร่ร่อนไปทางช่องแคบมะละกาออกสู่บริเวณอันดามันไปตามแนวชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของไทย และบางกลุ่มก็อพยพไปทางหมู่เกาะตอนใต้ของประเทศพม่า อย่างไรก็ตามชนเผ่าเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ และยังคงสืบทอดการดำรงชีวิตแบบเคลื่อนย้ายอพยพเร่ร่อนไปตามแหล่งต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ต่อมาจึงได้ฉายานามใหม่ว่า ยิปซีทะเล (Sea Gypsy)

           หลังจากนั้นชาวเลได้เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิต มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เช่น 1) พวกอูรักลาโว้ย
(Urak Lawoi) เข้ามาอยู่บริเวณเกาะลังกาวี เกาะอาดัง จังหวัดสตูล เกาะตาลิบง จังหวัดตรัง เกาะลันตา เกาะพีพีดอน จังหวัดกระบี่ หาดราไวย์ และเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต 2) พวกมอเกล็น (Moklen) เข้ามาอยู่บริเวณแหลมหลา จังหวัดภูเก็ต ท้ายเหมือง และตะกั่วป่าในเขตจังหวัดพังงา และ 3) พวกมอเก็น (Moken) เข้ามาอยู่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และหมู่เกาะต่าง ๆ ทางตอนใต้ของพม่า

           ทั้งนี้นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าชาวเลมีที่มาแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้น บ้างก็ว่าชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมือง      ดั้งเดิมของดินแดนมลายูในสมัยดึกดำบรรพ์ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัย บ้างก็ว่าชาวเลจัดอยู่ในกลุ่มชน
พวกเมลานีเซี่ยน (Melanesian) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบเกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกหรือหมู่เกาะเมลานีเซีย เป็นต้น

ความเชื่อและพิธีกรรม

           ชาวเลมีความเชื่อทางศาสนาเป็นของพวกเขาเอง เป็นแบบชาวเลแท้ ๆ เฉกเช่นชาวเลส่วนมากนับถือ
ศาสนาพุทธ แต่มีความเชื่อเกี่ยวกับผี วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ประกอบกันไปด้วย ความเชื่อของชาวเลแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวความคิด อิทธิพล และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของโต๊ะ (หมอผี) ความเชื่อเกี่ยวกับคาถาอาคม ความเชื่อเกี่ยวกับไม้กางเขนที่ใช้ในพิธีลอยเรือ ความเชื่อเรื่องผีเป็นใหญ่  และชาวเลมีความเชื่อว่าทุกคนเกิดมาจากน้ำ (น้ำอสุจิ) ถ้าใครเรียกพวกเขาว่า “ชาวเล” จะไม่โกรธ แต่ถ้าเรียกว่า “ชาวน้ำ” จะโกรธมาก เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ แสดงออกมาในรูปแบบพิธีกรรมต่าง ๆ ดังนี้

           1. การเกิด ชาวเลเมื่อตั้งครรภ์ได้ครบ 5 เดือน จะไปฝากครรภ์โดยต้องนำหมาก 3 คำ พลู 3-5 ใบ และเงินไม่    จำกัดจำนวน ไปให้หมอตำแย และก่อนกำหนดคลอดต้องนำ ข้าวสาร 1 กระป๋องเล็ก ด้ายดิบ 1 ไจ เทียน 1 เล่ม
หมาก 5 คำ พลู 5 ใบ และเงินแล้วแต่จำนวน ไปมอบให้หมอตำแย ซึ่งถือว่าเป็นเคล็ดในการคลอดลูกให้ปลอดภัย

          2. การแต่งงาน ชาวเลนิยมแต่งงานในหมู่กันเอง หนุ่มสาวจะนิยมแต่งงานระหว่างอายุ 17-18 ปี โดยพิธี        แต่งงานจะมีลักษณะคล้ายกันกับคนพื้นเมืองโดยทั่วไป แต่จะมีกฎหมายของการหย่าร้างที่ต่างกัน คือ ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติจะต้องไปหาผู้ใหญ่บ้านฝ่ายที่จะ “ทิ้ง” ต้องเสียค่าเสียหายหรือค่าธรรมเนียมให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง

           3. การตาย ศพของผู้ตายจะต้องหันหัวไปทางทิศเหนือ คือ ตรงกันข้ามกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การที่มีคนเสียชีวิต ญาติจะปลูกมะพร้าวไว้ต้นหนึ่งเพื่ออธิษฐานเสี่ยงทายว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ลูกหลานจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือไม่      ถ้ามะพร้าวงอกงามออกลูกออกผลก็แสดงว่าลูกหลานมีความสุข แต่ถ้ามะพร้าวไม่ออกลูกออกผล ชีวิตของลูกหลานก็จะได้รับแต่ความทุกข์

           4. ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีที่สืบเนื่องจากความเชื่อเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งปวงออกจากหมู่เกาะ          โดยการให้เรือที่กระทำพิธีนั้น นำพาความวิบัติต่าง ๆ ออกจากเกาะ

ศิลปะการบันเทิง

           ชาวเลมีการละเล่นพื้นเมืองอยู่ 2-3 อย่าง ได้แก่ 1) โนรากาบง เป็นการละเล่นที่มีคนรำเป็นผู้หญิง 2 คน รำอยู่กับที่ ส่ายหน้าไปทางซ้ายขวาพร้อมกับยักคิ้วหลิ่วตา โยกย้ายส่ายตะโพกสลับกันไป 2) รองเง็งตันหยง หรือ หล้อแหง็ง เป็นการละเล่นที่มีนางรำเป็นผู้หญิง 3) ร้องเพลงกล่อมเด็ก เพลงเกี้ยวพาราสี เพลงชมนกชมไม้ และเพลงลอยเรือ เป็นต้น

ภาษา

          ภาษาของชาวเลมีสำเนียงคล้ายภาษามลายูและอินโดนีเซีย นักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า ภาษา    ของชาวเลเป็นภาษาตระกูลมลาโย-อินโดนีเซียน ซึ่งมีพวกชาวบาหลี มาดูรีส มักกะสัน บูกัส ดยัค ตามเกาะต่าง ๆ ใช้พูดกันมาก คำพูดบางคำคล้ายกับภาษามลายู บางคำเป็นภาษาอินโดนีเซีย บางคำเป็นคำพูดที่เขาสร้างขึ้นเอง มีศัพท์น้อยและอยู่ในวงแคบ ๆ เนื่องจากไม่ค่อยมีความเจริญทางด้านวิชาการ คำที่สร้างขึ้นใช้มักจะเกี่ยวกับชีวิตและอาชีพการงานของเขาเท่านั้น นอกจากนี้ชาวเลบางคนเคยไปประเทศมาเลเซียและสามารถพูดคุยกับคนมาเลเซียรู้เรื่อง อย่างไรก็ตามชาวเลแต่ละพวกก็ยังมีภาษาแตกต่างกัน เช่น พวกมอเก็น มอเกล็น และอูรักลาโว้ย

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ชาวเล” (หน้า 2032-2047). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5.                                                   (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 3427 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้