เจ้าบ่าวน้อยแห่งเขาควนสูง

หน้าแรก ย้อนกลับ เจ้าบ่าวน้อยแห่งเขาควนสูง

เจ้าบ่าวน้อยแห่งเขาควนสูง

 

เจ้าบ่าวน้อยแห่งเขาควนสูง

รศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว

 

          เมื่อเอ่ยชื่อเจ้าบ่าวน้อย หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เจ้าบ่าวน้อยคือใคร อยู่ที่ไหน หน้าตาอย่างไร ตามดิฉันไปหา
คำตอบกันนะคะ เจ้าบ่าวน้อยเป็นต้นไม้ยืนต้นสูงตระหง่านอยู่บนเขาควนสูง ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ดิฉันได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ของเจ้าบ่าวน้อยพบว่า มีทางขึ้นเขาควนสูงอยู่บริเวณหมู่ที่ 4 บ้านพรุเตาะนอก สองข้างทางเป็นป่ารก แต่มีร่องรอยเส้นทางเดินขึ้นเขาควนสูงเพราะส่วนใหญ่ชาวสวนยางจะใช้เส้นทางนี้เดินขึ้นเขาควนสูงเพื่อไปกรีดยางเป็นประจำ โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นทางลาดชัน ความยาวประมาณ 500 เมตร บางช่วงเป็นพื้นที่เรียบ ๆ เดินได้สะดวก ความยาวประมาณ 200 เมตร โดยลักษณะพื้นที่ของเจ้าบ่าวน้อยเป็นลานโล่ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6.60 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 34.19 ตารางเมตร มีต้นไม้ยืนต้นขนาดสูง ประมาณ 3 ต้น ดังนี้ ต้นที่ 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นต้นจวง บางคนเรียกต้นจำกะ บางคนเรียกต้นชัน ต้นที่ 2 อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและต้นที่ 3 เป็นต้นที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้ง 3 ต้นและอยู่ใกล้ต้นที่ 2 โดยอยู่เยื้องไปทางทิศเหนือ ต้นที่ 2-3 เป็นต้นชัน ชาวพรุเตาะ1เรียกต้นที่ 3 ซึ่งเป็นต้นสูงใหญ่โดดเด่นที่สุดว่า เจ้าบ่าวน้อย ที่น่าสังเกตคือ มีคนมากราบไหว้และผูกผ้ารอบลำต้นเจ้าบ่าวน้อยมากที่สุด อีกทั้งยังมีศาลพระภูมิเล็ก ๆ สำหรับกราบไหว้บูชาอยู่ด้านหน้าเจ้าบ่าว-น้อย ซึ่งมีร่องรอยของธูปเทียนและดอกไม้สดที่มีคนนำมากราบไหว้ ส่วนอีก 2 ต้น มีผ้าพันรอบต้นไม้เช่นกัน สันนิษฐานว่า ชาวบ้านที่มากราบไหว้นอกจากจะยังคงเคารพนับถือแล้วอาจมาบนบานศาลกล่าวเจ้าบ่าวน้อย

 

          ผู้เฒ่าจากบ้านพรุเตาะนอก หมู่ที่ 4 เล่าเกี่ยวกับชื่อเจ้าบ่าวน้อยว่า เป็นชายหนุ่มในหมู่บ้านคนหนึ่งกำลังจะแต่งงานกับคนรักของตน แต่ต้องผิดหวังกับความรัก จึงผูกคอตายที่ต้นจำกะต้นนี้ ต่อมาเมื่อมีโจรมาปล้นในหมู่บ้าน ชาวพรุเตาะ1ได้หนีโจรขึ้นไปแอบซ่อนบริเวณต้นจำกะต้นนี้ ซึ่งชาวพรุเตาะ1เชื่อว่าเจ้าบ่าวน้อยได้ช่วยกำบังจึงทำให้โจรมองไม่เห็น ด้วยเหตุนี้ชาวพรุเตาะจึงรอดพ้นจากการถูกทำร้ายจากโจร นอกจากนี้บางคนเล่าคล้าย ๆ กันว่า ในอดีตมีโจรเข้ามาปล้นในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านได้นำลูกบ้านขึ้นเขาควนสูงไปซ่อนตัวบนลานต้นไม้นี้ โจรตามขึ้นไป
ก็มองไม่เห็น ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านเชื่อกันว่า เจ้าบ่าวน้อยสิงสถิตอยู่ในต้นไม้ต้นนี้ได้ช่วยกำบังไม่ให้โจรเห็น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านต่างร่ำลือในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าบ่าวน้อย และพากันมากราบไหว้ ตลอดจนขอพรให้คุ้มครองภัยอันตราย แล้วเรียกต้นไม้นี้ว่า เจ้าบ่าวน้อย นอกจากนี้ชาวพรุเตาะยังเชื่อว่า เจ้าบ่าวน้อย คือเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเขาควนสูง ดังนั้นจึงเรียกชื่อต่อ ๆ กันมาว่า เจ้าบ่าวน้อย แต่บางคนเรียกว่า ทวดเจ้าบ่าวน้อย อีกทั้งคนส่วนใหญ่ในอดีตเคยผ่านการขึ้นไปกราบไหว้และเข้าร่วมพิธีกรรมในวันทำบุญประจำปีของเจ้าบ่าวน้อยสำหรับความเชื่อใน
เจ้า-บ่าวน้อยมีมานานประมาณ 100 กว่าปีแล้ว เริ่มจากบ้านพรุเตาะมีพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขัง และมีต้นหมากมากมาย คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำนา เมื่อเกิดฝนแล้ง ส่งผลให้ข้าวในนาเสียหาย บางครั้งหนูและศัตรูพืชมาทำลายต้นข้าวเสียหาย จึงมีการบนบานให้ฝนตก เพื่อช่วยให้ปลูกข้าวได้ นอกจากนี้ในฤดูมรสุม บางครั้งเกิดพายุพัดผ่านหมู่บ้าน ทำให้ไร่นาเสียหาย จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ชาวพรุเตาะ ซึ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าบ่าวน้อย จึงมีการบนบานให้เจ้าบ่าวน้อยช่วยคุ้มครองให้พายุพัดผ่านไปโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นา และช่วยให้การปลูกข้าวประสบความสำเร็จ เมื่อได้รับผลดี ผลิตพืชผลได้ เช่น ข้าวออกรวงมากมาย ได้รับผลดีจะมีการแก้บนกับเจ้าบ่าวน้อย ทั้งนี้ในอดีตทุก ๆ ปี ชาวบ้านจะนัดกันขึ้นไปทำพิธีขอฝนที่เจ้าบ่าวน้อยสิงสถิตอยู่บนเขาควนสูง นอกจากนี้ยังมีการบนบานเจ้าบ่าวน้อยขอให้หายป่วย ลูกหลานไม่ติดเกณฑ์ทหาร ขอให้สอบเข้ารับราชการได้ สอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ เป็นต้น เมื่อได้ผลตามที่ตนเองต้องการจะเดินทางไปแก้บนด้วยตนเองพร้อมญาติมิตรในสถานที่ที่เจ้าบ่าวน้อยสิงสถิตอยู่บนเขาควนสูง

 

          ผู้อาวุโสทุกคนเคยขึ้นไปทำพิธีบูชาเจ้าบ่าวน้อย บางคนไปทุกปี ทุกคนเชื่อว่า เจ้าบ่าวน้อย คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือเทวดาที่สิงสถิตในต้นไม้บนเขาควนสูงและให้ความเคารพนับถือในเจ้าบ่าวน้อย บางคนเชื่อว่ามีอาถรรพ์ในป่าแห่งนี้ จึงไม่กล้าเดินผ่านบริเวณพื้นที่เจ้าบ่าวน้อย บางคนไม่กล้าขึ้นไปเพราะกลัวเจ้าบ่าวน้อย นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าบ่าวน้อยในหลายประเด็น เช่น เจ้าบ่าวน้อยศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เห็นเป็นภาพลวงตาได้ บางคนไปหาลูกกอ (เกาลัด) บางคนไปเก็บผลไม้ เจ้าบ่าวน้อยทำให้เห็นเป็นแปลก ๆ เช่น เห็นเป็นลิงจึงถูกยิงทั้งที่เป็นคน นอกจากนี้บางคนเล่าว่าเด็กคนหนึ่งไปล่าสัตว์บริเวณใกล้พื้นที่เจ้าบ่าวน้อยได้ยินเสียงร้องแหบ ๆ ของควาย (เลียงผา) ซึ่งถือเป็นลางร้ายบอกเหตุ ภายหลังเสียงร้องไม่เกิน 3-5 วัน ก็จะมีคนในหมู่บ้านตาย ลุงเซ้งเคยไปทำสวน ถางหญ้าล้ำเข้าไปในบริเวณพื้นที่เจ้าบ่าวน้อย ถูกเจ้าบ่าวน้อยปาด้วยก้อนหิน ถ้าไปโค่นต้นไม้บริเวณพื้นที่เจ้าบ่าวน้อยก็จะมีอันเป็นไป ขอหวยก็ไม่ได้ เจ้าบ่าวน้อยขอหัวคนในกลุ่ม 1 หัว คนที่ไปขอหวยต้องวิ่งหนีลงมา รวมทั้งมีวิญญาณไปเข้าร่างทรงเพื่อนที่ไปด้วยกันอีกด้วย

 

          ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงานบางคนเคยขึ้นไปในพื้นที่เจ้าบ่าวน้อย บางคนไม่เคยไป แต่ทั้งหมดมีความเชื่อเรื่องเจ้าบ่าวน้อยเพราะได้ยินปู่ย่าตาทวดตลอดจนญาติผู้ใหญ่เล่าให้ฟังในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าบ่าวน้อย ทุกคนมีความเชื่อว่า เจ้าบ่าวน้อยคือเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านของตนเองเพราะได้ยินมาตั้งแต่เกิด ซึ่งหลายคนได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า “บางคนเกิดมาก็มีความเชื่อเรื่องเจ้าบ่าวน้อยแล้ว บางคนได้ยินเรื่องเจ้าบ่าวน้อยจากผู้ใหญ่ แต่ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ บางคนเฉย ๆ กับเรื่องเจ้าบ่าวน้อย โดยบางคนเคยขึ้นไปพื้นที่เจ้าบ่าวน้อยปีละครั้ง และเห็นเจ้าบ่าวน้อยเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ 2 คนโอบ อยู่ในพื้นที่ราบ โดยวัตถุประสงค์ของการขึ้นไปพื้นที่เจ้าบ่าวน้อยของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป เช่น ไปทำพิธีบูชาเจ้าบ่าวน้อยขอฝนในช่วงฤดูแล้ง ไปสวดมนต์ ไปบวงสรวงเจ้าบ่าวน้อยก่อนบวช เป็นต้น โดยผู้คนที่ขึ้นไปพื้นที่เจ้าบ่าวน้อย มาจากหลายหมู่บ้าน ซึ่งหากเดินทางไปพื้นที่เจ้าบ่าวน้อยช่วงเวลา
7.00 – 8.00 น. ก็จะไปถึงพื้นที่ดังกล่าวเวลาประมาณ 10.00 น.”

 

          เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ชาวพรุเตาะส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้อาวุโสหมดเรี่ยวแรงเพราะความชรามาเยือน ไม่อาจฝ่าฟันสังขาร หลายคนที่เป็นแกนนำ ตลอดจนครูหมอต่างเข้าสู่วัยชรา บางคนก็สิ้นชีวิตไป ดังคำบอกเล่าของผู้อาวุโสหลายคนที่มีความเชื่อและเคารพนับถือเจ้าบ่าวน้อยซึ่งต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีคนขึ้นเขาควนสูง เพราะอายุมากแล้ว คือมีอายุ 60 กว่าปีกันหมด ขึ้นไปไม่ไหว บางรายกล่าวว่าเคยขึ้นครั้งสุดท้ายตอนอายุ 40 กว่าปี เมื่อก่อนขึ้นไปทุกปี แต่ถึงอย่างไรก็ยังร้องขอให้เจ้าบ่าวน้อยช่วยปกป้องคุ้มครอง เช่น บนบานเวลาลมแรง พายุเข้า แต่จะแก้บนด้วยการจุดประทัดในที่โล่งที่สามารถมองเห็นเจ้าบ่าวน้อยได้ ถ้าต้องการให้เจ้าบ่าวน้อยช่วยเหลือจะใช้วิธีการนึกถึงเจ้าบ่าวน้อย อัญเชิญท่านมาไหว้ที่ศาลาวัดร้างและตักบาตรที่หน้าบ้าน บางคนเชิญเจ้าบ่าวน้อยลงมาเฉพาะวันพระกาด (อธิษฐาน) ที่บ้าน บางบ้านจะตั้งน้ำและขนมทุกวันอังคารกับวันเสาร์ 2 หลายคนยังคงบนบานให้รักษาลูกหลาน ถึงแม้ว่าชาวพรุเตาะส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพจากทำนามาทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และอาชีพอื่น ๆ นอกหมู่บ้าน ซึ่งมีความต้องการพึ่งพาน้ำจากธรรมชาติน้อยลง แต่ความเชื่อนี้ก็ยังคงมีอยู่ตราบจนปัจจุบัน เนื่องจากยังคงมีการบนบานต่อมาทั้ง ๆ ที่ในยุคปัจจุบันเป็นสังคมของกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเรื่องของความมีเหตุผลที่วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้เสมอ แต่ชาวพรุเตาะก็ยังต้องการให้เจ้าบ่าวน้อยทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองภัย เป็นที่พึ่งในยามทุกข์ยากต่อไป เพราะในสภาวะความทันสมัยของสังคมทำให้คนไทยผูกพันกับกระแสวัตถุนิยมที่มองเห็นความสำคัญของเงินตราเป็นหลัก ความต้องการเงินมาใช้จ่ายในชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันส่งผลให้คนไทยเกิดภาวะเครียด จึงต้องการที่พึ่งทางใจ ดังนั้นเจ้าบ่าวน้อยจึงสามารถตอบสนองความต้องการในฐานะที่พึ่งทางใจได้เสมอตราบเท่าที่สังคมยังให้ความสำคัญกับวัตถุนิยม

 

1 ชาวพรุเตาะ หมายถึง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่ 4 บ้านพรุเตาะนอก และหมู่ 5 บ้านพรุเตาะใน ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
2 ชาวบ้านเชื่อว่าหากตั้งน้ำและขนมเพื่อบูชาเจ้าบ่าวน้อยในวันอังคารกับวันเสาร์ คำอธิษฐานต่าง ๆ จะกลายเป็นจริง  

แชร์ 2228 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้