วัดพะโคะ

หน้าแรก ย้อนกลับ วัดพะโคะ

วัดพะโคะ

 

วัดพะโคะ

       วัดพะโคะ1 มีชื่อทางราชการว่า วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บนเขาพะโคะหรือเขาพิพัทสิงห์ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา และเกี่ยวข้องกับตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด           

           พงศาวดาลเมืองพัทลุง กล่าวว่า วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2057 และเป็น “วัดหลวง” ดังความว่า “ครั้งกาลล่วงมาราว จ.ศ. 876 ล่วงแล้ว ครั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณ ปรากฏว่า พระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองพัทลุง ตั้งอยู่ที่จะทิ้งพระ
พระยาธรรมรังคัลได้นิมนต์พระมหาอโนมทัสสีไปเชิญพระมหาธาตุเจ้ามาจากเมืองลังกาทวีป มาก่อเจดีย์ สูง 1 เส้น เพื่อบรรจุพระธาตุ แล้วสร้างวัดทำอุโบสถศาลาวิหารธรรมศาลา และก่อกำแพงล้อมเป็นเขตวัด สูง 6 ศอก
ณ เชิงเขาพิพัทสิงห์ เรียกว่า วัดหลวง แล้วบอกถวายพระราชกุศลเข้าไปในกรุง โปรดเกล้าให้มีตราพระคชสีห์และตราโกษาธิบดีออกมาเบิกข้าส่วย และภูมิเรือกสวนไร่นา ขาดออกจากส่วยหลวง เป็นข้าโปรดคนทานพระกัลปนาสำหรับวัดหลวงสืบไป

          ต่อมาสมเด็จพระราชมุนี เชื่อกันว่าสมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวด ได้ก่อพระศรีรัตนตรัยมหาธาตุบนเขา
พะโคะ ดังปรากฏในเรื่องย่อเข้าตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสไปเอาวิวาทเป็นหัวเมืองว่า “เมื่อขณะออกเมืองราชเสนาออกมาเมืองพัทลุง และเมื่อครั้งสมเด็จพระราชมุณีมีบุญแลเห็นเขาพุทธบาทบรรพต ณ พะโต๊ะ เป็นราชสถานแลเข้าไปพระนครศรีอยุธยาทำฎีกาถวายแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และมีพระราชโองการตรัสให้ก่อพระศรีรัตนมหาธาตุบนเขาพระพุทธบาทบรรพต ณ เขาพะโต๊ะ สูงเส้นห้าวา” ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระเจดีย์ที่สร้างใหม่นี้สูงกว่าที่พระธรรมรังคัลได้สร้าง 5 วา (เดิมสูงเพียง 1 เส้น) และเมื่อตรวจสอบจากหลาย ๆ ด้าน การสร้างครั้งนี้จะอยู่ระหว่าง  พ.ศ.2148-2155 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และเมื่อโปรดเกล้าให้สร้างแล้ววัดพะโคะก็ได้เปลี่ยนเป็นวัดพระราชประดิษฐานด้วยดังปรากฏในเรื่องกัลปนา สมัยพระครูเทพราชเมษีศรีปรมาจารย์
ว่า “ให้ทำพระเดิมในพะโต๊ะ  ซึ่งพระมหากษัตริย์ธิราชให้สร้างเป็นวัดพระราชประดิษฐาน ถวายพระราชกุศลแต่โบราณราชประเพณี”

บทบาทของวัดพะโคะในสมัยกรุงศรีอยุธยา

          เนื่องจากในสมัยอยุธยา เมืองพัทลุง (ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณอำเภอสทิงพระในปัจจุบัน) เป็นเมืองที่ติดต่อกับหัวเมืองแขก จึงถูกแขกมารบกวนอยู่เสมอ เช่น ถูกอุชงฆตนะยกมาตีถึง 2 ครั้ง เคยทำลายเมืองและวัดวาอารามเสียหายยับเยิน รัฐบาลจึงมีกุศโลบายที่จะใช้สถาบันพุทธศาสนาบริเวณนี้ เป็นที่สกัดกั้นการรุกรานทางวัฒนธรรมและการเมือง  จึงมอบให้คณะวัดพะโคะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น ห้ามเจ้าเมืองและกรรมการเมืองมิให้เอาค่านาอากร ณ ที่
ภูมิทานกัลปนาไปเข้าท้องพระโกษหรือเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือ ห้ามทำอันตรายและทำลายชีวิตแก่คนและสัตว์ในเขตอารามนั้น เป็นต้น หรือมีหน้าที่พิเศษ เช่น ช่วยการพระราชพิธีและพระราชกุศล หรือถ้าข้าศึกยกมาตีทำอันตรายแก่แผ่นดินและพระศาสนา ให้พระครูเจ้าคณะแต่งคนมีฝีมือไปช่วยรบ เพื่อปกป้องขัณฑสีมาและพระศาสนา เป็นต้น

ความสำคัญของวัดพะโคะ

            1. วัดพะโคะ เคยใช้เป็นสถานที่กระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของเมืองพัทลุง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

            2. เป็นที่ประดิษฐานพระเมาลิกเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมทางใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา แบบอย่างศิลปะลังกาบรรจุพระบรมธาตุ

            3. เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือที่เรียกว่าพระโคตมะ (พะโคะ) อันเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน

            4. เป็นวัดที่มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับประวัติหลวงพ่อทวด หรือสมเด็จพระราชมุนีสามีราม มีอนุสาวรีย์หลวงพ่อทวดในลักษณะจาริกธุดงค์

            5. เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดี มีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ และมี    จิตกรรมฝาผนังซึ่งเป็นภาพเขียนรุ่นใหม่เกี่ยวกับปริศนาธรรมตามแนวคิดของวัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา    จังหวัดสุราษฎร์ธานี

           ทั้งนี้บริเวณใกล้เนินเขาพะโคะมีเนินเขาคูหา ที่ถ้ำคูหานักโบราณคดีพบ “ถ้ำขุด” หรือการขุดเจาะเป็นถ้ำ          เพื่อใช้เป็นศาสนสถานตามวิธีที่เป็นศิลปะของอินเดียโบราณ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 - 6 นับเป็นลักษณะของ
ศาสนสถานแบบอิทธิพลคติศาสนาในอินเดียโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย อีกทั้งยังพบหลักฐาน ศิวลึงค์ ณ ถ้ำคูหานี้ ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัยกับถ้ำ แต่มีอายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 12 - 14 และเป็นสมัยเดียวกับศิวลึงค์ซึ่งอยู่บนเขาพะโคะ (ซึ่งอาจย้ายไปจากถ้ำคูหา)

          อนึ่ง บริเวณใกล้เคียงวัดพะโคะ อันได้แก่ คาบสมุทรสทิงพระทั้งหมด ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เก็บอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

 

   

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “วัดพะโคะ” (หน้า 5302-5308). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 11. (2542).                                  มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.               

แชร์ 1409 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้