มัสยิดกรือเซะ

หน้าแรก ย้อนกลับ มัสยิดกรือเซะ

มัสยิดกรือเซะ

ภาพโดย TeaooR

มัสยิดกรือเซะ

 

           มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่บ้านกรือเซะ หมู่ที่ 2 ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ชิดกับถนนสายปัตตานี-นราธิวาส 

        มัสยิดกรือเซะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (คำว่า ปิตู แปลว่าประตู
กรือบัน แปลว่าช่องประตูที่มีรูปโค้ง) 

            มัสยิดกรือเซะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลม      เลียนรูปลักษณะแบบเสาโคธิคของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลมและโค้งมนแบบโคธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง 

         ประวัติการสร้างมัสยิดกรือเซะมีหลายกระแส หนังสือสยาเราะห์ปัตตานี ของหะยีหวันหะซัน กล่าวว่า
สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้างประมาณปีฮิจเราะห์ 1142 ตรงกับพุทธศักราช 2265 สมัยอยุธยาตอนปลาย และว่าเหตุที่ก่อสร้างไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยุนุสกับระตูปะกาลันซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่านลองยุนุสสิ้นพระชนม์แล้ว ระตูปูยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองปัตตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองปัตตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ตำบลปูยุด อำเภอเมืองปัตตานี บริเวณที่ตั้งวังของระตูปูยุดยังคงปรากฏร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้) จึงไม่มีใครคิดสร้างมัสยิดกรือเซะต่อเติม ทิ้งไว้รกร้างจนเกิดเป็นตำนานเล่าสืบต่อกันมา 

            มีตำนานเล่าสืบต่อๆ กันมาว่า ในยุคที่เมืองปัตตานีมีเจ้าผู้ครองเมืองเป็นนางพญาชื่อ รายาบีรู (พ.ศ.2159-        2167) นั้น ได้มีชาวจีนชื่อ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม (หลิมเต้าเคียน) หนีราชภัยจากกษัตริย์จีนมาอยู่เมืองปัตตานี ได้ธิดารายาเป็นภรรยา และเข้ารีตรับนับถือศาสนาอิสลาม (จดหมายเหตุราชวงศ์หมิงเล่มที่ 33 บันทึกว่า หลิมเต้าเคียนได้หลบหนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี มีท่าเรือเรียกว่า ท่าเรือเต้าเคียน ภายหลังหลิมเต้าเคียนได้เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม และได้ภรรยาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ตามจดหมายเหตุราชวงศ์หมิง เล่มที่ 323 จะตกอยู่ประมาณปี พ.ศ.2119 ดูรายละเอียดจาก "หลิมกอเหนี่ยว") ไม่ยอมกลับเมืองจีน หลิมกอเหนี่ยวน้องสาวเดินทางมาตามพี่ชายให้กลับเมืองจีนเพื่อดูแลมารดาที่ชราตามประเพณีของชาวจีน ด้วยหลิมเต้าเคียนเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัว แต่หลิมเต้าเคียนไม่ยอมกลับ เพราะได้รับมอบหมายจากเจ้าเมืองปัตตานีให้เป็นผู้ควบคุมก่อสร้างมัสยิดกรือเซะอยู่ และยังสร้างไม่เสร็จ จะขออยู่เมืองปัตตานีต่อไปจนกว่าจะสร้างเสร็จ หลิมกอเหนี่ยวมีความน้อยใจ จึงทำอัตวินิบาตกรรมประท้วงพี่ชาย แต่ก่อนที่นางจะผูกคอตายนางได้อธิษฐานว่า แม้พี่ชายจะเป็นช่างที่เก่งเพียงใดก็ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ ด้วยแรงแห่งคำสาปแช่งของนางปรากฏว่าหลิมเต้าเคียนสร้างไม่สำเร็จ ได้ทำการสร้างหลังคาและโดมถึง 3 ครั้ง เมื่อสร้างจวนจะเสร็จก็เกิดอสนีบาตฟาดโดมและหลังคาพังทลายลงมาทุกครั้ง ทำให้หลิมเต้าเคียนเกิดความหวาดกลัวจึงยอมทิ้งงานก่อสร้างให้ค้างอยู่จนบัดนี้ 

          กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะไว้เพื่ออนุรักษ์ศิลปะทางสถาปัตยกรรม และได้ทำการบูรณะในวาระ  แห่งปีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครมีอายุครบ 200 ปี ในปีพุทธศักราช 2525

 

 

ภาพโดย ไปด้วยกัน

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “มัสยิดกรือเซะ” (หน้า 141-142). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 1. (2542).                              มูลนิธิ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 1519 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้