การดูลักษณะโค ( เหมวัว )

หน้าแรก ย้อนกลับ การดูลักษณะโค ( เหมวัว )

การดูลักษณะโค ( เหมวัว )

 

การดูลักษณะโค ( เหมวัว )

 

รัชการ วิชชุรังศรี1

 

           “เหมวัว” เป็นภาษาใต้  หมายถึง  ลักษณะของโคหรือวัว  การใช้ประโยชน์จากโคหรือวัวเพื่อเป็นพาหนะ ใช้ร่วมแรงงานในการไถ่หว่าน และกีฬาการชนวัวเพื่อสันทนาการในการเลือกดูลักษณะดีของโคหรือวัวที่จะนำมาเลี้ยง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและคนเลี้ยงตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา ให้ดูจากลักษณะหลักคือ ขวัญโค สีโค และเขาโค  ดังปรากฏในหนังสือบุดขาว  “ ตำราลักษณะขวัญดีร้ายของโค ” ของพระบริสุทธศีลาจารย์ (วัน มะนะโส)

 

ลักษณะขวัญโคที่ดี 

        “ขวัญ” เป็นลักษณะการจัดเรียงของขนที่ปรากฏบนเรือนร่างของโคตามธรรมชาติ ขวัญโคเป็นลักษณะเด่นอีกอย่าง ในการเลือกดูโคที่จะนำมาเลี้ยง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและคนเลี้ยง ดังจำแนกลักษณะดีของขวัญได้ดังนี้

(1) ขวัญอยู่ตรงขากรรไกรทั้งสองข้าง หรือข้างเดียว ท่านว่าดีควรเลี้ยง  

(2) ขวัญอยู่ใต้คาง ดีควรเลี้ยงไม่มีโทษ 

(3) ขวัญอยู่ระหว่างเขา ดีควรเลี้ยงไว้ทำนา 

(4) ขวัญอยู่บนคอ ดีควรเลี้ยงไว้ทำนา          

(5) ขวัญอยู่บนหนอก ดีมากควรเลี้ยง  

(6) ขวัญอยู่ใต้โคนหางติดข้างโคนหาง ดีมากควรเลี้ยง  

(7) ขวัญอยู่หน้าแข้งทั้ง 4 ข้าง ดีควรเลี้ยงไว้ช่วยคุ้มครองอันตราย

(8) ขวัญอยู่ใต้กีบเท้าทั้ง 4 ข้าง ดีควรเลี้ยงจะสมบูรณ์ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง

(9) ขวัญอยู่กีบหน้า หรือหลังซ้าย ดีมากควรเลี้ยงจะเกิดทรัพย์สินเงินทองมากมาย

 

           “ สี ” เป็นลักษณะเด่นอีกอย่างในการเลือกโคที่จะนำมาเลี้ยง ดังจำแนกลักษณะดีของสีโคที่จะนำมาเลี้ยงได้    ดังนี้

             (1) สีแดงทั้งข้างตัวตลอดถึงเขา เขาแดง เล็บแดง ตาแดง หางแดง สีแดงไม่มีสีอื่นเข้าปะปน และประกอบ    ด้วยขวัญที่ดีด้วย ดีมากควรเลี้ยง 

             (2) สีดำแวว เขาดำ หางดำ เล็บดำ ไม่มีสีอื่นเข้าปะปน ดีมากควรเลี้ยง

             (3) สีแดงเหมือนแสงไฟ ลายขาวตั้งแต่โคนหางจนถึงตา ดีมากควรเลี้ยงไว้ ให้ทำโรงเรือนสูงจากพื้นขึ้นมา    1 ศอก ให้มีเครื่องแอก ไถ คราด และตั้งสำรับไว้ในโรงเลี้ยงโค จะเกิดทรัพย์สินพูลทวี

 

             “ เขา ” เป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งในการเลือกดูโคหรือวัวที่จะนำมาเลี้ยง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่   เจ้าของและคนเลี้ยง ดังจำแนกได้ดังนี้

             (1) เขาเป็นสีแวว เห็นเงาสีโคนเขาเหลือง ปลายสีแดง ประดุจดังสีมณี เลี้ยงไว้จะดี 

             (2) เขาสีดำนิล ดีควรเลี้ยง เกิดทรัพย์สินเงินทอง 

             (3) เขาเป็นสีแววอยู่ในเขา ดีมาก เลี้ยงไว้จะเป็นเศรษฐี คนนับหน้าถือตา

        (4) เขาเป็นปลอกรอบปลายเขาที่ปลายแหลมมีสีขาวแวว ควรเลี้ยงไว้ดีมาก ควรเป็นโคของพระมหากษัตริย์  

             (5) เขาเป็นสีดอกชบาแดง ที่ปลายแหลมสีเหลืองแวว เลี้ยงไว้ดีมาก ควรเป็นโคของพระมหากษัตริย์ 

             (6) โคนเขาสีน้ำข้าว ปลายเขาสีเหลืองแวว ดีมาก เลี้ยงไว้จะสมบูรณ์พูลผลเกิดทรัพย์สิน มีเงินทอง  

             (7) เขาเป็นลายเหมือนรูปภควัม ดี เลี้ยงไว้เป็นตบะ คุ้มครองภัยอันตราย แคล้วคลาดปลอดภัย  

             (8) เขาเป็นเสี้ยนรอบเขา แต่สีต่างกันกับสีที่พื้นเขา จะมีตบะเดชะมาก ควรเป็นโคของพระมหากษัตริย์  

             (9) ปลายเขาเหมือนน้ำค้างในตอนดึก ดีมาก เลี้ยงไว้ จะสมบูรณ์พูลผล เกิดทรัพย์สินเงินทองมากมาย  

             (10) เขาผุดเป็นเสี้ยนทั้งเขา หรือที่ปลาย ดี เลี้ยงไว้ จะสมบูรณ์พูลผล เกิดทรัพย์สินเงินทองมากมาย  

             (11) เขาสีเขียวสีดำ เป็นลำดับขึ้นไป และมีสีเหลืองรับอยู่ที่ปลายดี ควรเลี้ยงไว้จะเกิดโชคลาภ  

             (12) เขาผุดขึ้นเป็นลายตอกทั่วทั้งเขา ดีมาก เลี้ยงไว้จะเกิดทรัพย์สิน เกิดมีโชคลาภ 

             (13) เขาดำล้วนไม่ปนสีอื่น เหมาะสำหรับพ่อค้า เลี้ยงไว้ จะค้าขายดีมีกำไร 

             (14) เขาสีเหลืองเบี้ยจักจั่น หรือเหมือนสีดอกอัญชัน หรือสีคราม ดีมาก เลี้ยงไว้จะคุ้มครองภัยอันตราย                         ทุกอย่าง 

             (15) เขาสีเป็นรูปสิงโตตั้งท่าแผ่ทยาน หรือเหมือนกับวงแหวน ดีมาก เลี้ยงไว้จะมีตบะ ศัตรูทำร้ายไม่ได้ 

             (16) เขากลมเกลี้ยงราวกับกลึง เหมือนขัดถูแล้ว ดีมาก เลี้ยงไว้จะเกิดโชคลาภมากมาย และจะคุ้มครองภัย                     อันตราย  

             (17) เขาเป็นชั้นๆ เหมือนคันฉัตร ดีมาก เลี้ยงไว้ จะสมบูรณ์พูนผล เกิดลาภยศ จะมีผู้เมตตาอารี

 

 

คุณค่าเชิงสร้างสรรค์

           จากการพิจารณาลักษณะของโคหรือวัว จะนำมาเลี้ยงให้ดูจากลักษณะขวัญ สีและเขาของโค เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าหรือการใช้ประโยชน์จากการคัดเลือกลักษณะดีตามตำราหรือความเชื่อในการเลือกโคที่จะนำมาเลี้ยงนั้นได้มีกระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่า ปัจจุบันมีการวิจัย ในการคัดเลือกลักษณะสายพันธุ์ให้ถูกต้องตามตำราและความเชื่อของโคที่นำมาเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเจริญของเจ้าของและคนเลี้ยง ในการวิจัยเรื่องการผสมพันธุ์โคเพื่อให้ได้ลูกโคที่ออกมาถูกต้องตามตำราโดยมีการคัดเลือกยีนเด่น ลักษณะโครโมโซม มีการค้าขายลูกโคที่ผสมออกมาแล้วมีลักษณะเด่นตามตำรา ทำให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกับชาวบ้านและผู้ประกอบการ

 

 

1 นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

แชร์ 14479 ผู้ชม

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหรอยๆ ชาวใต้

องค์ความรู้