วัดท้ายยอ

หน้าแรก ย้อนกลับ วัดท้ายยอ

วัดท้ายยอ

 

วัดท้ายยอ

           วัดท้ายยอ1 ตั้งอยู่เลขที่ 19 บ้านท้ายสระ หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของจังหวัดสงขลา สร้างขึ้นในสมัยตอนต้นของกรุงธนบุรี (ประมาณ พ.ศ.2311) ชื่อเดิม คือ “วัดคงคาวดี” แต่ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า “วัดท้ายเสาะ” ตามชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของเกาะยอ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดท้ายยอ” ตามชื่อของเกาะ วัดท้ายยอมีโบราณวัตถุที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม อาทิ กุฏิเจ้าอาวาสที่เรียกว่า “กุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา”

          กุฏิแบบเรือนไทยทรงปั้นหยามีอายุกว่า 200 ปี มีรูปแบบการสร้างตามสถาปัตยกรรมของภาคใต้แบบมงคลสูตรและมาตราสูตร คนโบราณเชื่อว่าในการสร้างอาคารบ้านเรือน มี 2 สาย คือ สายสัมมาทิฐิ เช่น การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย สร้างศาลา และสร้างกุฏิ จะเริ่มด้วยการสร้างจั่วก่อนส่วนอื่น ซึ่งสอดรับกับภาษิตที่ว่ารักดีหามจั่ว และสายมิจฉาทิฐิ เช่น การสร้างโรงเรือน เตาเผาสุรา และโรงบ่อนการพนัน จะเริ่มต้นด้วยการขุดหลุมลงเสาก่อน ซึ่งสอดรับกับภาษิตที่ว่ารักชั่วหามเสา ด้วยเชื่อว่าจะมีความหนักแน่นในกิจการ นอกจากนั้นในทางมงคลสูตรยังเกี่ยวข้องกับการกำหนดวัน เดือน ปี และเวลาในการหาฤกษ์ยามที่เป็นมงคลและความเป็นสิริมงคลอื่น ๆ อีกด้วย

         วัดท้ายยอเป็นวัดสำคัญในจังหวัดสงขลา มีลักษณะโดดเด่น เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวมีคุณค่าทาง
พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดี กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว 2 แห่ง คือ

            1. เจดีย์เขาเพหาร เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังที่สวยงามอายุประมาณ 240 ปี

2. กุฏิเรือนไทย เป็นกุฏิหมู่ 3 หลัง เป็นกุฏิเจ้าอาวาส 1 หลัง สำหรับพระภิกษุ 2 หลัง สร้างประมาณ 
พ.ศ. 2350 อายุราว 200 ปี กุฏินี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมเรือนไทยเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า

นอกจากนี้วัดท้ายยอมีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น

1. เจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง อายุประมาณ 240 ปี ตั้งอยู่บนเขาเพหาร (วิหาร) น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนยอดเขาวิหารตรงบริเวณหลังวัดท้ายยอ ฐานบันไดขึ้นลง 2 ข้าง สันนิษฐานกันว่าบนยอดเขาแต่เดิมนั้นเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถเก่า ต่อมาช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25
พระอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการรื้อถอนอุโบสถและทำการก่อสร้างพระเจดีย์ครอบทับ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงลังกา ก่อฐานสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร มีลานประทักษิณ ระเบียงลูกกรงกรุด้วยกระเบื้องปรุลายจีน มีการตกแต่งรอบ ๆ ฐานด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ด้านนอกมียักษ์ 2 ตน เฝ้าองค์เจดีย์ตามคตินิยมของชาวบ้าน ยักษ์ 2 ตนนั้นเรียกว่าพ่อแก่ยักษ์ มีเรื่องเล่าต่อมาอย่างมุขปาฐะว่านอกจากเฝ้าองค์เจดีย์และพระพุทธองค์แล้ว ยังคอยดูแลช่วยเหลือความเป็นอยู่ของชาวเกาะยอให้มีความสุขสบาย ตลอดจนการประกอบอาชีพให้สำเร็จผล

2. พระอุโบสถวัดท้ายยอ เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 12 เมตร ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามความเชื่อในเรื่องทิศมงคล อุโบสถมีช่วงฐานเตี้ยผนังทึบหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเป็นหลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนก รอบอาคารไม่มีเสาพาไล ภายในมีเสาร่วมเป็นเสาไม้ บริเวณตอนล่างของฐานกรุด้วยเซรามิกคลายดอกสี่กลีบ และตัวอุโบสถมีบันไดทางเข้าด้านข้างทั้ง 2 ช่อง

3. กุฏิเจ้าอาวาส เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเรือนไทยโบราณในวัดท้ายยอที่สร้างราว ๆ 200 ปี มาแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีรูปแบบและแบบแผนการก่อสร้างที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ เป็นเรือนไทยพุทธภาคใต้ สร้างกับไม้จริง หลังคาจั่ว มุงด้วยกระเบื้องของดินเผา และใต้ถุนสูง กุฏิเจ้าอาวาสของวัดท้ายยอถือเป็นการสร้างกุฏิตามหลัก “เรือนสูตร” หรือ “สูตรเรือน” ที่ถูกต้องตามหลักการมงคลสูตรและมาตราสูตร นิยมสร้างกันแบบเฉพาะอาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะและผู้มีอำนาจ เช่น กำนันหรือกุฏิเจ้าอาวาสเท่านั้น

4.  หอระฆัง เป็นหอระฆังที่เก่าแก่ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมแรงกันสร้างเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและใช้ประกอบพิธีการงานบุญ

5. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เกาะยอหรือบ่อน้ำพิบูลสงคราม เป็นบ่อน้ำที่สำคัญที่ชาวเกาะยอใช้เพื่อการดำรงชีพ    เพราะคราใดที่ชุมชนขาดแคลนน้ำฝน ก็สามารถมาเอาน้ำที่บ่อไปใช้กินใช้อาบ และชาวบ้านยังเชื่อกันอีกว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนน้ำมนต์อีกด้วย

 

   

     

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเว็บไซต์ “https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/303335d3”, สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์                       2564

แชร์ 2966 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้