ประเพณีพ้อต่อ ขอพรองค์พระ สักการะเต่าแดง ณ ภูเก็ต

หน้าแรก ย้อนกลับ ประเพณีพ้อต่อ ขอพรองค์พระ สักการะเต่าแดง ณ ภูเก็ต

ประเพณีพ้อต่อ ขอพรองค์พระ สักการะเต่าแดง ณ ภูเก็ต

 

ประเพณีพ้อต่อ ขอพรองค์พระ สักการะเต่าแดง ณ ภูเก็ต

วรเกียรติ เอ่งฉ้วน

 

          “พ้อต่อ” นับว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และไม่สามารถหาดูได้ที่ไหน มีที่เดียวในประเทศไทย คือที่จังหวัดภูเก็ต โดยประเพณีพ้อต่อ คือ ประเพณีวันสารทจีน ซึ่งคนภูเก็ตมีความเชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ประตูยมโลกได้เปิดออก เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้วได้กลับไปเยี่ยมและรับส่วนบุญส่วนกุศล จากลูกหลานบนโลกมนุษย์ เป็นเวลา 1 เดือน ดังนั้นในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ของทุกปี ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต จะจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้อุทิศบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเอง รวมถึงพวกผีไร้ญาติที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า “ฮ่อเฮียตี่1”

          ประเพณีพ้อต่อในจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นที่ศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ้วกวนอิมไตซื่อ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ศาลเจ้าพ้อต่อก้ง (อ๊าม2) ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่จัดพิธีกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และมีองค์พ้อต่อก้งเป็นประธานของศาลเจ้า อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในองค์พระประจำประเพณีพ้อต่อ ที่คนภูเก็ตสักการะบูชาอีกด้วย

          ประเพณีพ้อต่อ เป็นวันสารทจีน ที่มีเครื่องเซ่นไหว้ที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “อั่งกู้” หรือขนมเต่าสีแดง ซึ่งทำมาจากแป้งสาลีผสมน้ำตาล ปั้นขึ้นรูปเป็นเต่า แล้วจึงทาด้วยสีแดง นับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในประเพณีพ้อต่อ เมื่อใดก็ตามที่เห็นการตั้งไหว้เต่าสีแดง นั่นเป็นสัญญาณของประเพณีพ้อต่อได้เริ่มขึ้นแล้ว

          แล้วทำไมถึงต้องไหว้เต่าสีแดงในประเพณีพ้อต่อ ? เพราะเต่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว เปรียบเหมือนต่ออายุให้ตนเองมีอายุยืนยาวเหมือนกับเต่า และเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ใครกิน ใครไหว้ ก็จะมีแต่ เฮง เฮง เฮง ไร้ซึ่งโรคภัย มีโชคมีลาภเข้ามาเสมอ

         หากเพื่อน ๆ คนไหนที่อ่านบทความเรื่องนี้แล้วอยากจะไปเที่ยวภูเก็ตในช่วงเทศกาลพ้อต่อ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง แนะนำว่าให้ไปในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ศูนย์กลางของเทศกาลจะจัดยู่ที่ศาลเจ้าพ้อต่อก้ง มีถนนคนเดิน ของกิน ของใช้ ให้เลือกซื้อได้ตามใจชอบ อีกทั้งยังมีจุดเช็คอินไว้ถ่ายรูปสวย ๆ เก๋ ๆ ที่ไม่สามารถหาถ่ายได้ในจังหวัดอื่น และไฮไลต์ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เพื่อน ๆ จะเห็นเต่าแดงที่ตั้งเรียงรายในบริเวณศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก มีทั้งขนาดเล็กจิ๋ว ไปจนถึง ขนาดใหญ่จนเพื่อน ๆ เห็นแล้วต้องตกใจ นับว่าเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเทศกาลพ้อต่อ ที่ไม่สามารถหาชมที่ไหนได้อีก

 

 

1ฮ่อเฮียตี่ คือ ผีเร่ร่อน ผีไร้ญาติ ในประเพณีพ้อต่อและวันตรุษจีน นอกจากจะเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้ว ยังต้องเซ่นไหว้    ฮ่อเฮียตี่อีก ด้วย โดยมักจะตั้งไหว้บริเวณหน้าบ้าน พ้นธรณีประตู โดยส่วนใหญ่จะตั้งไหว้กลางแจ้ง ในช่วงบ่าย ๆ และ  ต้องปักธูป 1 ดอก เพื่อให้ฮ่อเฮียตี่ตาม ควันธูปมากินของเซ่น ของเซ่นจะต้องไหว้ในจำนวนที่มาก เพราะเชื่อกันว่าถ้าให้น้อย ฮ่อเฮียตี่จะไม่พอใจ เมื่อธูปหมดดอก เป็นอันไหว้เสร็จ ก็จะเอาข้าวสารกับเกลือปาออกไปหน้าบ้าน เพื่อเป็นการไล่ฮ่อเฮียตี่ให้กลับไป
2อ๊าม เป็นคำที่คนภูเก็ตใช้เรียกศาลเจ้า เช่น วันนี้จะไปทำบุญที่อ๊าม ก็คือวันนี้จะไปทำบุญที่ศาลเจ้านั้นเอง
  กิเลน ประลองเชิง. (2559, 9 กุมภาพันธ์). ไหว้ฮ้อเฮียตี๋. http://bitly.ws/A5v3
  ไทยโพสต์. (2564, 24 สิงหาคม). 'พ้อต่อ'ตำนานปล่อยผีเมืองภูเก็ต. http://bitly.ws/A5tg
  นริศา สุมะมานนท์. (2563, 11 พฤศจิกายน). อยู่เย็นเป็นสุขที่ ‘อ๊าม’ ศรัทธาแห่งภูเก็ต. http://bitly.ws/A5tr
 วรรณวิไล สนิทผล. (2565, 15 สิงหาคม). เทศบาลนครภูเก็ต จัดงานประเพณีพ้อต่อ สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรม               ประเพณีท้องถิ่น 1 เดียวในประเทศไทย พร้อมยกระดับซอฟต์ พาวเวอร์ ไทย. http://bitly.ws/A5t4
  Museumthailand. (ม.ป.ป.). ประเพณี พ้อต่อ. http://bitly.ws/A5uF
  Museumthailand. (ม.ป.ป.). ศาลเจ้าผ้อต่อก้ง. http://bitly.ws/A5uJ
 Silpa-mag.(2565,11 สิงหาคม). “สารทจีน” เทศกาลผียุคปัจจุบันในจีนและไทย ไหว้กันอย่างไร?. http://bitly.ws/A5vf
 SIRIPONG. (2555, 11 กันยายน). ประเพณีผ้อต่อ ภูเก็ต. http://bitly.ws/A5tF
 

แชร์ 2783 ผู้ชม

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหรอยๆ ชาวใต้

องค์ความรู้