อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตร

หน้าแรก ย้อนกลับ อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตร

อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตร

 

อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตร

สุวิมล ละอองพันธ์

 

        อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาน้ำค้าง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง ตั้งอยู่ภายในอุทยานเขาน้ำค้าง เป็นอุโมงค์ดินเหนียวขนาดใหญ่ที่สุด และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พุทธศักราช 2515 ขุดโดยใช้กำลังคนเป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปีด้วยกัน 

 

img img

ที่มา: https://shorturl.asia/6KNBy

 

        อุโมงค์ถูกจัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในการต่อสู้กับรัฐบาลไทย โดยมีช่องทาง
การเข้า-ออกมากถึง 16 ช่องทาง ตัวอุโมงค์มีความลึก 3 ชั้น และมีบันไดเชื่อมระหว่างชั้น สามารถจุคนได้จำนวน
200 คน ซึ่งอุโมงค์ได้ถูกขุดแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ตามการใช้งานของผู้อาศัย ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องธุรการ ห้อง วิทยุ ห้องพยาบาล ห้องครัว ห้องผู้นำ ห้องวิวาห์ สนามซ้อมยิงปืน สนามหัดขี่จักรยานยนต์ และห้องสุขา จนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช 2530 กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ประกาศยุติการสู้รบ และเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้างจึงได้รับการพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่หลงเหลือหรือแม้แต่ลักษณะห้องต่าง ๆ ให้เห็นอยู่  แม้จะผ่านไปยาวนาน

        อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อุโมงค์แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ใครมาเที่ยวยะลาก็จะต้องแวะไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นภายในอุโมงค์ปิยะมิตรแห่งนี้ อุโมงค์ปิยะมิตรมีความกว้างมากถึง 50-60 ฟุต และมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2519 การสร้างได้ใช้กำลังคน 40-50 คน โดยการขุดเจาะภูเขาได้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน 

 

img

ที่มา : https://shorturl.asia/6aKpY 

 

        การสร้างอุโมงค์ปิยะมิตรนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมืองของอดีตขบวนการ
โจรคอมมิวนิสต์มลายา ต่อมาได้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ใช้หลบการโจมตีทางอากาศ และสะสมเสบียง ทางเข้าอุโมงค์นั้นมีหลายทาง โดยเรียกชื่อ อุโมงค์ที่ 1-6 มีทางออกทั้งหมด 9 ทาง ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง กระจายไปตามจุดต่าง ๆ อุโมงค์นี้สามารถจุคนได้ถึง 200 คน ภายในอุโมงค์ประกอบไปด้วยห้องต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุของขบวนการ
โจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง เป็นต้น นอกจากนี้ข้างบนอุโมงค์ยังเป็นป่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ปกคลุมบริเวณโดยรอบของอุโมงค์ยากแก่การค้นหา ภายในอุโมงค์ได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้หลบภัย ภายนอกอุโมงค์ยังมีลานกว้างสำหรับการฝึกกำลังพลแต่ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนให้มีการจัดนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สำหรับให้ความรู้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในอุโมงค์ยังคง
หลงเหลืออยู่ และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ทางรัฐบาลได้เปิดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ตอกย้ำถึงอดีตที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

        ปัจจุบันอุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตรก็ยังคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
การที่เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้นได้สะท้อนให้ผู้คนในยุคปัจจุบันได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคสมัยนั้นที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากของสงคราม และยังสะท้อนอดีตที่แสนเจ็บปวดของผู้คนผ่านสถานที่แห่งนี้ อุโมงค์ทั้งสองที่ได้ยกมานั้นมีความเหมือนกันทางด้านของจุดประสงค์ในการสร้างที่มีไว้เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง นอกจากนี้ อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง และอุโมงค์ปิยะมิตรยังมีธรรมชาติที่สวยงามรายล้อมอยู่ จึงถูกจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่รวมไปถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวิถีความเป็นอยู่ในสมัยก่อนอีกด้วย

 

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดยะลา. (2564). อุโมงค์ปิยะมิตร. https://bit.ly/3KolioY
ไปด้วยกัน. (2562). เที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตร ชมต้นไม้พันปี. https://shorturl.asia/Z9k62
Cbtthailand. (ม.ป.ป.). อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง. https://shorturl.asia/6KNBy
Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง. https://bit.ly/3Iknqv8
Trueid. (2565). อุโมงค์ปิยะมิตร ที่เที่ยวเบตง ยะลา พิกัดเที่ยวย้อนรอยอดีต. https://bit.ly/4192LD0

แชร์ 2634 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้