หน้าแรก ย้อนกลับ เมืองสงขลาเก่า
ที่มา วารสารเมืองโบราณ
เมืองสงขลาเก่า
เมืองสงขลา1สมัยอยุธยาตั้งอยู่บริเวณหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า “Singora” (ซิงกอร่า) เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อตั้งเมืองโดยดาโต๊ะโมกอล ในช่วง
พุทธศตวรรษที่ 22 (รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม) เป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองและรู้จักกันดีของพ่อค้าและนักเดินเรือ ต่อมาในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 (พ.ศ. 2185) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง สุลต่านสุไลมาน เจ้าเมืองสงขลาได้แข็งเมือง (ตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นอีกต่อไป) กับกรุงศรีอยุธยา จนทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาต้องส่งกำลังมาปราบปรามจนสำเร็จใน พ.ศ. 2223 ทำให้บ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนได้ย้ายมาตั้งที่อยู่ใหม่บริเวณปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระหรือบ้านแหลมสนและเรียกกันเรื่อยมาว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชื้อสายจีน (ตระกูล ณ สงขลา)
ผังเมือง เมืองสงขลาเก่ามีคูเมือง กำแพงเมืองและป้อมปราการเป็นอาณาเขตและเป็นปราการของเมือง แผนผังเมืองที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2230 โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส เมอร์ซิเออร์ เดอ ลามาร์ (Lamar) แสดงแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกติดทะเล ทิศตะวันตกและทิศใต้มีเขาแดงและเขาค่ายม่วงเป็นปราการเมืองสงขลาเก่า บริเวณหัวเขาแดงเป็นเมืองแห่งป้อมปราการที่สร้างขึ้นทั้งบนที่ราบ เชิงเขา บนเขาและในทะเล ปัจจุบันสำรวจพบซากป้อมโบราณจำนวนอย่างน้อย 14 ป้อม ประกอบด้วย2
1. ป้อมบนที่ราบสูงและเชิงเขา ลักษณะเป็นป้อมขนาดกลางรูปสี่เหลี่ยม มีช่องทางเข้าหรือบันไดอยู่ทางด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนบนทำเป็นเชิงเทิน มีช่องมองสลับใบบังรูปสี่เหลี่ยมอยู่โดยรอบ ด้านนอกมีเสาครีบค้ำยันเพื่อเสริมความมั่นคงของโครงสร้างและป้องกันแรงกระแทกจากการยิงของปืนใหญ่ ได้แก่ ป้อมหมายเลข 1, 2, 3, 9, 11, 12, 13 และ 15
2. ป้อมบนเขาและลวดเขา มีลักษณะเป็นป้อมสี่เหลี่ยม มีช่องมองและส่งสัญญาณมายังเบื้องล่าง ได้แก่ ป้อมหมายเลข 4, 5, 6, 7, 8 และ 10
3. ป้อมในทะเล คาดว่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับป้อมบนพื้นราบ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะสันนิษฐานรูปแบบได้ (สันนิษฐานว่าคือ ป้อมหมายเลข 14)
การค้า ในเอกสารโบราณบันทึกว่าเมืองสงขลาเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ เมืองสงขลาเก่าบริเวณ หัวเขาแดงตั้งอยู่บริเวณปากน้ำเมืองสงขลา มีภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับเมืองท่า และตั้งอยู่ในทำเลสำคัญระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตก โดยมี ดัตช์ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เป็นชาติตะวันตกที่เข้ามาทำการค้าที่เมืองสงขลา โดยสินค้าสำคัญของเมืองสงขลา ได้แก่ พริกไทย ดีบุก รังนก ข้าว สมุนไพรและผลผลิตพื้นเมือง
โบราณสถานที่สำคัญ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่าใน
ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 109 ตอนที่ 119 วันที่ 17 กันยายน 2535 หน้า 10190 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2,460 ไร่
มีโบราณสถานสำคัญได้แก่ ที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) ที่ฝังศพวิลันดา(ฮอลันดา) ป้อมเมืองสงขลาเก่า ภูเขาน้อย (ทั้งลูก) พระเจดีย์ของสมเด็จฯ องค์น้อย องค์ใหญ่บนเขาค่ายม่วง สุสานต้นตระกูล ณ สงขลา (แปลง 1-3) วัดภูผาเบิก
วัดศิริวรรณาวาส (ร้าง) วัดบ่อทรัพย์ วัดสุวรรณคีรี ศาลาบ่อเก๋งและที่ฝังศพเจ.วี. ลาร์เซน ศาลากวงและศาลาหลบเสือ
1 อ้างอิงข้อมูลจากแผ่นพับ เรื่อง เมืองสงขลาเก่า (หัวเขาแดง) จัดทำโดยสำนักศิลปากร ที่ 13 สงขลา
2 เรียบเรียงโดยสรุปจากเว็บไซต์ “shorturl.asia/t0oV9” สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2564
แชร์ 2523 ผู้ชม