หน้าแรก ย้อนกลับ ชวา-มลายู และการร่วมลักษณะทางวัฒนธรรมกับไทยภาคใต้
ที่มา ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๕
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ชวา-มลายู และการร่วมลักษณะทางวัฒนธรรมกับไทยภาคใต้1
ชื่อที่ใช้เรียกเกาะสำคัญเกาะหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันคือ “ชวา” มิได้มีความหมายถึงเกาะนี้โดยเฉพาะเจาะจงมาแต่เดิม ตามหลักฐานทั้งของอินเดีย อาหรับ หรือแม้แต่กรีก และโปรตุเกสในรุ่นหลังต่างชี้ให้เห็นว่าชื่อ “ชวา” นี้บางครั้งก็มีความหมายกว้างครอบคลุมหมู่เกาะแถบตะวันตกของอินโดนีเซียในปัจจุบันหลายเกาะ เช่น
เกาะสุมาตราก็เคยถูกเรียกว่า “เกาะชวาใหญ่” ในขณะที่เกาะชวาเคยถูกเรียกว่า “เกาะชวาน้อย” และในบางครั้งก็อาจมีความหมายเจาะจงไปถึงเกาะสุมาตราเพียงเกาะเดียวก็มี
ด้วยเหตุดังนี้จึงไม่ทราบแน่ชัดถึงที่มาของคำว่า “ชวา” ได้ แต่สันนิษฐานกันว่าจะเป็นคำภาษาอินเดีย ตอนใต้ ซึ่งแปลว่า “ลูกเดือย” ในขณะที่พวกอาหรับเข้าใจผิดว่า “ชวา” แปลว่า ข้าวเปลือก ข้อสันนิษฐานนี้เป็นของ
ขุนศิลปกิจพิสัณห์ อดีตศึกษาธิการจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่น ๆ อีก เช่น ชวาหมายถึงเครื่องเทศเพราะเป็นแหล่งที่รับซื้อเครื่องเทศเพื่อขายต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียมานับแต่โบราณกาล ส่วนคำว่า “มลายู” นั้นมีปรากฏทั้งในหลักฐานจีนและอาหรับ หมายถึง ท้องที่แถบหนึ่งของเกาะสุมาตราตะวันออก (เชื่อกันว่าแถบเมืองจาบี) โดยทั้งคำว่า ชวา และ มลายู มีความเหมือนกันคือ หาที่มาแน่นอนไม่ได้
ในปัจจุบันคำว่า “ชวา” ในทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์วิทยา มีความหมายที่แน่นอน คือ หมายถึงภาษาและ วิถีชีวิต ซึ่งประชาชนในเกาะชวายกเว้นซีกตะวันตกอันเป็นถิ่นที่อยู่ของประชาชนชาวซุนดาใช้และเป็นเจ้าของ แต่คำว่า “มลายู” ไม่ง่ายที่จะจำกัดความเช่นนั้น โดยทางวัฒนธรรมอาจหมายถึงภาษาและวิถีชีวิตที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ และเป็นชนส่วนใหญ่ของดินแดนทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกาลิมันตัน (บอร์เนียว) ในบริเวณชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา และบนคาบสมุทรขึ้นมาจนถึงจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล แต่ในทางชาติพันธุ์วิทยาแล้ว คำว่ามลายูมีความหมายกว้างกว่านั้น อีกมาก เนื่องจากสมัยหนึ่ง (หรือแม้แต่ในปัจจุบัน) นักวิชาการนิยมใช้คำนี้เพื่อเรียกประชาชนตระกูลโพลีนีเซียนซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะมาดากัสการ์ในแอฟริกาตะวันออก ด้วยเหตุดังนั้นพวกมินังกะเบาและบาตักในเกาะสุมาตรา หรือพวกดยัคในเกาะกาลิมันตันหรือแม้แต่ชาวชวา ก็นับได้ว่าเป็น “มลายู” ในความหมายกว้างเช่นนี้
คำว่า “มลายู” ตามความหมายทางชาติพันธุ์วิทยาเช่นนี้ในหมู่พวกนักศึกษาชาววิลันดาจะใช้คำว่า “อินโดนีเซีย” แทน แต่ทั้งสองคำนี้ก็ก่อให้เกิดความสับสนได้พอ ๆ กัน เนื่องจากชื่อทั้งสองนี้ไปพ้องกับชื่อของประเทศเข้า เช่น ครั้งหนึ่งก็มีประเทศสหพันธรัฐมลายู และในเวลาต่อมาก็มีประเทศอินโดนีเซีย จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่า
หมายถึงพลเมืองของประเทศเหล่านั้น
อันที่จริงวัฒนธรรมชวาและมลายูนั้น มิใช่เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งอันเดียวกัน ภาษาของสองวัฒนธรรมนี้ แตกต่างกันชนิดที่ไม่อาจสื่อสารกันได้โดยสิ้นเชิง จึงไม่อาจนับว่าเป็น “ภาษาถิ่น” ของกันและกันได้ และในแง่ของวิถีชีวิต ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นในศาสนา ก็ยังมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมทั้งสองมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านชาติพันธุ์วิทยาอันเดียวกัน และยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแก่กันและกันมาตลอดประวัติศาสตร์อีกด้วย จึงไม่ประหลาดที่จากสายตาของคนภายนอก เช่น ไทย จะมองเห็นวัฒนธรรมทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังที่เรียกชื่อว่า “ชวา-มลายู” หรือสับสนระหว่างวัฒนธรรมที่เป็นของชวาแท้และที่มลายูรับจากชวามาถ่ายทอดให้อีกต่อหนึ่ง เป็นต้น
วัฒนธรรมชวานั้นเกิดขึ้นในดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมาะ แก่การเพาะปลูก ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมมลายูที่เป็นสมบัติของประชาชนที่กระจัดกระจาย ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยนับตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ เป็นต้นมา ได้พบหลักฐานที่ล้วนส่อให้เห็นว่าประชาชนมลายูเป็นพวกที่เคลื่อนย้ายตัวเองอยู่เสมอ แม้ไม่ถึงขนาดที่จะจัดว่าเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อน แต่ก็มีการเคลื่อนย้ายได้เร็วและสะดวก และส่วนใหญ่ชำนาญการเดินเรือเล็กเลียบชายฝั่ง แต่ทั้งนี้ความแตกต่างของวัฒนธรรมชวาและมลายูถูกทำให้ลดลง เนื่องจากได้รับวัฒนธรรมมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือ อินเดีย เฉกเช่นกับไทย
ดังนั้นจากประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างยาวนานระหว่างวัฒนธรรมชวา-มลายู และไทย (ดูจากเรื่องชวา-มลายู : ผู้คนและวัฒนธรรมในภาคใต้ หนังสือสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 4 หน้า 1921-1942) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบการแลกเปลี่ยนหรือการร่วมลักษณะของกันและกันระหว่างวัฒนธรรมของไทยภาคใต้กับวัฒนธรรมชวา-มลายู โดยเฉพาะในเขตเหลื่อมทางวัฒนธรรม คือ ตอนใต้สุดของประเทศไทยและตอนเหนือสุดของประเทศมาเลเซีย จะเห็นได้ชัดถึงการผสมปนเปกันทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ได้แก่ คตินิยมและความเชื่อ วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมด้านนันทนาการ และมีดที่ใช้เป็นอาวุธ โดยขอยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้
1. วัฒนธรรมด้านภาษา
สมพร ทีปจิรังกูล ได้รวบรวมคำที่ใช้ในภาษาถิ่นใต้ซึ่งพ้องและใกล้เคียงกับคำมลายูทั้งเสียงและความหมายได้ ไม่น้อยกว่า 550 คำ ให้ชื่อหัวเรื่องว่า “คำใคร” เพราะไม่แน่ใจว่าใครยืมใครหรือพ้องกันโดยบังเอิญ และมีคำจำนวนไม่น้อยที่ขุนศิลปกิจพิสัณห์ ชี้ชัดลงไปว่าเป็นคำชวาและมลายู ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1.1 คำที่ภาษาถิ่นใต้และมลายูใช้ตรงกันและหรือใกล้เคียงกัน เช่น แป้สะ (เป้ากางเกง) มลายูใช้ pesak (เปซะ)
1.2 คำภาษาต่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับต่างประเทศที่มลายูและถิ่นใต้เรียกตรงกัน เช่น กล้วยพังลา (กล้วยตานี) มลายูเรียก pisang bengala (เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากเมืองเบงกอลในอินเดีย ต้นสูงใหญ่กว่าพันธุ์พื้นเมือง) pisang มลายู แปลว่า กล้วย
1.3 ชื่อบ้านนามเมืองที่เป็นคำมลายู เช่น สตูล ชื่อจังหวัด ภาษามลายูคำว่า setul แปลว่า กระท้อน
1.4 คำภาษาชวา เช่น สะมาหยัง (ละหมาด) ภาษาชวาใช้ sembahyang หมายถึง ไหว้พระผู้เป็นเจ้าตามวิธี มุสลิม
2. วัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรม
บ้านแบบมลายูและบ้านไทยภาคใต้มีลักษณะที่เหมือนกัน คือ นิยมปลูกยกพื้นสูง ฝานิยมกันด้วยไม้ไผ่ขัด ต่อมานิยมกันฝาด้วยสังกะสีลูกฟูกหรือฝากระดาน หลังคานิยมมุงจาก กระเบื้องและสังกะสีหลังคานิยมทำแบบจั่วหรือหลังคาแบบปั้นหยา ความนิยมร่วมกันอีกอย่างหนึ่งคือ การต่อบ้านจากบ้านหลังใหญ่เรียกว่า ลงพาไล (balai) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ลงพะ” ถ้าปลูกบ้านแฝดนิยมมีชานกลาง มักมีหลังคาคลุมชานด้วย ไม่นิยมกั้นห้องย่อย แต่ใช้ม่านสีกั้นแบ่งเป็นที่นอนหรือห้องรับรองแขก
3.วัฒนธรรมด้านนันทนาการ
วัฒนธรรมด้านนันทนาการที่ชวา-มลายูและไทยในภาคใต้มีตรงกันมีหลายอย่าง เช่น การเล่นว่าว (มลายูเรียก wan) มีรูปแบบของว่าว วิธีทำและการเล่นคล้ายกัน เช่น ว่าววงเดือน (หรือว่าวเขาควาย) ของภาคใต้และมลายูมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ มลายูเรียก wau bulan (บูลัน-ดวงเดือน) มีส่วนหัวทำรูปคล้ายหัวควายและเขาควายเหมือนกัน เมื่อชักขึ้นก็ให้ส่วนนี้อยู่ด้านล่างเหมือนกัน ว่าวเกือบทุกชนิดจะมีส่วนที่ทำให้ลมปะทะแล้วเกิดเสียงดังอ้าว ๆ เหมือนกัน นอกจากนี้มีการเล่นเดินไม้สูงของเด็กที่ภาคใต้เรียกว่า “ทองโย่ง” มลายูเรียกว่า“ kaki kayu” (กากิ-ขา, เท้า, กายู-ไม้, ทำด้วยไม้) การแข่งลูกข่าง การชนไก่ การเล่นหมากขุม หรือหมากหลุม มลายูเรียกว่า “papan chongkok” เพื่อเป็นการฝึกทักษะในการคิดคำนวณและพักผ่อน
ส่วนการละเล่นพื้นเมืองที่เป็นเครื่องบันเทิงใจที่มีถ่ายทอดสู่กันคือ หนังตะลุง วายังเซียม วายังกุลิต
และวายังยาวอ หรือหนังชวา มะโย่ง โนราแขก ลิเกฮูลู สิละ ซัมเปง รองแง็ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการละเล่นหรือดนตรีพื้นเมืองอันเป็นที่นิยมในชวาและมลายู บางอย่างกลับไม่นิยมในหมู่คนไทยภาคใต้ เช่น อังกะลุง (ชวาว่า Angkalung) และบังสวรรค์ (bangsawan) เป็นต้น
4.คตินิยมและความเชื่อ
คตินิยมกับความเชื่อที่ชาวชวา-มลายู และชาวภาคใต้มีพ้องกัน เช่น นิยมให้เด็กผู้หญิงแขวนจะปิ้ง (เพื่อปกปิดอวัยวะเพศ) และคตินิยมการใช้ยาพิษ ซึ่งมลายูเรียกว่า ราจุน (Rachun) เป็นการใช้ตัวยาและความเชื่อทางไสยศาสตร์เสกคาถาอาคมลงบนแผ่นหนัง กระบอกไม้ไผ่ และแผ่นโลหะแขวนไว้ตามต้นไม้กันไม่ให้เด็กขโมยผลไม้กินเรียกว่า “โจ” (มลายู เรียกว่า Pachau)
ทั้งนี้สรุปได้ว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้และชวา-มลายูอันเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่มีอยู่ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สืบทอดมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ อันเนื่องจากผู้คนในแถบนี้เคยมีความใกล้ชิดกันมาช้านาน มีความเกี่ยวพันกันทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา การปกครอง เป็นเหตุให้การถ่ายเทสู่หากันของวัฒนธรรมมีต่อเนื่องกันมาอย่างกว้างขวาง และเมื่อศาสนาอิสลามเข้ามา วัฒนธรรมอันใดขัดกับหลักศาสนาอิสลามก็จะถูกตัดออกไปบ้าง หรือปรับให้เข้ากับหลักศาสนาบ้าง แต่โดยส่วนลึกแล้วยังสะท้อนให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมร่วมเหล่านั้นอยู่
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ชวา-มลายู และการร่วมลักษณะทางวัฒนธรรมกับไทยภาคใต้” (หน้า 1921-1942). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 4. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์กรุงเทพฯ.
แชร์ 5492 ผู้ชม