อีแปะสงขลา เงินตราแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ อีแปะสงขลา เงินตราแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้

อีแปะสงขลา เงินตราแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้

 

อีแปะสงขลา เงินตราแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้1

ธีระ จันทิปะ2

 

เหรียญอีแปะมีลักษณะอย่างไร

        อีแปะสงขลา บ้างเรียก “อัฐดีบุก” หรือ “เบี้ย” หรือ “กะแปะ” ในบางท้องถิ่นจะเรียก “เบี้ยตะกั่วอีแปะเป็นเหรียญเงินตราแบบอีแปะจีนชนิดหนึ่ง ในอดีตอีแปะจีนใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง
(ราว พ.ศ. 1161) หล่อจากตะกั่วผสมดีบุก ลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ตรงกลางเป็นรู ทั้งรูกลมและรูสี่เหลี่ยม
มีอักษรหรือภาพสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน
      

         อีแปะสงขลาชนิดแรก ด้านหน้ามีอักษรไทย “สง” อยู่ข้างบนและ “ขลา” อยู่ข้างล่าง มีอักษรอาหรับสองข้าง    อ่านว่า “เนกกรีซิงกอร่า” แปลว่า นครสงขลา ส่วนด้านหลังมีอักษรจีน 4 ตัว อ่านว่า “ซ้ง เซี้ย ทง ป้อ” แปลว่า อีแปะเมืองสงขลา

         อีแปะสงขลาชนิดที่สอง ด้านหน้ามีอักษรไทย “สงขลา” อยู่ข้างบน ข้างล่างบอกปีจุลศักราช 1241 (พ.ศ.2422) จุลศักราช 1242 (พ.ศ. 2423) และจุลศักราช 1243 (พ.ศ. 2424) อักษรจีนสองข้าง อ่านว่า “จิง เฮง ทง ป้อ” แปลว่า อีแปะที่ทำให้เจริญรุ่งเรือง

         อีแปะสงขลาชนิดที่สาม ด้านหน้ามีอักษร “เบี้ยสงขลา ร้อยละเหลียน” ด้านหลังมีอักษรจีนตัวเล็ก 1 ตัว แปลว่า หัว และมีอักษรจีนตัวใหญ่รอบเหรียญ อ่านว่า “ซ้ง เซี้ย ทง ป้อ มวย แปะ เจ็ก อี้” แปลว่า อีแปะนครสงขลาร้อยละหนึ่งเหรียญ


อีแปะมีความสำคัญอย่างไร

       ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ และนำเหรียญเงินตราจีนเข้ามาใช้          ชาวจีนบางส่วนได้พัฒนาตนเองกระทั่งมีความก้าวหน้าเป็นผู้นำชุมชนหรือเป็นเจ้าเมือง ชาวจีนกลุ่มนี้จึงเริ่มผลิตเหรียญเงินตรารูปแบบเหรียญอีแปะจีน เพื่อแลกเปลี่ยนภายในพื้นที่ปกครองของตนเองแทนการใช้หอยเบี้ยและเงินพดด้วง เหรียญอีแปะไม่ใช่เงินตราที่ใช้กันทั่วไปแบบเงินที่รัฐผลิตขึ้นสำหรับใช้ทั่วราชอาณาจักร การใช้อีแปะสงขลาคงคล้ายกับอีแปะที่ใช้ในหัวเมืองปักษ์ใต้หลายแห่ง อีแปะมักปรากฏในกิจการกงสีต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นกิจการเหมืองแร่ กิจการโรงสีข้าว กิจการโรงเลื่อยโรงไม้ กิจการโรงบ่อน โรงเหล้า หรือโรงฝิ่น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดค่าอีแปะเพื่อเทียบกับเงินตราของรัฐ

        ในเหรียญอีแปะสามารถบ่งบอกถึงพื้นที่ผลิตหรือพื้นที่ที่ใช้สอย เช่น ปรากฏอักษรภาษาไทย จีน และอาหรับ    หรืออาจระบุปีที่ผลิต พบหลักฐานว่าในอดีตเมืองสงขลามีเงินตราใช้ไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากมี
เหรียญตรานก เหรียญตรามังกร และเหรียญอีแปะ

 

 

เหรียญอีแปะสงขลาแสดงให้เห็นอะไร

        เราเห็นถึงการใช้อักษร 3 ภาษา นั่นแสดงว่าผู้คนที่อาศัยในเมืองสงขลามีทั้งชาวไทย จีน และไทยมุสลิม          อีแปะสงขลายังส่งไปใช้ในกลุ่ม 7 หัวเมืองมลายู (ปัตตานี สายบุรี หนองจิก รามัญ ยะลา ระแงะ และยะหริ่ง) เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ในความปกครองของเมืองสงขลา ทำให้พื้นที่ใช้สอยเงินตราประเภทอีแปะกระจายเป็นวงกว้าง อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเงินพดด้วงและเหรียญของรัฐบาลยังกระจายไม่ทั่วถึงหรือไม่พอต่อความต้องการใช้ในหัวเมือง

        ความน่าสนใจของมูลค่าที่ปรากฏ บนเหรียญอีแปะสงขลามีอักษรระบุว่าเบี้ยสงขลา 100 เบี้ยเป็น 1 เหรียญ
ซึ่งขัดแย้งกับบัญชีสิ่งของเมืองสงขลาที่ระบุว่า เบี้ยตะกั่วเมืองสงขลาใช้จ่ายกัน 400 เบี้ยเป็น 1 เหรียญ สิบเบี้ยเรียกเฟื้องหนึ่ง พอจะสันนิษฐานได้ว่าค่าของเหรียญอีแปะสงขลาในแต่ละปีขึ้นลงไม่เท่ากัน

       วิธีการผลิตอีแปะ เอกสารบางฉบับได้กล่าวถึงเจ้าเมืองสงขลาเป็นผู้จัดทำอีแปะขึ้นเฉพาะเมืองสงขลา
เรียก “กะแปะ” สิ่งนี้ยืนยันการใช้องค์ความรู้ทางด้านโลหกรรมของเมืองสงขลา ทั้งยังพบเบ้าหล่ออีแปะ และชิ้นส่วนอีแปะที่นำออกจากเบ้าแต่ยังไม่ได้ตัดแต่งให้เป็นเหรียญกลมแบน นอกจากนั้นเมืองสงขลามีวัตถุดิบในการผลิตไม่ว่าจะเป็นดีบุกหรือตะกั่ว และการทำเหมืองแร่

         พัฒนาการของอีแปะในช่วงแรกระบุแต่ชื่อสถานที่เป็นภาษาจีนไม่ระบุชื่อกงสี ต่อมาได้เพิ่มภาษาไทย                ภาษาอาหรับและยังเพิ่มตัวเลขเป็นปีจุลศักราชในรุ่นหลัง ๆ อีกด้านหนึ่งของเหรียญอีแปะก็มีชื่อกงสีปรากฏเพียงกงสีเดียวคือ จิ้นเฮงกงสี  อีแปะเมืองสงขลานี้บางทีเรียกว่า อัฐดีบุก หรือเรียกว่า “เบี้ย” มีหลายรูปแบบ ทุกแบบทำเป็นเหรียญแบนรูปกลมเจาะรูตรงกลาง

        ช่วงสุดท้ายของอีแปะ เป็นช่วงที่มีการประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง (พ.ศ. 2451) เนื่องจากเหรียญกษาปณ์  ของรัฐบาลมีการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีจำนวนเพียงพอ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า อีแปะน่าจะได้รับความนิยมลดลง และเลิกใช้ในที่สุด  

อีแปะจะก้าวไปอย่างไร

         ในปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ถึงขั้นที่จะไม่ใช้เหรียญและธนบัตรกันแล้ว ด้วยภาวการณ์แพร่ระบาดของ    โรคติดเชื้อยิ่งเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ข้อเด่นประการหนึ่ง คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนในการผลิตเหรียญและเงินตราเหล่านั้น แต่มองไปยังเสน่ห์ในรูปร่างรูปทรงและคุณค่าในตัวเหรียญอีแปะก็ยังคงน่าหลงใหล ชวนสัมผัสและสะสม เป็นไปได้ว่าเราจะนำรูปแบบเหรียญอีแปะมาทำเป็นสินค้าที่ระลึกของเมืองสงขลา หรือสร้างประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าสังคมพหุลักษณ์ที่เมืองสงขลาได้ปรากฏตัวมานานแล้ว โดย “อีแปะสงขลา” คือหลักฐานเชิงประจักษ์

 

1 อ้างอิงข้อมูลจากชวลิต อังวิทยาธร. (๒๕๔๒). “เงินตราท้องถิ่นภาคใต้ : เหรียญกงสี”, ใน สารานุกรมวัฒนธรรม                                     ไทย ภาคใต้. เล่มที่ 7. กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. (๒๕๔๗). บัญชีสิ่งของที่เมืองสงขลาและเมืองพัทลุงจัดส่งไปกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔                                        เพื่อจัดแสดงในงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบร้อยปี พ.ศ.๒๔๒๕. สงขลา:                                                                สถาบันทักษิณคดีศึกษา.

ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า. (๒๕๐๔). ชีวิวัฒน์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.

2 นักวิชาการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

แชร์ 3038 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้