ศาสนาอิสลามในภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ ศาสนาอิสลามในภาคใต้

ศาสนาอิสลามในภาคใต้

ภาพโดย the Standard

ศาสนาอิสลามในภาคใต้1

 

          อิสลาม เป็นศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งของโลก เรียกศาสนิกชนของศาสนานี้ว่า “มุสลิม” โดยถ้าเป็นสตรีเรียกว่า “มุสลิมะ” ถ้าเป็นบุรุษเรียกว่า “มุสลิมีน”

          มุสลิมเชื่อว่า ศาสนาอิสลามมาพร้อมกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พระผู้เป็นเจ้าคืออัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงสร้างโลกและทรงสร้างสรรพสิ่งในโลก ทรงกำหนดให้ปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ทรงประทานวะฮีย์ (โองการ) ต่าง ๆ
ตามความเหมาะสมกับภาวะของโลกโดยมีนบี (ศาสดา) เป็นผู้นำวะฮีย์จากพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแพร่ บรรดานบีต่าง ๆ        ที่สำคัญ ซึ่งเป็นนบีที่มุสลิมนับถือมีนามตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรานทั้งหมด 25 ท่าน และที่ปรากฏในวจนะของ
นบีมุฮัมมัดศ็อลฯ (ตามหลักศาสนาอิสลามเมื่อเอ่ยชื่อ หรือเขียนชื่อนบีมุฮัมมัด จะมีคำว่า “ศ็อลฯ” หรือใช้คำเต็มว่า “ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม” ตามหลังด้วย ซึ่งแปลว่า “ขอความจำเริญ และสันดิสุขแห่งอัลลอฮฺจงมีแก่ท่าน”)      อีก 124,000 ท่าน โดยมีนบีอาดัมอาลัยฯ (อาลัยฯ คำเต็มคือ อาลัยอิสลาม แปลว่า ความสันติสุขจงมีแก่ท่าน) เป็นท่านแรก และนบีมุฮัมมัดศ็อลฯ เป็นท่านสุดท้าย วะฮีย์จากอัลลอฮฺซึ่งได้ประทาน  แก่ชาวโลกก็ครบถ้วนบริบูรณ์ในสมัย
นบีมุฮัมมัดศ็อลฯ หลังจากที่ท่านนบีมุฮัมมัดศ็อลฯ สิ้นชีพแล้ว บรรดาเศาะฮาบะฮ์ (สาวก) ของท่านได้รวบรวมวะฮีย์จากผู้ที่ท่องจำและจารึกบนวัสดุต่าง ๆ ไว้เป็นเล่มเรียกว่าคัมภีร์อัลกุรอาน (ดู อัล-กุรอาน) และถือว่า อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์สูงสุดและสุดท้ายของโลก

           คัมภีร์อัลกุรูอาน เป็นธรรมนูญการดำเนินชีวิตสำหรับมุสลิมก็จริง แต่อัลกุรุอานเป็นเพียงตัวบทหลักเท่านั้น        ไม่ได้แจ้งรายละเอียดในการปฏิบัติ ฉะนั้นมุสลิมจึงอาศัยจริยวัตรของท่านนบีมุฮัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต สำหรับกิจกรรมใดที่ไม่ปรากฏในจริยวัตรของท่านก็อาศัยการวินิจฉัยตีความอัลกุรุอานและหะดีษของท่านมาเป็นแนวปฏิบัติจากการวินิจฉัยตีความของบรรดาท่านผู้รู้เหล่านี้เองทำให้เกิดแนวคิดแตกแขนงออกมาตามแนวของบรรดาผู้รู้ที่รู้จักในนาม “อิหม่าม” ต่างๆ มาเป็นแนวปฏิบัติ เช่น อิหม่ามชะฟิอีย์ มะลิกี หะนาฟีย์และหัมบาลี เป็นต้น โดยมุสลิมส่วนใหญ่ในเขต 5 จังหวัดภาคใต้ อันประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และสงขลา ถือปฏิบัติตามแนวคิดของอิหม่ามชะฟิอีย์

การแพร่กระจายสู่คาบสมุทรมลายูของศาสนาอิสลาม        

        เมื่อชาวอาหรับรู้จักการเดินเรือเลียบชายฝั่งออกมาค้าขายกับโลกภายนอกแล้ว ระยะแรกจะเป็นการเดินเรือ    เลียบชายฝั่งไปยังดินแดนต่างๆ ในขณะเดียวกันศาสนาอิสลามก็เป็นตัวเร่งให้กิจกรรมการเดินเรือของอาหรับ เป็นไปอย่างกว้างขวางกว่าเก่าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงมีหลักฐานการเดินทางของมุสลิมชาวอาหรับและเปอร์เซีย (อิหร่าน) เดินทางเข้ามายังตะวันออกกลางนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 แล้วเป็นอย่างช้า โดยเรือสินค้าของพ่อค้าอาหรับ-เปอร์เซียได้แล่นเรือไปถึงประเทศจีน และก่อให้เกิดชุมชนชาวอาหรับ-เปอร์เซียที่เป็นมุสลิมในประเทศจีนมาอย่างน้อยก็ในพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมีหลักฐานว่าชุมชนพ่อค้าเหล่านี้ได้บุกเข้าโจมตีเมืองท่ากวางตุ้งใน พ.ศ.1301 ซึ่งแสดงว่าชุมชนนี้ได้ก่อตัวและอาศัยอยู่ในประเทศจีนมานานก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะเดียวกันมีรายงานเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมของชาวอาหรับ-เปอร์เซียตั้งกระจายอยู่ทั่วไปตามเมืองท่าริมฝั่งทะเลตะวันออกกลางไปจนถึงจีน
นั่นหมายความว่าได้มีชุมชนพ่อค้าอาหรับ-เปอร์เชียเช่นนี้ในเมืองท่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยเฉพาะเมืองท่าที่อยู่ตามเส้นทางการค้าไปจีน โดยหลักฐานที่เก่าสุดเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นจะเป็นที่จามปา ซึ่งรู้ได้ว่าต้องมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 และเป็นไปได้ด้วยว่าชุมชนมุสลิมแห่งนี้สามารถเผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ชาวพื้นเมืองได้ก่อนที่อื่น ยิ่งมาในสมัยหลังเมื่อจามปาเสื่อมอำนาจลง ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองจะยิ่งผลักไสให้ชาวจามปาหันไปนับถือศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้น เหตุฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีเหตุผลที่พอจะเชื่อได้ว่า พวกจามป่าน่าจะเป็นชาวพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พวกแรกที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง หากทว่าพวกจามปา มิใช่พวกที่ขยายศาสนาอิสลามไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร

        แม้ว่าชุมชนมุสลิมของชาวอาหรับ-เปอร์เซียจะสามารถขยายศาสนาในจามป่าได้ด้วยตนเอง แต่โดยทั่วไปแล้วชุมชนของพ่อค้าเหล่านี้ มักจะแยกตัวเองจากชาวพื้นเมืองในเมืองท่าอื่น ๆ แม้ว่าได้มีการแต่งงานระหว่างพ่อค้าอาหรับ-เปอร์เชียกับหญิงพื้นเมืองบ้างก็ตาม เพราะฉะนั้นถึงจะมีชุมชนมุสลิมกระจายอยู่ตามเมืองท่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 แล้ว ศาสนาอิสลามก็ยังหาได้แพร่หลายแก่ประชาชนในภูมิภาคนี้ไม่ ซึ่งสภาพการณ์ที่จะเอื้ออำนวยแก่การขยายตัวของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ สืบเนื่อง และซับซ้อนกัน โดยสรุปปัจจัยที่สำคัญได้ดังนี้

         1) การขยายตัวของเรือสำเภาจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และการเข้ามามีส่วนในการค้าโดยตรงของพ่อค้าจีนนับตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17

            2) ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ศาสนาอิสลามได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอินเดีย โดยเฉพาะในแถบ      คุชราตและฝั่งแคมเบย์ ซึ่งชาวอินเดียจากแถบนี้ได้เดินทางติดต่อค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานาน การกลายเป็นมุสลิมของพ่อค้าเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนศาสนาของเมืองท่าในคาบสมุทรมลายูและสุมาตราเป็นอันมาก

             3) ความเสื่อมของอาณาจักรฮินดูหรือมหายานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภาพโดย the Standard

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ศาสนาอิสลามในภาคใต้” (หน้า 7393-7410). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้                                       เล่มที่ 15. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.  

แชร์ 3390 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้