หน้าแรก ย้อนกลับ ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู
ที่มา: https://www.flickr.com/
ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู
วรรณพิชชา โตะสัน
ซาปิน (Zapin) มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของหมู่ชาวเชื้อสายมลายู เป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยสามารถพบการแสดงนี้ได้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนประเทศที่พบการแสดงนี้ได้มากที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย ซาปินเป็นการเต้นรำประกอบจังหวะเพลงบรรเลงคล้ายกับรำวงของไทยภาคกลาง แต่ซาปินเน้นจังหวะการใช้เท้าและลีลามากกว่าการใช้ท่ารำ แต่ละท่ามีการพลิกแพลงปลายเท้าที่สวยงามพลิ้วให้เข้าจังหวะกับดนตรี การแสดงซาปินมีผู้แสดง 12 คน แบ่งเป็นหญิงชายฝ่ายละ 6 คน จับคู่เต้นกันเป็นกลุ่ม และใช้เครื่องดนตรีเพียงแค่ไม่กี่ชิ้น ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบการเต้นใหม่ ๆ ต่างจากรูปแบบเดิมมาก เช่นเดิมมีท่าเต้นรำเพียงท่าเดียว ก็ได้คิดประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายท่า นอกจากนี้ยังมีไวโอลินเข้ามาประกอบในการทำเสียงดนตรีด้วย แต่จังหวะ ทำนองเพลง และการแต่งกายยังคงความเป็นเอกลักษณ์ตามรูปแบบเดิม
ประวัติความเป็นมา
แนวคิดจุดกำเนิดของซาปิน
แนวคิดแรก คือ เกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมของพ่อค้าชาวสเปนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 เมื่อครั้งที่ชาวสเปนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับบรรดาหัวเมืองชาวมลายู โดยเฉพาะเมืองปัตตานีอันเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง แล้วเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองเดิม จึงก่อให้เกิดการแสดงออกด้านศิลปะการเต้นรำในลีลาใหม่ที่เรียกว่าการเต้นรำแบบสเปน แล้วค่อย ๆ เรียกเพี้ยนไปเป็นซาปิน
แนวคิดที่ 2 คือ ประเทศสเปนนำเข้ามาในประเทศฟิลิปปินส์ก่อน และเมื่อชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน จึงทำให้นาฎศิลป์การเต้นซาปินเข้ามาในดินแดนมลายู
แนวคิดที่ 3 คือ การเต้นซาปินอาจเป็นศิลปะในราชสำนักของบรรดาสุลต่านตามหัวเมืองมลายูมาก่อน โดยที่ ราชสำนักได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวสเปนที่มาจากกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่เคยติดต่อค้าขายกับประเทศสเปน บรรดาพ่อค้าอาหรับเหล่านี้ได้นำเอาศิลปะการเต้นระบำของชาวสเปนมาเผยแพร่ จึงเกิดการผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองจนกลายมาเป็นซาปิน
การแต่งกาย
มีทั้งระดับในราชสำนักลงมาถึงระดับชาวบ้าน ส่วนมากเป็นการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสต่าง ๆ แต่ยังคงลักษณะเด่นบางอย่างไว้นั่นคือความมิดชิด ลักษณะการแต่งกายของซาปินส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องใหญ่หรือการแต่งกายแบบชุดราชสำนักเนื่องจากการเต้นซาปินนั้นจัดเป็นศิลปะชั้นสูง นิยมแสดงใน ราชสำนักของสุลต่านแถบหัวเมืองมลายู ใช้แสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ดังนั้นการแต่งกายจึงเน้นความสวยงามและความหรูหรา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ชาย
กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวคอปิด ติดกระดุม 3 เม็ด เรียกว่า จือโระบรางอ
ผ้านุ่งทับกางเกงสั้นเหนือเข่า เรียกว่า ผ้าซอแกะ
เข็มขัดทับกางเกงและผ้าซอแกะ เรียกว่า เปินแนะ
หมวก ตัดเย็บด้วยผ้า เรียกว่า ซะตางัน
ผู้หญิง
นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า จีบหน้านาง
สวมเสื้อเข้ารูปแขนกระบอก ตัวยาวคลุมสะโพก เรียกว่า ปันดง หรือ ปันนัง
คลุมผ้าสไบ เรียกว่า กาเฮงสะบา
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง
ไวโอลิน
รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก
ฆ้อง/โหม่ง
แมนโดลิน
แอดคอเดียน
ที่มา: https://shorturl.asia/gkqex
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ซาปิน. https://shorturl.asia/gkqexปัณณภัทร. (2558). เราคืออาเซียน บรูไนดารุสซาลาม. (พิมพ์ครั้งที่ 4). อมรินทร์คอมมิกส์.DCM Walailak University. (ม.ป.ป.). ซาปิน. https://shorturl.asia/uEINb
แชร์ 9813 ผู้ชม