รองเง็ง

หน้าแรก ย้อนกลับ รองเง็ง

รองเง็ง

 

รองเง็ง

 

                                                                                                                                            สำนักศิลปวัฒนธรรมศรีวิชัย                                                                                                                      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

 

            รองเง็ง1 ศิลปะการแสดงพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์มลายูที่สื่อถึงการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว นิยมแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดจนพื้นที่ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมทางด้านการแสดงพื้นบ้านในภาคพื้นคาบสมุทรมลายูที่นิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการแสดงที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ขึ้นอยู่กับบริบท ค่านิยม และสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ ในอดีตรองเง็งเป็นสื่อพื้นบ้านเพื่อให้กลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมได้ร่วมปฎิสัมพันธ์ จึงสะท้อนสู่รูปแบบการแสดงที่มีกลิ่นอายของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น เครื่องดนตรี ท่วงทำนองเพลง การแต่งกาย ท่วงท่าการแสดง และวรรณกรรม ซึ่งในอดีตการละเล่นรองเง็งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ นักดนตรี นักแสดง และผู้ขับกลอน หรือบทปันตุน (Puntun) ซึ่งเป็นบทกวีมลายูโบราณที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิต ธรรมชาติ และความรัก เป็นบทกลอนที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบกัน พร้อมการบรรเลงดนตรีและการเต้นรองเง็ง ซึ่งผู้ชมสามารถที่จะเข้ามาร่วมร้อง ร่วมเต้น หรือร่ายรำได้อีกด้วย

            ดังปรากฏหลักฐานในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อรัตนโกสินทรศก    115 เรื่อง “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ขณะพระองค์เสด็จตำบลจิสรูปัง เมืองการุต โดยมีเนื้อความว่า ออกไปเดินข้างนอกต่อไปดูเขาเล่น “รองเกง” กันเป็นหมู่แรกสองวง ทีหลังแยกออกเป็น 3 วง มีผู้หญิงวงละ 3 คน มีพิณพาทย์สำรับหนึ่ง คือ รนาทราง 1 ซอคัน 1 ฆ้องราง 1 ฆ้องใบใหญ่ 1 บ้าง 2 ใบบ้าง กลองรูปร่างเหมือนกลองชนะแต่อ้วนกว่าสักหน่อยหนึ่ง มีสองหน้าเล็ก ๆ อัน 1 ผู้หญิงร้องรับพิณพาทย์ ผู้ชายเข้ารำเป็นคู่แต่ผลัดเปลี่ยนกัน ดูท่าทางเป็นหนีไล่กันอย่างไรอยู่ ผู้หญิงไม่ใคร่จะรำเป็นแต่ร้องมากกว่า แต่ผู้ชายรำคล้าย ๆ ท่าค้างคาวกินผักบุ้ง ที่ตลกรำมีตะเกียงปักอยู่กลางวงดวงหนึ่ง รำเวียนไปรอบ ๆ ตะเกียง พอรัวกลองผู้ชายเข้าไปจูบผู้หญิง ๆ ก็นิ่งเฉย ไม่เห็นบิดเบือนปัดป้องอันใด (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2555, น. 107)

         จากบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวทำให้เข้าใจถึงลักษณะของการแสดงรองเง็งในอดีต และปรากฏหลักฐานของ  การแสดงรองเง็งในคาบสมุทรมลายูมาตั้งแต่สมัย ร.5 จากนั้นการแสดงรองเง็งได้รับความนิยม และแพร่หลายเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

                สำหรับรองเง็งในประเทศไทย นักวิชาการสรุปรูปแบบการแสดงออกเป็น 3 ประเภท คือ

              1. รองเง็งราชสำนัก นิยมแสดงกันในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นการบรรเลงดนตรี          ประกอบการแสดง ไม่มีการขับร้อง แต่จะมีความหลากหลายเรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง  

              2. รองเง็งชาวเล นิยมแสดงกันในกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน        โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต เป็นการแสดงที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแสดงแบบดั้งเดิม คือ มีการร้องโดยใช้บทปันตุนภาษามลายู การเต้น-รำ และการบรรเลงดนตรี 

              3. รองเง็งตันหยง นิยมแสดงกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง      พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เป็นการแสดงที่สืบทอดมาจากรองเง็งชาวเล แต่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องภาษาที่ใช้ในการขับร้องจากภาษามลายูเป็นภาษาถิ่นใต้ 

              ซึ่งในพื้นที่เมืองปัตตานีสมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ประมาณปี พ.ศ. 2439-2449  พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดี เจ้าเมืองยะหริ่ง ประสงค์ให้ข้าราชบริพารที่เป็นหญิงสาวฝึกเต้นรองเง็ง เพื่อใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือเทศกาลงานรื่นเริงต่าง ๆ จากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484-2488 ส่งผลให้การแสดงรองเง็งเสื่อมความนิยมลง

          ต่อมาประมาณประมาณปี พ.ศ. 2490 ขุนจารุวิเศษศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้น ท่านมี  แนวคิดในการสืบสานด้วยเกรงว่าอาจสูญหายไปจากเมืองปัตตานี โดยรื้อฟื้นการแสดงรองเง็งแบบดั้งเดิม ปรับปรุงท่าเต้นรองเง็งโดยมีเค้าโครงจากของเดิม พร้อมทั้งนำท่านาฏศิลป์ไทยมาประยุกต์ แต่ไม่ปรากฏการร้องปันตุนโต้ตอบกันเพราะขาดช่วงในการสืบสาน และผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบในการร้องและด้นกลอนสดนั้นหาได้ยาก โดยกำหนดให้เป็นท่าเต้นมาตรฐาน ประมาณ 10 เพลง ได้แก่ เพลงลาฆูดูวอ เลนัง ปูโจ๊ะปีซัง มะอีนังลามา มะอีนังชวา อาเนาะดิดิ๊ จินตาซายัง โดนนังซายัง มาสแมเราะห์ และบุหงารำไป เพื่อใช้เป็นแบบแผนในการถ่ายทอดที่ฝึกหัดได้ง่าย และสามารถนำไปถ่ายทอดแก่บุคคลอื่นที่สนใจได้ บทบาทของท่านขุนจารุวิเศษศึกษากร นอกเหนือจากการรื้อฟื้นการแสดงรองเง็ง ท่านยังเขียนถึงข้อสันนิษฐาน และความหมายของคำว่า “รองเง็ง” ว่า

          “คำว่ารองเง็งไม่ใช่คำในภาษามลายู และไม่ทราบว่าเป็นภาษาใด แต่สันนิษฐานว่าคงมาจากเสียงของเครื่องดนตรีใช้บรรเลงนั่นเอง ซึ่งแต่ก่อนมีกลองรำมะนากับฆ้อง ซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็กหนา ๆ เสียงกลองรำมะนาดัง ก็อง ก็อง และเสียงตีฆ้องเหล็ก ดัง แง็ง  แง็ง ก็เลยเรียกการละเล่นนี้ตามเสียงของเครื่องดนตรีที่ได้ยิน คือ ก็องแง็ง แต่คำว่า ก็อง ในภาษามลายูแปลว่า บ้าๆ บอๆ ซึ่งมีความหมายไม่ค่อยเป็นมงคลนัก จึงแกล้งออกเสียงให้เพี้ยนไปเป็นรอง และลิ้นชาวมลายูไม่สันทัดในการออกเสียงแอ จึงออกเสียงแง็ง เป็น เง็ง ก็เลยกลายเป็นรองเง็ง” (สุภา วัชรสุขุม, 2530, น.13)

               ซึ่งต่อมาเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ข้าราชการ พ่อค้า และคหบดี ทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน        และชาวไทยมุสลิมในเมืองปัตตานี และในยุคนี้มีการนำแอกคอร์เดียน หรือหีบเพลงชัก มาร่วมบรรเลงในวงดนตรีรองเง็งเพิ่มความไพเราะ และสร้างความสนุกสนานให้กับนักแสดงมากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าการแสดงรองเง็งไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มชาวไทยมุสลิม แต่ยังปรากฏในกลุ่มชาวไทยพุทธ และกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และต่างมีบทบาทร่วมในการสืบสาน และอนุรักษ์การแสดงรองเง็ง

 

โอกาสในการแสดง

             โอกาสในการแสดงรองเง็งนั้น ในอดีตโดยเฉพาะในราชสำนักจะใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือ    สำหรับแสดงในงานมงคล งานแต่งงาน และงานรื่นเริง เป็นต้น และในระดับชาวบ้านนั้นรองเง็งคือการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างความปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นคณะมะโย่งได้นำรองเง็งมาใช้เป็นการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิงและความสนุกสนาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคณะอีกด้วย ในช่วงสี่สิบผ่านมาจนถึงปัจจุบันโอกาสการแสดงรองเง็งได้มีการปรับเปลี่ยนจากการละเล่นมาเป็นการแสดงพื้นบ้านที่สอดรับและสนับสนุนกับนโยบายของภาครัฐทั้งในการอนุรักษ์ และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในการแสดงถวายหน้าพระที่นั่งและหน้าพระพักตร์เมื่อคราวเสร็จทรงงานในพื้นที่ภาคใต้   

 

    

ภาพแสดงรองเง็งคณะอัสลีมาลาแสดงรองเง็งถวายหน้าพระพักตร์

สมเด็จพระกนิษฐาธิรราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560

ที่มา : นายอภิชาติ  คัญทะชา

 

ภาพการแสดงรองเง็งในงานมหกรรม วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ 2560

ที่มา : นายอภิชาติ  คัญทะชา

 

การแต่งกายนักแสดง

               ผู้เต้นรองเง็งจะแต่งกายแบบพื้นเมือง โดยผู้ชาย สวมหมวกหนีบไม่มีปีกเรียกว่า “ซาเก๊าะลีป๊ะ” สวมเสื้อ        คอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกงเรียกว่า “ตือโล๊ะบลางอ” นุ่งกางเกงเรียกว่า “ซาลูวากากีปันยัง” ใช้โสร่งแคบ ๆ ยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงเรียกว่า “ผ้าสลีแน” สำหรับผู้หญิงใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอกเรียกเสื้อ “บานง” ลักษณะเสื้อจะเป็นแบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกและติดกระดุมเป็นระยะ สีเสื้อนิยมสีโทนเดียวกับเสื้อฝ่ายชายและเป็นสีเดียวกับ “ผ้าซาเลนดัง” สวมผ้านุ่งลายพื้นเมืองสวยงาม นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับศีรษะเรียกว่า “ปิ่นซัมเป็ง หรือดอกไม้ไหว” และ “ดอกไม้ทัดผม”

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เครื่องแต่งกายรองเง็ง

ภาพแสดงองค์ประกอบเครื่องแต่งกายนักแสดงรองเง็ง

ที่มา : นายอภิชาติ  คัญทะชา

 

เครื่องดนตรี

            เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงรองเง็งเป็นเครื่องดนตรีที่สื่อถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์  ที่เข้ามาปฏิสัมพันธุ์กับกลุ่มชนมลายูในอดีต ประกอบด้วย ไวโอลิน แมนโดลิน แอคคอร์เดียน รำมะนาใหญ่  รำมะนาเล็ก ฆ้องมลายู มาราคัสหรือเชคเกอร์  และแทมบูรีน

 

  

    ไวโอลิน                                แมนโดลิน                           แอคคอร์เดียน

 

  

   รำมะนาใหญ่                         รำมะนาเล็ก                           ฆ้องมลายู

 

  

  มาราคัส                                เชคเกอร์                             แทมบูรีน

 

          ปัจจุบันการแสดงรองเง็งปัตตานีได้มีการสืบสานต่อเนื่องทั้งในกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน และสถานศึกษา ทั้งประเภทรองเง็งแบบดั้งเดิม และระบำพื้นบ้าน โดยศิลปินซึ่งเป็นศิษย์ของท่านขุนจารุวิเศษศึกษากร ทั้งที่เป็นข้าราชการครู กลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มศิลปินนักดนตรีรองเง็ง ซึ่งเป็นศิษย์ของอาจารย์ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2536 (ดนตรีพื้นบ้านรองเง็ง) ต่างมีบทบาทในการร่วมอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันเปรียบเสมือนวัฒนธรรมร่วมที่สื่อถึงความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ให้คงอยู่ในผืนแผ่นดินภาคใต้และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป

 

 

 1 อ้างอิงข้อมูลจากจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.  (2555).  ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน.                                                  กรุงเทพฯ : แสงดาว.                                 

  ภา  วัชรสุขุม. (2530). รองเง็ง : นาฎศิลป์พื้นเมืองภาคใต้. กรุงเทพฯ : บริษัทลิฟวิ่ง จำกัด.

แชร์ 5450 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้