ศ. ศรีอู่ทอง คณะเพลงบอกคนรุ่นเก่ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่

หน้าแรก ย้อนกลับ ศ. ศรีอู่ทอง คณะเพลงบอกคนรุ่นเก่ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่

ศ. ศรีอู่ทอง คณะเพลงบอกคนรุ่นเก่ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่

ที่มา: https://rb.gy/vuznpp

ศ. ศรีอู่ทอง

คณะเพลงบอกคนรุ่นเก่ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่

จุฬาลักษณ์ ไชยดี

 

        ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้เข้าถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยปลายนิ้ว เมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมมีอีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มเลือนหายไป อย่างเช่น ศิลปวัฒนธรรมที่สืบสานมาอย่างยาวนาน หากไม่มีผู้คนสืบสานต่อ ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นก็จะจางหายไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงความทรงจำ แต่ถ้าหากมีเยาวชนคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะสืบสานต่อ นำพาศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นให้ทันสมัยไปตามยุค ศิลปวัฒนธรรมก็จะอยู่คู่กับเราไปอีกยาวนาน 

        คณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทอง ก่อตั้งโดยเพลงบอกสมใจ ศรีอู่ทอง หรือ นายสมใจ อู่ทอง ผู้ซึ่งเป็นศิลปินพื้นบ้านยอดเยี่ยมประจำภาคใต้ รางวัลพระพิฆเนศทองราชทาน ปัจจุบันมีลูกศิษย์ภายใต้ชื่อคณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทอง ประมาณ 5-10 คน โดยคณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทอง จะรับงานแสดงตามงานบุญต่าง ๆ งานฌาปนกิจศพ งานเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น 

 

ที่มา: https://rb.gy/vuznpp

 

        เพลงบอกอภิสิทธิ์ ศรีอู่ทอง หรือ นายอภิสิทธิ์ มากสังข์ เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของคณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทอง ปัจจุบันอายุ 25 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  ผู้มากความสามารถกวาดรางวัลการแข่งขันเพลงบอกมาได้มากมาย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวเขาก่อนที่จะมาเป็นเพลงบอกอภิสิทธิ์ ศ.ศรีอู่ทอง และมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อวัฒนธรรมใต้อย่างเพลงบอก ไว้ดังนี้

Q : จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นเพลงบอกอภิสิทธิ์ ศ.ศรีอู่ทอง ?

        เพลงบอกอภิสิทธิ์ : ย้อนไปสมัยผมเรียนมัธยมปลาย ตอนนั้นทางโรงเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันของศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นบ้านภาคใต้ครับ ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการส่งนักเรียนไปแข่งขันเพลงบอกทุก ๆ ปี แต่มีอยู่ปีหนึ่ง ไม่มีนักเรียนลงแข่งขัน ทางโรงเรียนจึงต้องเค้นความสามารถของนักเรียนคนใหม่ ๆ ดังนั้นทางคุณครูจึงเชิญเพลงบอกสมใจ ศรีอู่ทอง และเพลงบอกลูกศิษย์ของเพลงบอกดอกสร้อย เสียงเสนาะ มาฝึกซ้อมให้ครับ ณ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับเพลงบอกสมใจ ศรีอู่ทอง และผมได้มีโอกาสลงแข่งขันเพลงบอกของศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ แต่ผมไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้นผมจึงพยายามฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ จนในที่สุดผมได้มีโอกาสไปแข่งขันเพลงบอกชิงโล่พระราชทานที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งผมก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันนั้น และเริ่มมีผลงานความสำเร็จจากเพลงบอกเรื่อยมา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มาอยู่คณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทองครับ

Q : มุมมองการอนุรักษ์วัฒนธรรมใต้อย่างเพลงบอกเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ?

        เพลงบอกอภิสิทธิ์ : ผมในฐานะที่เป็นเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งเหมือนกัน และผมก็เคยนั่งคิดร่วมกับอาจารย์สมใจ ว่าจะทำอย่างไรดีให้เพลงบอกเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้น แต่ในเวลาที่กลับกันเวลาที่ทางเราลงคลิปเพลงบอกโบราณใน Tiktok กลับมีคนสนใจเป็นอย่างมากและแสดงความคิดเห็นประมาณว่า “คิดถึงผู้เฒ่าจัง, คิดถึงปู่เลยครับ, ฟังแล้วคิดถึงบ้านเลยค่ะ” ประมาณนี้ครับ แต่เราก็มีแนวคิดที่ว่าจะทำเป็นเพลงบอกทรงเครื่อง ก็คือการเอาเครื่องดนตรีสากลมาบรรเลงคู่กับฉิ่งหรือกรับครับ ซึ่งปัจจุบันเพลงบอกในจังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มเหลือน้อยแล้ว อีกทั้งศิลปินแห่งชาติด้านเพลงบอกที่มีเพียงคนเดียว คือ เพลงบอกดอกสร้อย เสียงเสนาะ หรือนายสร้อย ดำแจ่ม และตอนนี้ท่านก็ได้เสียชีวิตไปแล้วครับ ผมในฐานะศิลปินคนรุ่นใหม่ ก็มีความตั้งใจที่จะสานต่อและอนุรักษ์เพลงบอกไว้ให้อยู่คู่ให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ต่อไปครับ

        อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ ถ้ามีใจรักในสิ่งเดียวกัน ก็สามารถช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดต่อ ๆ ไปได้

        สามารถติดตามผลงานและติดต่อการแสดงของคณะเพลงบอก ศ.ศรีอู่ทองได้ที่เพจ Facebook เพลงบอก ศ.ศรีอู่ทอง และ YouTube ลิกอร์ถิ่นใต้ channel

 

อภิสิทธิ์ มากสังข์ ( สัมภาษณ์, 14 มกราคม 2566 )

แชร์ 1448 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้