การเชิดสิงโต
วรเกียรติ เอ่งฉ้วน
เมื่อพูดถึงประเทศสิงคโปร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงข้าวมันไก่แสนอร่อยและเมอร์ไลออน สิงโตพ่นน้ำแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศสิงคโปร์ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นมากกว่านั้น คือ ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์รวมความเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งในครั้งนี้ผู้เขียนจะพูดถึง การแสดงของวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก นั้นคือ การเชิดสิงโต นั้นเอง
“ตุ้งแช่ ตุ้งแช่ ตุ้งแช่ ๆ ๆ” เสียงดนตรีคุ้นหูที่บ่งบอกถึงกลิ่นอายบรรยากาศความสนุกสนานของลูกหลานชาวจีนกำลังเริ่มต้นขึ้น เป็นเสียงดนตรีประกอบการแสดงการเชิดสิงโต ซึ่งเป็นประเพณีการแสดง การเต้นรำอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมจีน เป็นสีสันและความสนุกสนานที่ดูแล้วเพลิดเพลินอย่างที่สุด ในบรรยากาศความเป็นวัฒนธรรมจีนที่สุดแสนจะครื้นเครง การเชิดสิงโต เป็นการแสดงที่เคลื่อนไหวท่าทางคล้ายกับสิงโต จะมีผู้แสดง 2 คน ต่อสิงโต 1 ตัว ส่วมชุดและหน้ากากที่คล้ายกับสิงโตในรูปแบบของความเป็นจีน การแสดงเชิดสิงโตจะแสดงเพื่อความสนุกสนาน โชว์ศิลปะการป้องกันตัวที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เป็นการแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล การให้โชคให้ลาภแก่ผู้ที่รับชม การแสดงเชิดสิงโตจะนิยมแสดงในช่วงเทศกาลหรือโอกาสที่สำคัญ ๆ ของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน การเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ พิธีสมรส และเทศกาลถือศีลกินผัก เป็นต้น
การเชิดสิงโต จะเชิดไปพร้อม ๆ กับเสียงกลองที่ดังสนั่น ประกอบกับการจุดประทัดไปด้วย บ้างก็แสดงโชว์กระโดดบนแท่นเหล็ก ดูแล้วน่าหวาดเสียว บ้างก็เดินแสดงไปตามท้องถนน มีการกระโดดโลดเต้น หยอกล้อผู้คนที่รับชม การแสดงเชิดสิงโต หากคนเชิด เชิดได้สนุก สิงโตตัวนั้นจะดูน่ารักราวกับว่ามีชีวิตจริง ๆ จนบางครั้งผู้ชมก็ให้เงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน โดยสิงโตจะแลบลิ้นออกมา แล้วให้ผู้ชมวางเงินหรือสิ่งของบนลิ้นสิงโต ถือว่าการให้และรับเป็นอันเสร็จสิ้น
ประเภทของสิงโตมี 2 ประเภท คือ สิงโตเหนือและสิงโตใต้ โดยการเชิดสิงโตในประเทศสิงคโปร์จะมีเอกลักษณ์อยู่ที่การสวมใส่เครื่องแต่งกายและหัวสิงโตใต้ ซึ่งมีลักษณะหน้าผากต่ำ เขาโค้งมน มีจะงอยปากเหมือนเป็ด และมีริมฝีปากแบน แต่จะนำรูปแบบการแสดงของสิงโตเหนือที่มีความคล่องแคล่ว มีความสุข สนุกสนาน มีการเคลื่อนไหวเสมือนจริง มาผสมผสานในโชว์การแสดง จะเห็นได้ว่าการแสดงเชิดสิงโตนั้นเป็นวัฒนธรรมของชนชาวจีนที่แพร่หลายไปอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย และยังเป็นการแสดงที่มีส่วนร่วมกับผู้ชมได้อย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมและเพลิดเพลินไปกับการแสดงเชิดสิงโต สร้างความประทับใจ เป็นที่จดจำของผู้ชมและอยากจะมารับชมอีกในภายภาคหน้า
ธัญธัช วิภัติภูมิประเทศ. (2558). การเชิดสิงโต: การแสดงในวัฒนธรรมจีนและกีฬาระดับนานาชาติ. วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, 7(2), 81-93.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2563). การเชิดสิงโต. https://shorturl.asia/jpwDTสุธาสินี บุญเกิด. (2559). สิงคโปร์ – ศิลปะการแสดง. https://shorturl.asia/CdoHO
แชร์ 2089 ผู้ชม