หน้าแรก ย้อนกลับ ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้
ภาพโดย สมุดโคจร Samudkojorn
ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้
ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้1 มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด คือ ถือเอาจังหวะเป็นเอก ส่วนทำนองเพลงเป็นเพียงช่วยสอดเสริม เครื่องดนตรีที่เป็นของพื้นบ้านพื้นเมืองจริง ๆ จึงเป็นเครื่องตีให้จังหวะแทบทั้งสิ้น การบรรเลงก็มีขึ้นเพื่อประกอบการละเล่นพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นการบรรเลงหรือประโคมล้วน ๆ มีแต่กาหลอ ซึ่งประโคมในงานศพ และการประโคม โพน ฆ้อง และกลองในประเพณีลากพระ
ลีลาของดนตรีพื้นเมืองภาคใต้มีจังหวะกระชั้นหนักแน่นเฉียบขาดรุกเร้ามากกว่าความอ่อนหวาน เนิบช้า ลีลา เช่นนี้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยทั่วไปของชาวใต้ที่บึกบึน หนักแน่นเด็ดขาดและค่อนข้างแข็งกร้าว
เครื่องตีที่ใช้เป็นหลักมี ทับ กลอง โพน ปืด โหม่ง ฆ้อง ฉิ่ง กรับ และแตระ (คล้ายกรับพวง) เครื่องตีที่รับมาจากมลายูคือ ทน (กลองแขก) รำมะนา ส่วนเครื่องตีที่นิยมกันเฉพาะกลุ่มไทยมุสลิมมีกลองบานอ กรือโต๊ะ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเครื่องตีแข่งขันกันเพื่อนันทนาการโดยตรง จึงจัดเป็นดนตรีโดยอนุโลม
เครื่องดีดสีที่เป็นของพื้นเมืองแท้ ๆ ไม่มี นอกจากดนตรีของพวกซาไกซึ่งทำขึ้นจากปล้องไม้ไผ่สำหรับดีด ที่รับ มาจากมลายู คือ ระบับ (Rebab) หรือรือบะ คล้ายซอสามสาย แต่มีเพียง 2 สาย นิยมใช้ในวงดนตรีมะโย่ง วายังยาวอ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีซอที่รับไปจากภาคกลาง ใช้ประกอบดนตรีหนังตะลุงและโนรา
เครื่องเป่ามีแต่ปี่ ซึ่งขนาดใกล้เคียงกับปี่ในมากที่สุด ใช้ประกอบการเล่นหนังตะลุงและโนราเป็นสำคัญ จากคำบอกเล่าว่าสมัยก่อนการเป่าปี่จะเน้นที่จังหวะมากกว่าทำนอง คนเป่าปี่ต้องคอยฟังเสียงทับเสียงกลอง ต้องเป่าทอดเสียงหรือหดเสียงตามจังหวะทับและกลอง และจะหยุดเมื่อใดก็ได้แล้วแต่เสียงทับกำหนด ไม่พบทำนองเพลงที่เป็นของพื้นเมืองแท้ ๆ ที่มีอยู่ล้วนเป็นเพลงไทยเดิมอย่างภาคกลาง และเป็นเพียงการสอดเสริมการเป่าปี่เป็นทำนองเพลง จึงอาจเกิดขึ้นชั้นหลัง มีอีกชนิดหนึ่ง คือ ปีห้อหรือปี่อ้อ ซึ่งรับมาจากมลายู ใช้ประกอบการละเล่นที่รับมาจากมลายู เช่น สิละ กาหลอ เป็นต้น
อันที่จริงเครื่องเป่าส่งสัญญาณหรือเป่าเลียนเสียงสัตว์ในวัฒนธรรมของชาวใต้มีอยู่ไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็น เครื่องเป่าที่ไม่มีรูสำหรับไล่เสียงให้แตกต่างกัน เพียงแต่ใช้วิธีผ่อนลมหนักเบาและสั้นยาวก็สามารถเลียน เสียงสัตว์ต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิด โดยใช้ลำไม้ไผ่ที่มีรูปแบบและขนาดที่ต่างกัน อาศัยความชำนาญของผู้เป่าเป็นสำคัญ โดยสามารถใช้เครื่องเป่าเหล่านั้นทำเสียงหลอกนกและสัตว์แต่ละชนิดให้สำคัญผิดว่าเป็นเสียงร้องเรียกของคู่ของมันจนสามารถจับนกและสัตว์นั้น ๆ ได้ ซึ่งเครื่องเป่าเหล่านี้พวกพรานป่าจะมีความชำนาญทั้งในแง่การทำและการใช้ ทั้งนี้สรุปได้ว่าการเป่าเครื่องเป่าของชาวภาคใต้เน้นให้เป็นภาษาคนหรือเสียงนกเสียงสัตว์มากกว่าจะเป่าให้เป็นเพลงที่มีจังหวะและทำนองตายตัว
นอกจากนี้ ชื่อเพลงเท่าที่ปรากฏมักตั้งตามลีลาของเครื่องตี เช่น เพลงที่ใช้ประกอบการเล่นโนรามี “เพลงหน้าแตระ” และ “เพลงร่ายหน้าแตระ” เป็นการเกริ่นขับที่ใช้เสียงแตระเป็นหลัก “เพลงทับ เพลงโทน” มีการขับร้องและตีท่าประกอบบทร้องใช้จังหวะทับเป็นหลัก “เพลงปี่” ใช้เสียงปี่เป็นหลัก แต่ก็ใช้ทับและกลองเป็นเครื่องควบคุมลีลา หรือเพลงโหมโรงของหนังตะลุงซึ่งของดั้งเดิมมีอยู่ 12 เพลง เรียกชื่อต่างกันตามลีลานั้น ๆ แต่ล้วนเอาจังหวะทับเป็นหลัก จึงเรียกว่า “เพลงหน้าทับ” ในระยะหลังจึงมีเพลงโหมโรงที่เรียกชื่อตามทำนองของเพลงไทยเดิม เช่น เพลงพัดชา เพลงลมพัดชายเขา เป็นต้น ซึ่งชุดเพลงโหมโรงที่หนังตะลุงแต่ละคณะใช้อยู่จะไม่เหมือนกัน
การเทียบเสียงในการร้องขับของภาคกลางมักเทียบกับเครื่องดีดสีหรือเครื่องเป่า แต่ของภาคใต้จะเทียบกับ เครื่องตี คือ เทียบกับเสียงโหม่ง นักแสดงที่ต้องร้องรับต้องพยายามปรับเสียงของตนให้มีเสียงใสกลมกลืนกับเสียงโหม่ง ถ้าเหมาะกันดีจะเรียกว่า“เสียงเข้าโหม่ง” เหตุนี้นายโรงโนราหรือหนังตะลุงส่วนใหญ่จะต้องสรรหาหรือว่าจ้างให้หล่อโหม่งให้ได้เสียงเหมาะกับสุ่มเสียงของตน
การเล่นดนตรีของภาคใต้ไม่มีการเล่นเดี่ยว จะต้องเล่นประกอบกันเป็นวงหรือไม่ก็ต้องมีการร้องขับหรือร่ายรำประกอบ เช่น เล่นเพลงบอก โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า โต๊ะครึม เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นการตีแข่งขันกัน เช่น การแข่งโพน (กลองเพล) แข่งกลองบานอ กรือโต๊ะ ปืด เป็นต้น การสำเริงอารมณ์เฉพาะตนมีแต่การขับบทกลอนหรือผิวปาก การเป่าปี่หรือขลุ่ยเล่นคนเดียวอย่างชาวภาคอื่นเป่านั้นจะพบก็แต่เฉพาะการฝึกซ้อมหรือการทบทวนเท่านั้น จึงนับได้ว่าการดนตรีของภาคใต้เป็นสื่อประสานความสามัคคีของชาวบ้านประเภทหนึ่งเพราะต้องเล่นประสมวง
1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้” (หน้า 2333-2342). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 39566 ผู้ชม