ชิงเปรต

หน้าแรก ย้อนกลับ ชิงเปรต

ชิงเปรต

 

ชิงเปรต

 

        ชิงเปรต1 เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวภาคใต้ โดยทำร้าน จัดหฺมฺรับอาหารคาวหวาน (ดูหฺมฺรับ) ไปวางเพื่ออุทิศส่วนกุศลส่งไปให้เปรตชน (ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว) หลังจากวางหฺมฺรับลงบนร้านเปรต2 แล้ว พวกลูกหลานก็จะเข้าแย่งอาหารนั้นแทน จึงเรียกว่า “ชิงเปรต”

       พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวไว้ในสารานุกรมราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน ดังความตอนหนึ่งว่า

       “เรื่องชิงเปรตนี้ ดูไม่ผิดกับอะไรเรื่องทิ้งกระจาดของจีนที่เขาทำในกลางเดือน 7 ของเขา ซึ่งตรงกับเดือน 9 ของไทย คือ เขาปลูกเป็นร้านค้ายกพื้นสูง นำเอาขนมผลไม้เป็นกระจาดขึ้นไปไว้บนนั้น นอกจากนี้ยังมีของมีราคา เช่น เสื้อผ้า คลุมบนเครื่องสานไม้ไผ่ คล้ายตะกร้า เมื่อถึงเวลามีเจ้าหน้าที่ 2-3 คน ขึ้นไปประจำอยู่บนนั้นแล้วจับโยนสิ่งของบนร้านลงมาข้างล่างให้แย่งชิงกัน เดิมเห็นจะโยนทิ้งลงมาทั้งกระจาดจึงเรียกชื่อว่าอย่างนั้น ต่อมาใช้หยิบของในกระจาดบนร้านทิ้งลงมาเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้าโดยส่วนมากเป็นผ้าขาวม้า เขาทิ้งลงมาทั้งตะกร้าที่เอาผ้าติดไว้ ผลไม้และขนมโดยมากเป็นขนมเข่งที่ทิ้งลงมานั้นมีแต่พวกเด็ก ๆ และผู้หญิงแย่งกัน ส่วนผู้ชายไม่ใคร่เพราะคอยแย่งเสื้อผ้าดีกว่าลูกไม้ และขนมที่ทิ้งลงมากว่าจะแย่งเอาได้ก็เละเทะบ้างเป็นธรรมดา แต่เสื้อผ้าที่ทิ้งลงมานั้นแย่งกันจนขาดไม่มีชิ้นดี บางทีคนแย่งไม่ทันใจปีนร้านขึ้นไปแย่งกันบนนั้น เจ้าหน้าที่มีน้อยห้ามไม่ไหว คราวนี้ชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ ถึงกับร้านทานน้ำหนักไม่ไหวพังลงมาก็เคยมี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นทิ้งสลากสำหรับเสื้อผ้า ส่วนของอื่นยังคงทิ้งลงมาให้แย่งกัน การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่วหรือสารทกลางปีของเขา เป็นการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คือทำบุญให้แก่ญาติที่ตายไป” การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติเท่านั้น ส่วนการตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนั้นแล้ว วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็ต่างกันด้วย

      ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าให้ฟังและยืนยันว่าการชิงเปรต ไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามถือว่าเป็นการบุญด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อกันว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

         การตั้งเปรตและชิงเปรตจะกระทำในวันที่ยกหฺมฺรับไปวัดไม่ว่าจะเป็นวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือน 10 ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ค่อยขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู (ขนมเมซำ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา (ดู ขนมเดือนสิบ) นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย และธูปเทียน นำลงจัดในหฺมฺรับ โดยเอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหฺมฺรับที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บนร้านเปรตซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า “หลาเปรต” บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่งพร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนาจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อจะให้มีผลดก นอกจากมีการจัดทำร้านเปรตไว้ดังกล่าวแล้ว ยังมีร้านเปรตอีกลักษณะหนึ่งคือจัดสร้างขึ้นในบริเวณวัด ไม่ห่างไกลจากร้านเปรตกลางวัดเท่าใดนักโดยใช้ลำต้นของไม้หมาก หรือไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) ยาวประมาณ ๓ เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกออกตบแต่งให้ลื่น ถ้าเป็นไม้ไผ่มักใช้ไม้ไผ่ตงเพราะลำใหญ่ ไม่ต้องเอาผิวออก เพียงแต่เกลาข้อออกและใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อเพิ่มความลื่นให้มากขึ้น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้ พร้อมกับผูกเชือกไว้ใต้แผง ปลายเชือกผูกขนมต่าง ๆ ของเปรตห้อยไว้ จัดให้บุตรหลานของเปรตชนปีนขึ้นไปชิงขนมเหล่านั้นแทนเปรต ใครปีนขึ้นไปชิงได้มากก็ให้รางวัลมาก ใครได้น้อยให้รางวัลน้อยลดลงตามส่วน จัดผู้ปีนให้ขึ้นไปทีละคนโดยให้นุ่งแต่ผ้า ห้ามสวมเสื้อ และห้ามสวมรองเท้า ทั้งนี้เกรงเสื้อและรองเท้าจะเช็ดน้ำมันออกเสียเมื่อปีนขึ้นไปจะทำให้ความลื่นลดลง  ก็จัดเป็นการเล่นที่สนุกสนานมาก น้อยคนที่จะปีนขึ้นไปได้ เพราะส่วนใหญ่จะลื่นตกลงมา การปีนเสาขึ้นชิงเปรตนี้ จะกระทำหลังจากร่วมชิงกันที่ร้านเปรตแล้ว เสาที่ทำดังกล่าวก็ถือกันว่าเป็นร้านเปรตอีกชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเสาเดียวและอยู่สูง ขึ้นชิงได้เพียงครั้งละคน ไม่เหมือนกับร้านเปรตเตี้ย ๆ ซึ่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปก็สามารถเข้าชิงได้พร้อมกัน หลังจากนั้นก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทานโดยใช้เหรียญสตางค์โยนไปทีละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชนที่เรียกว่า “หว่านกำพรึก” แย่งกันอย่างสนุกสนาน

       ยังมีเปรตชนอยู่อีกพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนา ไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ลูกหลานเอาไปวางไว้ให้บนร้านเปรตใน      เขตวัด ได้แต่เลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่ริมรั้วชายวัด บรรดาลูกหลานทั้งหลายจึงได้นำอาหารขนมดังกล่าวไปตั้งเปรตกันนอกเขตวัด เป็นการตั้งเปรตแบบวางกับพื้นดิน ตั้งให้เปรตชนบนพื้นดิน พื้นหญ้าหรือตามคาคบไม้เตี้ย ๆ เมื่อตั้งเปรตแล้วลูกหลานอาจแย่งชิงกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นการชิงเปรตสำหรับปีนั้น บรรดาเปรตชนทั้งหลายก็ได้รับส่วนบุญซึ่งลูกหลานอุทิศให้และชิงให้ แล้วกลับไปสู่เปรตภูมิ คอยโอกาสจะได้กลับมาพบลูกหลานอีกในวันชิงเปรตปีต่อไป 

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ชิงเปรต” (หน้า 2048-2052) ,ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5. (2542).                                         มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2ร้านเปรต เป็นสถานที่ตั้งอาหารสำหรับชิงเปรต โดยสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง มีสายสิญจน์วงรอบ

แชร์ 6480 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้