ปูเละ

หน้าแรก ย้อนกลับ ปูเละ

ปูเละ

ปูเละ1 : พิธีกรรมปลุกแม่ย่านางเรือ     

          เมื่อพูดถึงคำว่า “ปูเละ” หลายคนอาจนึกไปถึงปูที่มีเนื้อเละ หน้าตาไม่น่ารับประทาน แต่ใครจะไปนึกว่า “ปูเละ” ยังเป็นชื่อของพิธีกรรมสำคัญของชาวประมงในแถบภาคใต้และมลายู

          หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ ได้กล่าวไว้ว่า ปูเละ เป็นพิธีกรรมปลุกแม่ย่านางเรือที่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวไทยมุสลิมแถบชายหาดจังหวัดกระบี่

          ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางเรือมีอยู่ทั่วไปในกลุ่มชาวบ้านที่ใช้เรือเป็นยานพาหนะในการทำมาหากิน   ทว่าความเชื่อดังกล่าวในกลุ่มชาวไทยมุสลิมจังหวัดกระบี่จะแตกต่างกันไป บางกลุ่มเชื่อว่าแม่ย่านางเรือที่สิงสถิตในเรือมีตนเดียว บ้างก็ว่า 2 ตน และบ้างก็เชื่อว่ามี 3 ตน

          เมื่อสิ้นมรสุม ก่อนที่เรือจะได้ออกทะเล เจ้าของเรือจะทำพิธีปูเละโดยหมอผีประจำหมู่บ้านหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โต๊ะหมอ” จุดประสงค์ในการทำพิธีปูเละหรือพิธีปลุกแม่ย่านางเรือคือเพื่อให้มาปกป้องเรือในยามที่ออกทะเล และช่วยดลบันดาลให้จับปลาได้มาก หากไม่ทำพิธีอันเชิญแม่ย่านาง ท่านก็จะไม่ตื่นจากการนอนหลับตลอดช่วงมรสุมเพื่อมาพิทักษ์ชาวประมงที่ออกเรือหาปลา

การประกอบพิธีกรรมปูเละ มีขั้นตอนดังนี้

          1. เริ่มจากเจ้าของเรือจะเป็นผู้เตรียมเครื่องเซ่น ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสวย ข้าวเหนียวขาวและเหลือง แกง (ส่วนมากใช้แกงไก่) น้ำ กำยาน หมากพลู เทียน น้ำมนต์

          2. หลังจากนั้นโต๊ะหมอจะเป็นผู้แบ่งเครื่องเซ่นออกเป็น 3 กอง แล้วจุดเทียนหรือเผากำยาน เพื่อใช้ทำนายว่าปีนี้จะจับปลาได้มากน้อยเพียงใดจากหยดน้ำตาเทียน

          3. เมื่อเตรียมการเสร็จ โต๊ะหมอก็จะอ่านคาถาปลุกแม่ย่านางว่า

          “บิสมิลลา, ฮา เตปุง มาฮา เตปุง

          เฮ, ซิโต มาฮา ซิโต

          เฮ, ปูเละ มาฮา ปูเละ

          อะกู นะ ปูเละ โอรัง ปัต ปูโละ นะ ยาดี ซาตู

          อะกู นะ ปูเละ

          กัมมาโรละฮฺ นาโรละฮฺ นูรูลฮฺ”

          4. เมื่ออ่านคาถาจบรอบแรก โต๊ะหมอจะค่อย ๆ ใช้มือกวาดเอากองเครื่องเซ่นทางขวาและซ้ายเข้ามาชิดกับกองที่อยู่ตรงกลาง จากนั้นจึงอ่านคาถากำกับเป็นครั้งที่สอง เสร็จแล้วจึงกวาดเครื่องเซ่นทางขวาและซ้ายกลับไปยังที่เดิม แล้วอ่านคาถากำกับเป็นครั้งที่สาม และเอาเครื่องเซ่นแต่ละกองไปวางไว้บนหัวเรือ กลางลำเรือ และท้ายเรือ ตามความเชื่อที่ว่ามีแม่ย่านางสถิตอยู่แต่ละส่วนของเรือ

          5. เสร็จแล้วจึงนำน้ำมนต์ที่ทำจากน้ำผสมแป้ง ข้าวสาร ใบพีพี (ตะบูนขาว) แล้วใช้ใบเฉียงพร้าจุ่มน้ำมนต์นำไปประพรมจนทั่วลำเรือ

          หลังจากนั้นเมื่อเรือแล่นออกไปในทะเล อาจมีเสียงดังลั่นของไม้กระดานเรือซึ่งส่งผลต่อความเชื่อต่าง ๆ เช่น หากมีเสียงดังจากกลางลำเรือ มีความเชื่อว่าวันนั้นจะจับปลาได้มาก หากมีเสียงดังจากทางหัวเรือ ให้ระวังเรือจะหลุดลอยจากหลัก หากมีเสียงดังจากทางท้ายเรือ ให้ระวังอุบัติเหตุเรือล่ม นอกจากนี้เจ้าของจะต้องนำเรือออกทะเลเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ทำพิธีปูเละ และต้องคอยสังเกตว่าจับปลาได้มากน้อยเพียงใด หากจับปลาไม่ได้เลย แสดงว่าอาจมีข้อผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมีการทำพิธี “รักษาแม่ย่านาง” โดยขูดหรือแกะเอาเศษไม้จากทุกส่วนของเรือ มาเคี้ยวกับหมากพลู แล้วพ่นไปทั่วลำเรือ

          แม้ว่าการประกอบพิธีกรรมปูเละจะเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากเป็นพิธีกรรมอันเก่าแก่ที่ใกล้สูญหายและแทบจะไม่มีแหล่งข้อมูลให้สืบค้น ดังนั้น การได้เรียนรู้พิธีกรรมและความเชื่อของกลุ่มชาวประมงในแถบภาคใต้ของประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่เราไม่ควรมองข้ามและควรอนุรักษ์ไว้

1เรียบเรียงโดยสรุปจาก “ปูเละ : พิธีกรรมปลุกแม่ย่านางเรือ” (หน้า 4643-4644). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 10. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 1062 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้