แห่ผ้าขึ้นธาตุ

หน้าแรก ย้อนกลับ แห่ผ้าขึ้นธาตุ

แห่ผ้าขึ้นธาตุ

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ

 

            แห่ผ้าขึ้นธาตุ​1  คือประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มโอบฐานเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช​ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า “แห่พระบฏขึ้นธาตุ”​ กระทำกันในวันมาฆบูชาและวิสาขบูชา​ รวมปีละ​ 2​ ครั้งทุกปี ประเพณีมีสืบมาจากสมัยพญาศรีธรรมโศกราชจันทรภานุทรงประกอบพระราชพิธีวิสาขะสมโภชพระบรมธาตุครั้งแรกหลังจากบูรณะพระเจดีย์องค์เดิมเป็นทรงลังกาสมบูรณ์แล้ว

            มีเรื่องปรากฏในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชว่า ก่อนเริ่มพิธีสมโภชพระบรมธาตุไม่กี่วัน​ คลื่นได้ซัดผ้าแถบผืนหนึ่งมีลายเขียนรูปเรื่องราวพระพุทธประวัติที่เรียกกันว่า  “พระบต”​ หรือ​ ​“พระบฏ”​ ขึ้นที่หาดปากพนัง (ปัจจุบันปากพนังเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช) ชาวปากพนังเก็บได้ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพญาศรีธรรมโศกราชจันทรภานุที่เมืองนครศรีธรรมราช​เมื่อได้รับแถบผ้าพระบฏ พญาศรีธรรมมาโศกราชจันทรภานุก็โปรดให้เจ้าพนักงานซักทำความสะอาดจนหมดจด แต่ลวดลายรูปในผืนผ้ายังเด่นชัดสวยงามมิได้ลบเลือน เมื่อซักเสร็จก็ผึ่งไว้ในพระราชวังและประกาศหาเจ้าของ​

          ความปรากฏต่อมาว่า​ พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง​ เชิญลงเรือรอนแรมมาแต่เมืองอินทรปัตซึ่ง    อยู่แถวลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร​ จะนำไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ คือพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา​ แต่เรือถูกมรสุมแตกทำลายลงในทะเลหน้าเมืองนครศรีธรรมราช​  หัวหน้าพุทธศาสนิกชนกลุ่มนี้จมน้ำตาย​ เหลือเพียงบริวารรอดขึ้นฝั่งท่าศาลา (ปัจจุบันท่าศาลาเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช) ได้ประมาณ 10​ คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง

        พญาศรีธรรมโศกราชจันทรภานุสดับข่าวนั้นแล้วทรงพิจารณาเห็นว่า ​พระบฏซึ่งเจ้าของผู้ทำตั้งใจนำไปถวาย  เป็นพุทธบูชา ประกอบกับบริวารที่รอดชีวิตมาส่งข่าวข่าวยินยอม​ จึงโปรดให้พุทธศาสนิกชนชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหน​ขึ้นห่มองค์เจดีย์พระบรมธาตุ​ อุทิศส่วนบุญกุศลให้เจ้าของในครั้งวิสาขบูชาสมโภชคราวนั้นด้วย แม้ไม่ใช่พระทันตธาตุตามที่เจ้าของผู้ล่วงลับตั้งใจไว้ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเป็นพุทธบูชาอย่างเดียวกัน

            จากปฐมเหตุดังกล่าวจึงเกิดเป็นภารกิจประจำปีของกษัตริย์สืบมาถึง​เจ้าเมือง​ กรมการเมืองนครศรีธรรมราช    ทุกสมัยจะต้องสร้างพระบฏ  จัดให้มีการแห่แหนพระบฏขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุในเทศกาลวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพิธีสมโภชพระบรมธาตุทุกปี จนกลายเป็นประเพณีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช​ เพราะปรากฏว่าประเพณีแห่พระบฏขึ้นธาตุไม่มีทำในท้องถิ่นใดทั้งสิ้นในประเทศไทย​ ​จะมีพ้องกันก็เฉพาะสมโภชพระธาตุในท้องที่ที่มีเจดีย์พระบรมธาตุเท่านั้น ซึ่งงานสมโภชบางท้องถิ่นก็จัดในเทศกาลต่างกัน   

         สมัยรัตนโกสินทร์ประเพณีแห่พระบฏขึ้นธาตุพุทธศาสนิกชนชาวเมืองและต่างเมืองใกล้ไกล ตลอดแหลม      มลายูศรัทธานิยมกันเป็นอันมาก​ เมื่อถึงเทศกาลวิสาขบูชาก็จะหาพระบฏเดินทางมาร่วมขบวนกับของทางบ้านเมืองนครศรีธรรมราชด้วยอย่างแข็งขันพรั่งพร้อมทุกปี​ จนกระทั่งเจ้าเมืองตระกูล​ ณ​ นคร​ ​สิ้นอำนาจ​กลายเป็นพิธีสืบธรรมเนียมตระกูลเจ้าเมืองเก่า​ และเลิกไปเด็ดขาดเมื่อประมาณ​  พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง​ ผู้ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาจึงปล่อยให้การแห่พระบฏขึ้นธาตุ​เป็นประเพณีของชาวพุทธทั่วไปกระทำกันเองตามศรัทธา​ การสวดพระปริตรสมโภชพระบรมธาตุก็เป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ

            สำหรับประเพณีแห่พระบฏขึ้นธาตุของหมู่ประชาชนยังมีทำสืบกันมา แต่แยกเป็น​ต่างกลุ่มต่างทำ ต่างกรรม    ต่างวาระกัน​ ที่ว่าต่างกรรมก็คือ​ พระบฏกลายเป็นผ้าขาว​ ผ้าเหลือง​ ผ้าแดง สุดแต่จะเห็นชอบ และไม่มีการเขียนรูปพระพุทธประวัติเนื่องจากช่างเขียนที่เขียนให้โดยหวังกุศลไม่คิดค่าจ้างหมดไป​ ถ้าจะทำเป็นพระบฏให้ถูกต้องตามคติโบราณก็ต้องว่าจ้างกันในราคาแพงการเรียกชื่อประเพณีก็ค่อยๆ ขาดคำ​ “พระบฏ” ไปจนในที่สุดก็คงเหลือเพียง​ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เป็นพุทธบูชา​​ การแห่แหนที่มีแต่เพียงช่วยกันจับชายผ้า เทินผ้า ​ไปตามถนนเป็นขบวน​ ไม่มีสำรับคับค้อน ไม่มีกระบุงกระจาดของสดของแห้ง​ บางขบวนก็ตั้งขบวนเดินไปสู่วัดพระธาตุฯ​ อย่างเงียบๆ​ พอเป็นพิธี​ บางขบวนก็มาจากชนบทต่างเมืองต่างจังหวัด มีทายกทายิกามากมายเป็นหมู่เป็นคณะพรักพร้อม​ บ้างก็มีเครื่องประโคมมีการร่ายรำนำขบวน

           ที่ว่าต่างวาระก็คือ​ ไม่รวมเป็นขบวนเดียว​แห่แหนในวาระเดียวเหมือนสมัยทางบ้านเมืองเป็นผู้นำ สุดแต่กลุ่มใดจะพร้อมเวลาไหนก็แห่แหนกันเวลานั้น​ เมื่อถึงเทศกาลพุทธศาสนิกชนซึ่งล้วนถือว่าการแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นพุทธบูชาอย่างหนึ่งของเทศกาล ไม่เกี่ยวกับการสมโภชพระบรมธาตุแต่อย่างใด แล้วจะพากันตั้งขบวนแห่แหนกันเข้าสู่วัดพระมหาธาตุฯ ​กลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ และกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจากทุกทิศทุกทาง​ ตั้งแต่เช้าจดบ่ายไม่ขาดสาย​ นอกจากนั้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา​ ซึ่งโปรดเกล้าฯ​ ให้พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศร่วมกระทำมาฆบูชาอันเป็นกิจเฉพาะของสงฆ์มาแต่เดิม​ เป็นประเพณีทั่วไปของพุทธศาสนิกชนด้วย​ เลยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนผู้อยู่ห่างไกลและไม่มีโอกาสไปกระทำพุทธบูชาในเทศกาลวิสาขะเพ็ญเดือน 6 ถือเป็นโอกาสที่ได้ไปในเทศกาลมาฆะเพ็ญเดือน 3 แห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นพุทธบูชาตามศรัทธาด้วย

           เทศกาลมาฆะเพ็ญเดือน 3​ และ​ เทศกาลวิสาขะเพ็ญเดือน 6​ จึงมีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นพุทธบูชาสืบมาทั้ง 2    เทศกาล​ ดังที่เห็นอยู่ในเวลานี้​แต่รู้สึกว่าจะร่วงโรยไปมากแล้ว เช่นเดียวกับประเพณีอื่น ๆ

 

 

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” (หน้า 8738-8742). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.                                   

แชร์ 3582 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้