คำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ คำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้

คำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้

 

คำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้1

ดร.อภิชญา แก้วอุทัย2

 

         คำเชื่อมนับว่าเป็นหมวดคำที่สำคัญหมวดหนึ่งในระบบไวยากรณ์ไทย เพราะคำเชื่อมช่วยแสดงความสัมพันธ์    ของคำหรือข้อความต่าง ๆ ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และช่วยให้การสื่อสารเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้พบว่า โดยส่วนใหญ่จะเหมือนกับคำเชื่อมในภาษาไทยมาตรฐาน แต่เมื่อพิจารณารายการคำเชื่อมในแต่ละหมวดหน้าที่กลับพบว่า มีบางหมวดหน้าที่ที่ค่อนข้างมีความแตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน อาทิ คำเชื่อมในหมวดหน้าที่บอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ กล่าวคือ เป็นหมวดคำเชื่อมหนึ่งที่สมาชิกของหมวดพบการใช้เฉพาะในภาษาไทยถิ่นใต้ เช่น กะเบอะ, เบอะ หรือพบการใช้รูปคำเดียวกันกับภาษาไทยมาตรฐานแต่ทำหน้าที่ต่างกัน เช่น ครั้น ในภาษาไทยมาตรฐานจะใช้เป็นคำเชื่อมบอกความสัมพันธ์ทางเวลา เช่น ครั้นรุ่งเช้าฝนก็หยุดตก ในภาษาไทยถิ่นใต้พบว่า นอกจากจะใช้เป็นคำเชื่อมบอกความสัมพันธ์ทางเวลาแล้ว ยังใช้เป็นคำเชื่อมบอกสาเหตุอีกด้วย เช่น ครั้นทำงานพั้นนี้ก็ไม่มีทางเสร็จ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหน้าที่ย่อยยังพบว่าคำเชื่อมบอกเหตุสามารถจำแนกเป็น คำเชื่อมบอกเหตุที่ (1) บอกสาเหตุ (2) บอกเงื่อนไข และ (3) บอกจุดมุ่งหมาย ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการปรากฏของคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลจากเอกสารร้อยแก้วภาษาไทยถิ่นใต้ที่บันทึกไว้ในสมุดไทยและเอกสารสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 1990 - 2560 โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า

          คำเชื่อมบอกเหตุ คือ คำเชื่อมที่ปรากฏหน้านามหรืออนุพากย์ที่เป็นเหตุซึ่งจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นผล          ซึ่งคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันพบทั้งสิ้น 18 คำ ได้แก่ ด้วย, เพราะ, เพราะว่า, กับ, เนื่องจาก, เบอะ (เบ่อ), กะเบอะ,  ชา...ถึง, ของ, ถ้า, ถ้าแล, แลถ้า, ถ้าแม้น, ถ้าและ, ครั้น (คั่น), คันถ้า, สำหรับ  และ เพื่อ ผู้วิจัยได้จำแนกคำเชื่อมบอกเหตุออกเป็น 3 หน้าที่ย่อย ได้แก่ (1) บอกสาเหตุ (2) บอกเงื่อนไข และ (3) บอกจุดมุ่งหมาย ดังนี้         

1. บอกสาเหตุ

         คำเชื่อมบอกสาเหตุ สาเหตุเป็นหน้าที่ย่อยลักษณะหนึ่งของการบอกเหตุ คำเชื่อมบอกสาเหตุใช้หน้านามหรือ   อนุพากย์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ สภาพ หรือความรู้สึกขึ้น คำเชื่อมบอกสาเหตุ ได้แก่ ด้วย, เพราะ, เพราะว่า, กับ, เนื่องจาก, กะเบอะ, เบอะ (เบ่อ), ของ และ ชา...ถึง  ดังตัวอย่าง  

ตัวอย่างที่ 1

                งูเหลือมโกรธจังหูจนประกาศว่าใคอี้เอาพิษกูก้ามาเอาต้ากูอี้คายพิษให้เพราะว่าหมันอยู่กับกูแล้วกูใช้

                ประโยชน์ไหรไม่ได้          

                                                                                   
               
(งูเหลือมโกรธจังหู (มาก) จนประกาศว่าใครอี้ (จะ) เอาพิษกูก็มาเอาต้ากูอี้คายพิษให้เพราะว่ามันอยู่กับกู

                แล้วกูใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้)

                                                                                                                               (พิง ศรีราชญา, 2524: 1)

ตัวอย่างที่ 2

                พูนแก้ว: กูแล้วเหมือนอิตายแล้วกับน้องเผียกนี่…คำพูดคำจาของมันแต่ละเรื่องแต่ละคำกวนหมวนนิ !

                (พูนแก้ว: กูแล้วเหมือนอิ (จะ) ตายแล้วกับน้องเผียกนี้…คำพูดคำจาของมันแต่ละเรื่องแต่ละคำ กวนหมวน

                 นิ ! (ก่อกวน)

                                                                                                                           (บทสนทนาตาหลก, 2541: 27)

             จากตัวอย่างที่ 1-2  จะสังเกตได้ว่า อนุพากย์ที่ปรากฏหลังคำเชื่อมจะมีเนื้อความบอกถึงสาเหตุซึ่งจะนำไปสู่  เหตุการณ์ที่เป็นผล ทั้งนี้ คำเชื่อมบอกสาเหตุ จะบอกถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร โดยเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเกิดขึ้นและยังดำเนินอยู่ในขณะที่พูด

2. บอกเงื่อนไข

             คำเชื่อมบอกเงื่อนไข เงื่อนไขเป็นหน้าที่ย่อยลักษณะหนึ่งของการบอกเหตุใช้หน้าอนุพากย์ที่เป็นเงื่อนไขหรือการกระทำของอีกเหตุการณ์หนึ่ง โดยเงื่อนไขจะบ่งชี้ว่าสิ่ง ๆ นั้นหรือเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดหากไม่มีสิ่ง ๆ นี้หรือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คำเชื่อมบอกเงื่อนไข ได้แก่ ถ้า, ถ้าแล, แลถ้า, ถ้ารีแม้น, ถ้าและ, คันถ้า, และ ครั้น (คั่น) ดังตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 1

                ถ้าแลแม่ยีงน"มหมิอ็อกเอ็าแกงกีนน"มออกแล                                                                    
                (ถ้าแลแม่หญิงนมมิออกเอาแกงกินนมออกแล)                                                                                                                                         

                                     (ตำราเวชศาสตร์, 2332: 16)

ตัวอย่างที่ 2 

                คั่นทำงานพันนี้  ไม่มีเสร็จเด็ดขาด
               (คั่น (ครั้น) ทำงานพันนี้ (แบบนี้)  ไม่มีเสร็จเด็ดขาด)

                                   (ภัทราณี กลับแป้น, 2555: 89)

             ตัวอย่างที่ 1-2 อนุพากย์ที่ตามหลังคำเชื่อมบอกเงื่อนไข ทำหน้าที่เป็นเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่ตามมา ทั้งนี้ คำเชื่อมบอกเงื่อนไขต่างจากคำเชื่อมบอกสาเหตุตรงที่เงื่อนไขเป็นข้อเสนอที่ผู้พูดเสนอขึ้นมาโดยที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้นหรืออาจกำลังเกิดขึ้นขณะที่พูด ว่าหากกระทำหรือไม่กระทำตามสิ่งที่ตนเสนอจะเกิดผลอย่างไรขึ้น แต่คำเชื่อมบอกสาเหตุในหัวข้อ 1 นั้นแสดงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว   

3. บอกจุดมุ่งหมาย

             คำเชื่อมบอกจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายเป็นหน้าที่ย่อยลักษณะหนึ่งของการบอกเหตุใช้หน้านามหรืออนุ-พากย์ที่แสดงจุดมุ่งหมายของการกระทำ โดยจุดมุ่งหมายอาจเป็นวัตถุประสงค์ของการกระทำหรือบุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากการกระทำ คำเชื่อมบอกจุดมุ่งหมาย ได้แก่ เพื่อ และ สำหรับ  ผู้วิจัยได้จำแนกคำเชื่อมบอกจุดมุ่งหมายออกเป็น

              3.1 บอกจุดมุ่งหมายที่เป็นวัตถุประสงค์ ใช้หน้าอนุพากย์ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการกระทำ ได้แก่ เพื่อ

ตัวอย่างที่ 1

               นายแรงนี้พอเกิดมาถึงกินข้าวเหนียววัน 2 หม้อ ฝ่ายพ่อแม่เป็นคนจนกะต้องปล้ำตัวทำงานเพื่อเซ่อสารให้

               โลกกิน
         

               (นายแรงนี้พอเกิดมาถึงกินข้าวเหนียววัน 2 หม้อ ฝ่ายพ่อแม่เป็นคนจนก็ต้องปล้ำตัวทำงานเพื่อซื้อข้าวสาร

               ให้ลูกกิน)

                                                                                                                                (นายแรง, 2546: 1)

             ตัวอย่างที่ 1 อนุพากย์ที่ปรากฏหลังคำเชื่อม “เพื่อ” บอกวัตถุประสงค์ของการกระทำ ส่วนอนุพากย์ที่ปรากฏหน้าคำเชื่อมเป็นเหตุหรือเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดวัตถุประสงค์ในการกระทำ

             3.2 บอกจุดมุ่งหมายที่เป็นผู้รับประโยชน์ ใช้หน้านามที่เป็นผู้รับประโยชน์จากการกระทำ ได้แก่ เพื่อ และ สำหรับ

ตัวอย่างที่ 1

                ครั้นกลับชาติแก่กระบืออันทุกข์ทนกุศลนั้นนำไปเกิดเป็นคชเอราวัณสำหรับพระอินทร์ชั้นดาวดึงส์     

                (ครั้นกลับชาติแก่กระบืออันทุกข์ทนกุศลนั้นนำไปเกิดเป็นคชเอราวัณสำหรับพระอินทร์ชั้นดาวดึงส์)

                                                                                       (ไตรภูมิฉบับบ้านกระบรี่น้อย, 2400: 89)

ตัวอย่างที่ 2

                อย่าแสวงหาความสุขเพื่อตนให้สัตว์บุคคลเดือดร้อนฯ

                (อย่าแสวงหาความสุขเพื่อตนให้สัตว์บุคคลเดือดร้อนฯ)

                                                   (ตำรายาเกร็ด, 2481: 34)

            ตัวอย่างที่ 1-2 นามที่ปรากฏหลังคำเชื่อม “สำหรับ” และ “เพื่อ” บอกผู้รับประโยชน์จากการกระทำส่วนอนุ-  พากย์ที่ปรากฏหน้าคำเชื่อมเป็นเหตุหรือเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการกระทำทั้งนี้การพิจารณาวัตถุประสงค์หรือผู้รับประโยชน์นั้นคือการตอบคำถามถึงเหตุที่กระทำไปว่ากระทำไปทำไมหรือเพื่อใครหรืออะไรคำตอบที่ได้จึงเป็นวัตถุประสงค์หรือผู้รับประโยชน์ของการกระทำ

              คำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันสามารถสรุปในรูปแบบตารางได้ ดังนี้

ตาราง แสดงคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน

จากตาราง จะเห็นได้ว่าคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ สามารถจำแนกหน้าที่ย่อยได้เป็น

           (1) บอกสาเหตุ ในสมัยอยุธยาพบ 3 คำ ได้แก่ ด้วย, เพราะ, เพราะว่า สมัยรัชกาลที่ 1-3 พบ 3 คำ ได้แก่    ด้วย,  เพราะ, เพราะว่า สมัยรัชกาลที่ 4-5 พบ  3 คำ ได้แก่ ด้วย, เพราะ, กับ สมัยรัชกาลที่ 6-8 พบ 4 คำ ได้แก่ ด้วย, เพราะ, กับ, เนื่องจาก และสมัยปัจจุบันรัชกาลที่ 9-10 พบ 9 คำ ได้แก่ ด้วย, เบอะ (เบ่อ), กะเบอะ, ชา...ถึง, เนื่องจาก, ของ, กับ, เพราะ, เพราะว่า จะเห็นว่าในสมัยปัจจุบันคำเชื่อมบอกสาเหตุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากสมัยก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด  (2) บอกเงื่อนไข ในสมัยอยุธยาพบ 4 คำ ได้แก่ ถ้า, ถ้าแล, แลถ้า,  ถ้าแม้น  สมัยรัชกาลที่ 1-3 พบ 2 คำ ได้แก่ ถ้า, ถ้าแล สมัยรัชกาลที่ 4-5 พบ  3 คำ ได้แก่ ถ้า, ถ้าแล, ถ้าและ  สมัยรัชกาลที่ 6-8 พบ 3 คำ ได้แก่ ถ้า, แลถ้า, ครั้น  และสมัยปัจจุบันรัชกาลที่ 9-10 พบ 3 คำ ได้แก่  ถ้า, คันถ้า, คั่น จะเห็นว่าในสมัยอยุธยาพบคำเชื่อมบอกเงื่อนไขมากกว่าสมัยอื่น ๆ (3) บอกจุดมุ่งหมาย ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันรัชกาลที่ 9-10 พบเพียง 2 คำ ได้แก่  สำหรับ, เพื่อ

         จากการศึกษาคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันจะเห็นว่า เมื่อยุคสมัย    เปลี่ยนไปจำนวนสมาชิกของคำเชื่อมในหน้าที่ย่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วยอาจจะมีการเพิ่มหรือการลด นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคำเชื่อมบอกเหตุในภาษาไทยถิ่นใต้ยังมีความน่าสนใจในแง่การพบคำเชื่อมที่ใช้เฉพาะถิ่นใต้ได้แก่ เบอะ (เบ่อ),  กะเบอะ, ชา...ถึง, ของ, ครั้น (คั่น), และ คันถ้า  ซึ่งชวนให้น่าศึกษาถึงประเด็นที่มาของคำเชื่อมเหล่านี้ต่อไป

 

1ตัดตอนจาก อภิชญา  แก้วอุทัย. (2562). คำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้: การศึกษาเชิงประวัติ. (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร-                   ดุษฎีบัณฑิต). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

2อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคม วัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

3คำว่า “เพื่อ” ในภาษาไทยถิ่นใต้พบว่าเคยทำหน้าที่บอกสาเหตุ ซึ่งปรากฏในข้อมูลเอกสารตำรายาครรภ์รักษาของวัดเสือเมือง                      ต.ม่วงงาม  อ.เมืองสงขลา เป็นเอกสารที่ไม่มีหลักฐานการบอกสมัยของเอกสารซึ่งจากสำนวนภาษาคาดว่าไม่ใช่เอกสาร                    สมัยปัจจุบัน ดังตัวอย่าง มีครรภ์ 4 เดือน เป็นไข้เพื่อเสมหะให้โทษต่าง ๆ เป็นลมให้เหงื่อออกตกโลหิต บังเกิด 4 อย่างนี้เป็นไข้สันนิบาต

แชร์ 4632 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้