ปักษ์ใต้ถ้อยคำ

หน้าแรก ย้อนกลับ ปักษ์ใต้ถ้อยคำ

ปักษ์ใต้ถ้อยคำ

ที่มา The Cloud

 

ปักษ์ใต้: ถ้อยคำ

 

       ปักษ์ใต้1 เป็นคำเขียนเรียกส่วนใต้หรือฝ่ายใต้แห่งสยามตรงกับที่เรียกว่าภาคใต้ เท่าที่พบในขณะนี้ปรากฏว่าเคยใช้ “ปักษ์ใต้” ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (อ้างว่าแต่งจบเมื่อ จ.ศ.1096 หรือ พ.ศ.2277 และพบในตราตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) เป็นพระยานครศรีธรรมราช ในรัชกาลที่ 2 เมื่อ จ.ศ.1173 หรือ พ.ศ.2345)

          พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ (พ.ศ.2223) เขียน “ปักใต้”

     พระราชกำหนดเก่า เขียน “ปากใต้” เช่น กฎให้แก่ พระสุรัศวะดี ที่ตราขึ้นเมื่อปีขาล จัตวาศก จ.ศ.1084    (พ.ศ.2265) ว่า “ด้วยมีพระราชกำหนดกฎหมายไปไว้สำหรับหัวเมืองเอกเมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา ปากใต้          ฝ่ายเหนือ”

          กฎหมายตราสามดวง เขียนว่า “ปากใต้” เช่น ลักษณะพระไอยการกระบดศึก มาตรา 9 ว่า “9 มาตราหนึ่งเมือง ปากใต้ ฝ่ายเหนือซึ่งขึ้นแก่กรุงเทพมหานครให้มาอ่อนน้อมนำดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามราชประเพณีแต่ก่อน” หรือพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองก็เรียกว่าหัวเมือง “ปากใต้” คู่กับฝ่ายเหนือ

            ราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ 4 เขียนว่า “ปากใต้”

          พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงวินิจฉัยไว้ในนิตยสารประมวลมารค ปีที่ 2 ฉบับที่ 41    วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2478 ว่า “ปากใต้” หรือ “ปักใต้" เป็นคำไทยไม่ใช่คำสันสกฤต ทรงยกคำในภาษาไทยถิ่นไทยใหญ่ว่า “ปัก” ตรงกับ "ปาก” ของไทยกรุงสยามและใกล้กับคำไทยอัสสัมหรือไทยอาสามว่า "ฝัก" ซึ่งตรงกับไทยกรุงสยามว่า “ฟาก” (ฟากฝั่ง) อนึ่ง ภาษาไทยใหญ่ (เงี้ยว) เรียกประตูว่า “ฝักตู” จึงทรงเห็นว่าคำ “ปัก” และ “ปาก” เป็นคำเดียวกับ “ฝัก” และ “ฟาก”

          สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ประทานพระยาอนุมานราชธนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2485 ว่า “ได้เห็นประกาศในรัชกาลที่ 4 เขียนว่า ปากใต้ แทนที่เดี๋ยวนี้เขียนกันเป็น ปักษ์ใต้ ปักษ์ แปลว่าปัก เห็นว่าถูกจึงเขียนถามเขาไป ได้คิดอยู่ว่าควรจะมีคำปักษ์เหนือ เป็นคู่กันแต่ก็ไม่มี ที่แท้เป็นปากใต้ คู่กับฝ่ายเหนือ เห็นว่าที่ใช้ ปากใต้นั้นถูก เพราะแผ่นดินทางนั้นเป็นง่ามทะเล ทางเหนือไม่เป็นจึงยักเรียกเสียว่าฝ่ายเหนือ      เห็นถูกมากที่หลังจะเขียนตามเอา ปักษ์ เป็น ปาก

         พระยาอนุมานราชธนทูลตอบว่า คำปักษ์ใต้ ซึ่งเห็นว่าคำเดิมควรจะเป็นปากใต้ เพราะด้วยเหตุผลหลาย          ประการนั้นท่านเห็นพ้องในกระแสพระราชดำริทุกประการ และที่เป็นปักษ์ใต้ “เป็นคำที่ถูกลากเข้าวัด

          คำ “ปกฺษ” ในภาษาสันสกฤต มีหลายความหมาย เช่น ปีก ฝ่าย ข้าง เสนา บ้าน เรือน กึ่งเดือนจันทรคติ          รวมเวลา 15 วัน ผู้ถือพวก ถือคณะ หรือถือฝ่าย เป็นต้น

           บางท่านให้เหตุผลที่เรียก ปักษ์ใต้ เพราะมีจำนวนจังหวัดที่อยู่ในภาคใต้ทั้งหมด 14 จังหวัดเท่ากับจำนวนวัน      ในปักษ์ข้างแรมบางเดือนที่มี 14 วัน ซึ่งเข้าลักษณะการ “ลากเข้าวัด” คือลากเข้าหาหลักวิชา

 

 

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ปักษ์ใต้ : ถ้อยคำ” (หน้า 4457-4458). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 9. (2542).                         มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 970 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้