สรรพลี้หวน : วรรณกรรมคำผวน 18+ โบราณที่ฅนคอนไม่มีทางไม่รู้จัก

หน้าแรก ย้อนกลับ สรรพลี้หวน : วรรณกรรมคำผวน 18+ โบราณที่ฅนคอนไม่มีทางไม่รู้จัก

สรรพลี้หวน : วรรณกรรมคำผวน 18+ โบราณที่ฅนคอนไม่มีทางไม่รู้จัก

สรรพลี้หวน : วรรณกรรมคำผวน 18+ โบราณที่ฅนคอนไม่มีทางไม่รู้จัก

ที่มา สรรพลี้หวน คำกลอน (ของเก่า). (หน้า 209-223). ในวรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร เลมที่ 7. (2548). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ.

 

          กลอนแปดหรือกลอนสุภาพบทข้างต้น เมื่ออ่านแล้วจะพบว่าคำทุกวรรคล้วนแล้วแต่เป็นกลอนซึ่งแต่งด้วยความประณีตเหมือนกลอนทั่วไป หากอ่านโดยใช้จิตวิญญาณความขี้เล่นของ ‘คนใต้’ จะพบว่า “วรรณกรรมสรรพลี้หวน” เรื่องนี้มีสิ่งพิเศษให้นักวรรณกรรมหน้าใหม่ค้นหาอยู่อีกมากนัก

          1. ที่มาและการค้นพบวรรณกรรมสรรพลี้หวน

    ‘สรรพลี้หวน’ วรรณกรรมคำผวนจากเมืองนครศรีธรรมราช เล่าเรื่องราวอันสัปดี้สัปดนผ่านคำผวนอันเป็นเอกลักษณ์ของคนใต้ แม้ผวนคำแล้วจะกลายเป็นคำลามก ทว่าศิลปะการแต่งเช่นนี้กลับแสดงให้เห็นถึงความสามารถและอารมณ์ขันของผู้แต่งมากกว่าจะมองว่าเป็นวรรณกรรมลามกทั่วไป อีกทั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแต่งให้คำผวนจำนวนมากเช่นนี้มีความยาวมากถึง 197 บท

          แต่เดิมวรรณกรรมสรรพลี้หวนไม่มีปรากฏแน่ชัดถึงผู้แต่งและแต่งเมื่อใด รู้เพียงว่าผู้ที่ค้นพบคนแรกคือ อาจารย์ดิเรก พรตตะเสน นักคติชนวิทยาคนสำคัญซึ่งค้นพบต้นฉบับ ณ วัดเขาน้อย อำเภอสิชลจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาขุนพรหมโลกได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นคนแรกจึงได้ให้ความเห็นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งวรรณคดีนิทานเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้สรรพลี้หวนได้รับอิทธิพลการดำเนินเรื่องตามขนบของวรรณคดีนิทานทั้งสิ้น ตามที่ วีรวัฒน์ อินทรพร (2552, น. 4) กล่าวถึงที่มาของสรรพลี้หวนเอาไว้ว่า สรรพลี้หวนมีเนื้อหาเป็นนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ซึ่งดำเนินเรื่องตามขนบการแต่งวรรณคดีนิทานทุกประการ เช่น มีบทชมเมือง บทชมธรมชาติ และบทอัศจรรย์

          ดังนั้นความนิยมในยุคสมัยนั้นจึงถือเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ประพันธ์แต่งวรรณกรรมสรรพลี้หวนออกมา แม้จะเป็นวรรณคดีนิทานที่ “ขบถ” ต่อความงามทางภาษาตามคตินิยม แต่กลับซ่อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้จนเป็นเอกลักษณ์ของวรรณกรรมเรื่องนี้

          2. เรื่องย่อของวรรณกรรมสรรพลี้หวน

          สรรพลี้หวนตามต้นฉบับที่ได้บันทึกไว้นั้น วรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร (2548, น. 197)ได้แปลความและสรุปความเอาไว้ว่า สรรพลี้หวนเป็นเรื่องราวของเมืองห้างกวี (กว อ่านควบกล้ำ) มีเจ้าเมืองคือเท้าโคตวยและนางคีแหม ทั้งคู่มีโอรสชื่อว่าใดหยอ โดยเท้าโคตวยต้องการหาคู่ครองให้โอรสจึงส่งสารไปสู่ขอธิดาไหหยีแห่งเมืองห้างชี ซึ่งมีเจ้าเมืองคือเท้าโบตักและนางหิ้นปลี ทว่าก่อนวันอภิเษกกลับถูกโจรป่ายกพวกปล้นเมือง ทำให้นางหิ้นปลีถูกโจรฆ่าตาย ส่วนท้าวโบตักสั่งให้ธิดาของตนหนีออกจากเมือง กระทั่งนางไหหยีพบเข้ากับฤาษีแหมที่กลางป่า ต่อมาเมื่อโอรสใดหยอทราบข่าวจึงออกตามหาธิดาไหหยีจนไปพบเข้าที่อาศรมฤาษีแหมโดยบังเอิญ เมื่อฤาษีทราบเรื่องทุกอย่างจึงจัดงานอภิเษกสมรสให้ทั้งคู่ครองรักกัน

          ต่อมาโอรสใดหยอกับธิดาไหหยีมีบุตรธิดาชื่อว่านางหาวคี ครั้นอายุได้ 14 ปีทั้งคู่จึงพาบุตรธิดากลับไปเยี่ยมเท้าโบตัก ทว่าในช่วงระหว่างนั้นเท้าโบตักได้รับนางเห็กหลีมาเป็นมเหสี เมื่อนางเห็กหลีแม่เลี้ยงพบกับนางไหหยีซึ่งเป็นลูกเลี้ยงก็เกิดไม่ถูกชะตาจนหาทางกำจัดนางหาวคีโดยการลอยแพ ทว่าพระอินทร์เห็นเหตุการณ์จึงเนรมิตเกาะให้นางหาวคีหลบภัย เท้าโบตักทราบข่าวก็เสียใจมาก จึงรีบมาที่ริมทะเลหวังค้นหาศพของหลานสาวแต่ก็ไร้วี่แวว (ต้นฉบับมีเพียงเท่านี้)  

          3. ความเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมภาคใต้

          วรรณกรรมสรรพลี้หวนโดดเด่นทั้งในด้านอักษรและการเล่าเรื่องจากภาษาถิ่นใต้ ดังนั้นจึงมีการปรากฏถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้ในหลากหลายมิติ ดังกลอนที่ยกตัวอย่างมาดังนี้

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวใต้ในงานมงคลสมรส ปรากฏดังนี้

ที่มา สรรพลี้หวน คำกลอน (ของเก่า). (หน้า 209-223). ในวรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร เลมที่ 7. (2548). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ.

 

          เนื้อความในบทที่ 24 เป็นงานแต่งงานระหว่างโอรสใดหยอและธิดาไหหยี โดยเนื้อความผู้แต่งใช้ภาษาถิ่นใต้อธิบายเครื่องคาวหวาน โดย ตอ หมายถึง สะตอ, ตังหุน หมายถึง วุ้นเส้น หรือเส้นแกงร้อน, ส้ม หมายถึง ผลไม้รสเปรี้ยวทุกชนิด เช่น ส้มกำ (ระกำ) ส้มขาม (มะขาม) ฯลฯ และ จี่ หมายถึง ย่าง

          เครื่องรางไสยศาสตร์ของภาคใต้ ปรากฏของขลังของชาวใต้ดังนี้

ที่มา สรรพลี้หวน คำกลอน (ของเก่า). (หน้า 209-223). ในวรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร เลมที่ 7. (2548). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ.

 

          เนื้อความในบทที่ 35 เป็นการเตรียมของขลังโบราณก่อนที่โจรจะปล้น โดย ทิศหมอน หมายถึง พิสมร หรือตะกรุด เป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่งของภาคใต้ที่ใช้ติดตัวไว้เพื่อป้องกันภัยอันตราย และ นกสับ หมายถึง ปืนแบบโบราณชนิดหนึ่ง

          คำติดปากของชาวใต้ ปรากฏดังนี้

ที่มา สรรพลี้หวน คำกลอน (ของเก่า). (หน้า 209-223). ในวรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร เลมที่ 7. (2548). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ.

 

          เนื้อความในบทที่ 67 เป็นการกล่าวถึงโอรสใดหยอเมื่อทราบข่าวการถูกปล้นของเมืองห้างชีและออกตามหาธิดาไหหยี ผู้แต่งใช้ภาษาติดปากของชาวใต้ประกอบลงไป โดย ฉาวเฉิน หมายถึง ฉาวโฉ่ และ แขบ หมายถึง รีบ

          สรุปได้ว่า แม้คำผวนจะเป็นคำลามกเรื่องเพศแต่กวีกลับร้อยเรียงเรื่องราวได้ครบรสเสมือนเป็นบทละครเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ความรัก ความอิจฉาริษยา เวทมนต์คาถา และวิถีชีวิตชาวใต้ที่แทรกซึมอยู่ในบทกลอนอย่างกลมกล่อม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้วรรณกรรมสรรพลี้หวนได้รับการยกย่องว่าเป็น วรรณกรรมคำผวนประเภทร้อยกรองที่ยาวที่สุดเล่มแรกของภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กวีท่านอื่นแต่งสรรพลี้หวนในสำนวนอื่น ๆ อีกด้วย

 

วีรวัฒน์ อินทรพร. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง สรรพลี้หวน: การศึกษาในแง่สังคมวิทยาวรรณคดี. สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. สรรพลี้หวน คำกลอน (ของเก่า). วรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร เล่มที่ 7. (2548). หน้า 195-223.

อุดม หนูทอง. สรรพลี้หวน. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 16. (2542). หน้า 7805-7806.

แชร์ 5599 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้