หน้าแรก ย้อนกลับ ภาษาไทยถิ่นใต้: วัฒนธรรมการใช้
ที่มา Campus Star
ภาษาไทยถิ่นใต้: วัฒนธรรมการใช้1
วัฒนธรรมการใช้ภาษาของกลุ่มชนแต่ละกลุ่ม เกิดจากวัฒนธรรมอื่น ๆ อันเป็นมรดกของกลุ่มชนนั้น ๆ นานาประการ ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่แสดงออกอย่างเป็นนิสัยของกลุ่มชนก็กลับมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอื่น ๆ ของสังคมนั้นเกี่ยวเนื่องกันไปประดุจลูกโซ่ สำเนียงพูดของชาวภาคใต้ เป็นที่ประจักษ์ของชาวถิ่นอื่นดีว่าห้าวและห้วน ซึ่งตรงกันข้ามกับสำเนียงพูดของชาวภาคเหนือซึ่งนุ่มนวลและเนิบช้า
สำเนียงและลีลาการพูด
สำเนียงพูดของภาษาถิ่นใต้ที่ห้าวและห้วนที่เป็นนิสัยเป็นเหตุให้เกิดการปรับแปลงถ้อยคำที่รับมาจากภาษาของชนกลุ่มอื่นที่มีหลายพยางค์ด้วยการรวบรัดพยางค์ให้สั้นเข้า เช่น คำภาษาบาลี สันสกฤต ชเล (ทะเล) เป็น “เล” และคำที่ภาษากลางออกเสียงเป็น ๒ พยางค์จำนวนมากที่ภาษาใต้พูดเป็นพยางค์เดียว เช่น มะพร้าว เป็น “พร้าว” หรือไม่ก็ออกเสียงให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่น ฉลาด เป็น “ถ้าหลาด” คำที่รับมาจากภาษาชวามลายูส่วนใหญ่จะรวบพยางค์เข้าพร้อมกับเน้นเสียงให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่น สลาตัน (selatan) เป็น “หลาตัน” เป็นต้น
นิสัยการพูดที่ห้าวและห้วน เป็นเหตุให้การพูดจาสนทนาของชาวใต้ขาดหางเสียงที่เสริมแต่งเพื่อให้ฟังไพเราะนี้ผู้ใช้มิได้มีเจตนาที่จะแสดงอาการแข็งกระด้าง จึงไม่ค่อยนิยมใช้คำ “ครับ” “ค่ะ” “ขา” “จ้ะ” “จ๋า” ในการขานรับ แต่อาจใช้วิธีการพยักหน้ารับหรือรับรู้ด้วยดุษณีภาพ หรือมีคำขานรับที่เป็นภาษาถิ่นของตน บางคำที่เป็นคำรวม ๆ ไม่ได้จำแนกตามฐานะบุคคลให้ละเอียดประณีตอย่างถิ่นอื่น ๆ คำขานรับสำหรับใช้กับบุคคลที่มีฐานะเสมอกันและผู้ที่ต่ำกว่า ที่นิยมใช้กันมากคือ “เออ” “ฮือ” “ฮึ” ถ้าเป็นคนที่สูงกว่านิยมใช้คำ “ฉาน” “ฉ่าน” ส่วนคำขานรับ “ครับ” “ขอรับ” “ค่ะ” “ขา” เป็นคำที่เพิ่งนิยมใช้กันในระยะหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของภาคกลาง รวมทั้งคำที่นิยมใช้ประกอบการสนทนากันมาก กลับเป็นคำอุทานประเภทแสดงความแปลกใจที่เป็นอย่างบริสุทธิ์ใจ เช่น “วะ” “อ้ายหยา” “เหอ” “หา” “ฮะ” นิสัยการใช้คำเช่นนี้ถ้าไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการใช้ภาษาถิ่นใต้อาจเห็นเป็นการไม่สำรวม แข็งกระด้าง ทั้ง ๆ ที่ชาวใต้มิได้มีเจตนาเช่นนั้นแม้แต่น้อย
ค่านิยมการใช้ภาษา
ชาวพื้นเมืองภาคใต้ถือว่าถ้อยคำส่วนใหญ่ ยกเว้นคำดุด่าเป็นคำสุภาพ ใช้ได้เกือบทุกกาลเทศะและกับบุคคล แทบทุกชั้น ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแต่งเติมให้แตกต่างกันไป กลับเห็นเป็นตรงกันข้ามว่าคนที่ปรุงแต่งถ้อยคำให้อ่อนหวานอ่อนโยน เป็นคนประจบ ถ้าบุคคลใดที่อยู่ในฐานะสูงกว่าถือสาในเรื่องถ้อยคำ ถือกันว่าคนนั้นเป็นคนคบยากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การใช้ถ้อยคำของชาวภาคใต้จึงมักไม่ปรุงแต่งเลือกเฟ้น เพื่อแสดงว่าเป็นผู้มีมารยาทในสังคม
การจำแนกกลุ่มภาษาสำหรับใช้ต่างกันตามกาลเทศะและบุคคลนั้น ภาษาใต้จะจำแนกเป็นกลุ่มสำหรับใช้กับคนที่เสมอกัน ผู้น้อยกลุ่มหนึ่ง ผู้อาวุโสกว่ากลุ่มหนึ่ง และสำหรับพระภิกษุสามเณรกลุ่มหนึ่ง ไม่ค่อยอาทรถึงเพศที่ต่างกัน คำสรรพนามที่ใช้ในภาษาพูดจึงไม่มีมากคำ เช่น คำว่า “แก” อาจใช้เอ่ยแทนได้ทั้งบิดามารดาและผู้ที่เคารพยกย่องทั่ว ๆ ไป หรือใช้คำว่า “เติ้น” หรือ “ต้น” หรือ “ตั้ว” แทนชื่อกลุ่มบุคคลที่ภาษากลางใช้ คุณ ฯพณฯ และใช้คำว่า “ท้าว” หรือ “ถ่อ” หรือ “ต้น” แทนพระสงฆ์ เป็นต้น
ความเชื่อเกี่ยวกับภาษา
ชาวภาคใต้สมัยก่อนถือว่าตัวหนังสือและหนังสือเป็นของสูง เชื่อว่าถ้าใครเหยียบข้ามจะทำให้เรียนหนังสือไม่จำ วิทยาการที่มีอยู่บ้างก็จะพาลเสื่อมถอย จะหยิบใช้ก็ต้องกระทำด้วยความคารวะ ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่า ความหมายของคำที่เป็นชื่อสิ่งต่าง ๆ ก่อให้เกิดมงคลหรืออัปมงคลได้ เช่น “ไม้ไผ่สีสุก” ถ้าปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือนำไปประกอบพิธีกรรมจะก่อให้เป็นศรีเป็นสุข เป็นต้น เชื่อกันว่าสามัญชนไม่ควรตั้งชื่อเลียนเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ชื่อเทพเจ้า หรือพระศาสดา เพราะจะเป็นอัปมงคลแก่ตนและตระกูล ทั้งนี้ยกเว้นคติชาวไทยมุสลิมที่ตั้งชื่อสำหรับถวายแด่พระศาสดา
การพูดล้อเลียน
ผู้ชายที่สนิทสนมกันมาก ๆ และเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน มักชอบพูดจาล้อเลียนกัน เรียกการพูดล้อเลียน แบบยกตนข่มท่านว่า “พูดทับ” หรือ “แท้ง” ถ้าล้อเลียนกันอย่างธรรมดาอาจเรียกว่า “กัด” “ขบ” “ถม” การล้อเลียนกันถือเป็นเรื่องสนุกสนานในวงสนทนาและทำให้รู้สึกว่ามีบรรยากาศเป็นกันเองยิ่งขึ้น
คำผวน
ชาวภาคใต้นิยมเล่นคำผวน ซึ่งเรียกตามภาษาถิ่นว่า “คำผวน” คือการพูดให้ผู้ฟังคิดทวนกลับแล้วมีความหมายเป็นอีกแง่หนึ่ง ซึ่งส่วนมากเมื่อทวนกลับแล้วจะมีความหมายไปในทางหยาบโลน เช่น “ดึงกับแม่ไม้” ผวนคำได้เป็น “ได้กับแม่มึง” การพูดคำผวน นิยมพูดตลกคะนองในกลุ่มผู้ที่มีวัยและเพศเดียวกัน หนังตะลุงก็นิยมตลกโดยใช้คำผวน ทั้งนี้มีวรรณกรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายว่า ผู้แต่งมีความสามารถในการเล่นคำผวนเป็นเอกและอยู่ข้างจะอุตริ คือเรื่อง “สรรพลี้หวน” หรือ “สรรพบาลีหวน” ที่นำมาผูกเป็นปริศนาคำทาย ผูกเรื่องเป็นเงื่อนงำ ซึ่งผู้ตอบจะเข้าใจก็ต่อเมื่อผวนคำและมีความเข้าใจวัฒนธรรมบางอย่างก็มี เช่น ทายว่า การเขเรือ (ขี่เรือ) ระหว่างเรือแจวกับเรือหางยาวอันไหนจะ “เขไว” กว่ากัน (คำตอบคือเรือแจว อธิบายว่าเพราะเรือแจว ผู้แจวต้องยืน เมื่อยืนแจว อวัยวะส่วนนั้นก็จะ “เว” คือแกว่งไปมามากกว่านั่งโดยสารเรือทางยาว) การเล่นคำผวนที่ค่อนข้างลึกเช่นนี้ ถือว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่ง การตั้งชื่อใด ๆ ชาวภาคใต้จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผวนคำแล้วมีความหมายไปในทางไม่ดี หรือแม้แต่การใช้อักษรย่อก็พยายามเลี่ยงไม่ให้ดึงไปหาความหมายที่ไม่สุภาพ
การสร้างคำประสม
การสร้างคำประสมขึ้นใช้ในภาษาไทย โดยทั่วไปคล้ายกับภาษาถิ่นอื่น ๆ ของไทย แต่มีหลายคำที่สร้างขึ้น โดยยึดพื้นฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสำคัญ จึงทำให้เกิดคำเฉพาะถิ่นที่ต่างกับภาษากลาง เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว ชาวภาคใต้ไม่นิยมทำแต่เฉพาะรูปกระต่าย อาจทำเป็นรูปสัตว์นานาชนิด แต่ใช้เหล็กสำหรับขูดมะพร้าวเป็นส่วนสำคัญจึงเรียกว่า “เหล็กขูด” คำว่า “ตะปู” เดิมทีชาวภาคใต้ใช้ทำเรือหรือร้อยต่อไม้เครื่องเรือนแทนเดือยที่ทำด้วยไม้และเรียกส่วนปลายของสิ่งต่าง ๆ ที่โตกว่าส่วนอื่น ๆ ว่า โคน จึงเรียก ตาปู ว่า “เหล็กโคน” เป็นต้น
การรับคำภาษาต่างประเทศมาใช้
เนื่องจากภาคใต้มีเขตแดนต่อเนื่องกับประเทศมาเลเซียและมีสภาพภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน และก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ นับตั้งแต่ภาคใต้ลงไปจรดชวามลายูกลุ่มชนแถบนี้ต่างก็นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน วิถีการดำเนินชีวิตจึงไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษามีการถ่ายเทสู่กันและกัน จึงมีคำภาษาชวา-มลายูประสมอยู่ในภาษาถิ่นใต้มากพอกับที่ภาษาไทยเข้าไปประสมอยู่ในภาษาในมาเลเซียตอนเหนือ เนื่องจากภาคใต้เป็นทางผ่านและเป็นศูนย์กลางของการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศตะวันตกกับประเทศฝ่ายตะวันออก ได้แก่ อินเดีย อาหรับ เปอร์เซียและจีน โดยเฉพาะอินเดียนอกจากจะเดินทางมาค้าขายแล้ว ยังนำศาสนามาเผยแพร่ในแถบนี้ต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีบ่งชัดว่า ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ภาคใต้ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ อินเดียตอนใต้ โดยเฉพาะลังกามีความสัมพันธ์กับชนชาติไทยมาช้านาน ชนชาติทมิฬที่อยู่ในเมืองโจพะที่เราเรียกว่า พวกสิงหล ได้นำภาษาทมิฬมาใช้ เป็นเหตุให้ภาษาใต้มีคำภาษาทมิฬปะปนอยู่หลายคำ พบศิลาจารึกภาษาทมิฬในภาคใต้อย่างน้อย ๒ หลัก คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๒๖ พบที่เขาพระนารายณ์ ตะกั่วป่า ๑ หลัก จารึกด้วยรูปอักษรปัลลวะเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และอีกหลักหนึ่งคือศิลาจารึกหลักที่ ๒๙ พบที่วัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรมราช จารึกบนแผ่นหินอ่อนสีชมพู เป็นรูปอักษรทมิฬ ภาษาทมิฬมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ นอกจากนี้ เมื่อภาคใต้ได้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลังกาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ยังได้รับเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา เป็นเหตุให้ภาษาบาลีแพร่หลายอย่างกว้างขวาง และหลังจากนั้นคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาได้ใช้ภาษาบาลีเป็นพื้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษาเขมร พบจารึกบนฐานพระพุทธรูปวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจารึก อักษรขอม ภาษาเขมร จารึกเมื่อ พ.ศ.๑๗๒๖ นอกจากนี้พบว่าหนังสือบุดหรือสมุดข่อยที่พบในภาคใต้สมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นิยมเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นอักษรขอม และเรื่องที่เกี่ยวกับการกัลปนา มักมีฉบับที่ใช้ภาษาเขมรคู่กับภาษาไทย ทั้งยังพบคำภาษาเขมรจำนวนมากในภาษาถิ่นใต้ทั่วไป และที่เป็นชื่อบ้านนามเมือง
นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ ทั้งบริเวณฝั่ง ตะวันออกและฝั่งตะวันตก จึงเป็นเหตุให้คำภาษาจีนและวัฒนธรรมอื่น ๆ ของจีนเข้ามาปะปนอยู่ในภาคใต้เป็นจำนวนมาก ส่วนภาษาอื่น ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ไม่มากเท่าภาษาต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ตัวอย่างคำในภาษาที่สำคัญ ๆ ต่าง มีดังนี้
1. คำภาษาชวา-มลายู เช่น กัด (pukat) อวนขนาดย่อมสำหรับดักปลาน้ำตื้น
2. คำภาษาสันสกฤต เช่น สุวสติ (คำนี้พบที่เป็นหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔) ภาษาใต้ทั่วไปใช้เป็น “สัดดี” เช่น ไหว้สัดดี สวดสัดดี มีสัดดีใหญ่ สัดดีเล็ก ใช้สวดเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตน
3. คำภาษาบาลี เช่น สพเพ ภาษาใด้เป็น “เพ” “เพิ่น” “เพ้น” แปลว่าทั้งปวงทั้งหมด
4. ภาษาทมิฬ เช่น นบพิตำ ชื่อตำบลในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. คำภาษาเขมรเช่น แพงเชิง- นั่งขัดสมาธิ
6. คำภาษาจีน เช่น ก้องถึง- ขนมตุ๊บตั๊บ
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ภาษาไทยถิ่นใต้: วัฒนธรรมการใช้” (หน้า 5683-5691). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 12. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 15431 ผู้ชม