หน้าแรก ย้อนกลับ ภาพยนตร์เรื่อง Marlina the Murderer in Four Actsฯ
Marlina the Murderer in Four Acts
จุฬาลักษณ์ ไชยดี
“Marlina the Murderer in Four Acts ภาพยนตร์ระทึกขวัญจากประเทศอินโดนีเซีย เป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งที่ต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เธอต้องดิ้นรนต่อสู้ เพราะมีเพียงเธอคนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเหลือตัวเธอเองได้”
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย Mouly Surya ผู้กำกับชาวอินโดนีเซีย อีกทั้งยังได้ร่วมเขียนบทกับ Rama Adi และ Garin Nugroho ผู้ซึ่งเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับชาวอินโดนีเซียด้วย แม้ว่าตัวบทภาพยนตร์อาจจะไม่มีความหวือหวาในด้านความสนุก ความตื่นเต้น เร้าใจ เทียบเท่ากับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกัน แต่ภาพยนตร์เรื่อง Marlina the Murderer in Four Acts ได้นำเสนอวิถีชีวิตของคนชนบทในประเทศอินโดนีเซีย และสะท้อนแนวคิดของสังคมที่ว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่เหนือกว่าผู้หญิง เพราะผู้หญิงถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ชายและเป็นเพียงมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อผลิตมนุษย์เท่านั้น” แต่ทางผู้เขียนบทภาพยนตร์ ได้เขียนบทตัวละครหลักให้มาขัดแย้งกับแนวคิดนั้น ผ่านผู้หญิงวัยกลางคนที่ต้องดิ้นรนหาความยุติธรรมให้กับตนเอง เพื่อพิสูจน์ว่าผู้หญิงก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตและความคิดเป็นของตัวเองเหมือนกับผู้ชาย ซึ่งไม่ได้อ่อนแอหรือด้อยไปกว่ากัน อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังสามารถพบได้ทั่วไปในสังคมทั่วโลก ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในพื้นที่ชนบทของประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น เพราะแนวคิดนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก รวมถึงการปลูกฝังจากคนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง
ภาพยนตร์เรื่อง Marlina the Murderer in Four Acts ได้มีการแบ่งตัวเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ไว้ 4 บท ตามชื่อเรื่อง ได้แก่ บทที่ 1 การปล้นสะดม , บทที่ 2 การเดินทาง , บทที่ 3 การสารภาพบาป และบทที่ 4 การถือกำเนิด โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น ณ บ้านเล็ก ๆ ซอมซ่อหลังหนึ่งในชนบท หญิงสาววัยกลางคนอายุราว 40 ปี ชื่อว่า “มาร์ลิน่า” เธออาศัยอยู่เพียงลำพัง โดยหน้าบ้านมีหลุมศพของ “โทปัน” ซึ่งเป็นลูกชายของเธอ และภายในบ้านยังมีร่างไร้อันวิญญาณของแม่สามีนั่งขดตัวใต้ผ้าห่ม ขณะนั้นมีกลุ่มชายฉกรรจ์ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาที่บ้านมาร์ลิน่า ปล้นทรัพย์สินของเธอไปทั้งหมด ทั้งเงิน ทั้งปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้ เพื่อชดใช้หนี้สินที่สามีของมาร์ลิน่าแอบไปก่อไว้ อีกทั้งพวกเขายังตั้งวงดื่มเหล้ากันจนเมาและพูดคุยกันเสียงดังและ “มาร์คัส” หนึ่งในนั้นกำลังเมาได้ที่เขาพยายามข่มขืนมาร์ลิน่า แต่เธอไม่ยอม พยายามสู้และดันตัวเองขึ้นมาแล้วหยิบดาบฟันคอมาร์คัสขาด เช้าวันต่อมา มาร์ลิน่าจึงหิ้วหัวมาร์คัสออกเดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความกลุ่มชายฉกรรจ์พวกนั้น...และนี่ก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดของบทที่ 1 การปล้นสะดม ส่วนบทที่ 2 , 3 และ 4 นั้น จะเป็นเรื่องราวการเดินทางของมาร์ลิน่าที่ตามหาความยุติธรรมให้กับตัวเธอเอง Marlina the Murderer in Four Acts นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอแนวคิดชายเป็นใหญ่แล้ว ยังนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอินโดนีเซียในด้านการแต่งกาย อาหารการกิน และชีวิตความเป็นอยู่ ดังนี้
- ด้านการแต่งกาย ภาพยนตร์ได้นำเสนอเครื่องแต่งกายอย่าง ผ้าบาติก (Batik) หรือ ผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซีย (ผ่านตัวละครมาร์ลิน่าและชาวบ้านผู้หญิงที่มีอายุ ซึ่งจะนุ่งผ้าบาติกแทนการใส่กางเกงหรือกระโปรง ส่วนเด็ก ๆ จะใส่ชุดธรรมดาทั่วไป) โดยผ้าบาติกนิยมใช้เป็นผ้าโพกหรือผ้าคลุมศีรษะทั้งผู้หญิงและผู้ชายและใช้เป็นผ้าผูกเอวทับกางเกงผู้ชายหรือนุ่งเป็นโสร่งก็ได้เช่นกัน ซึ่งส่วนที่เรียกว่า "ปาเต๊ะ" คือ ส่วนที่ต้องนุ่งให้ตรงกับสะโพก เพื่อให้มีลวดลายสีสันสวยงาม
- ด้านอาหาร แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้เน้นเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับอาหารมากนัก แต่ผู้เขียนบทก็ได้เอ่ยถึงอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซียเข้ามาในภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือ โซโต (soto) ซุปแบบพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ใส่เนื้อและผัก นิยมรับประทานตั้งแต่สุมาตราไปจนถึงปาปัวของประเทศอินโดนีเซีย โดยมีความแตกต่างกันตามแต่ละที่ และมาขายตั้งแต่ร้าน Street food ไปจนถึงระดับภัตตาคาร
- ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ในภาพยนตร์ชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ชนบทของคนอินโดนีเซีย อาจจะมีความคล้ายคลึงกับชนบทในประเทศไทยบ้างในบางพื้นที่ คือ มีการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ เป็นต้น อีกทั้งความเจริญรุ่งเรืองกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับการใช้ชีวิต รวมไปถึงการคมนาคมยังไม่ทั่วถึงเท่าในตัวเมือง (ดังฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ที่มาร์ลิน่าออกเดินทางไปยังสถานีตำรวจ เธอต้องเดินเท้าในระหว่างรอรถโดยสารประจำทางที่ใช้เวลานานกว่าจะผ่านมา 1 คัน)
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่อง Marlina the Murderer in Four Acts เน้นเล่าเรื่องเฉพาะพื้นที่ชนบทของประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น แต่สามารถสื่อวัฒนธรรมของคนอินโดนีเซียออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งในด้านการแต่งกายที่มาร์ลิน่านุ่งผ้าบาติก ด้านอาหารที่มีการกล่าวถึงซุปพื้นเมืองอย่างเมนู โซโต และด้านชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์เอาไว้กินและไว้ขาย อีกทั้งตอนจบของภาพยนตร์จบแบบปลายเปิด ไม่มีคำตอบตายตัวให้กับผู้ชม เพราะแนวคิดที่ภาพยนตร์พยายามสื่อออกมานั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินกว่าจะมาตัดสินว่าถูกหรือผิด ดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องที่เราทุกคนยังคงต้องศึกษาและให้ความสำคัญกันต่อไป เพื่อให้ทุกเพศมีความเท่าเทียมและเสมอภาคต่อกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Marlina the Murderer in Four Acts เต็มเรื่องได้ในช่องทาง Netflix
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (256). โซโต. https://rb.gy/tcwwac ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. (ม.ป.ป.). สาธารณรัฐอินโดนีเซีย – ข้อมูลทั่วไป. https://rb.gy/kt7zjy Filmsick. (2561). Marlina the Murderer in Four Acts: ผู้ชายที่ดี คือผู้ชายที่ตายแล้ว. https://rb.gy/lfi6st Mouly Surya (Producer). (2017). Marlina the Murderer in Four Acts [Movie]. Purin Pictures.
แชร์ 1525 ผู้ชม