หน้าแรก ย้อนกลับ การให้ทานไฟ การทำบุญขึ้นชื่อของชาวนครศรีธรรมราช
ที่มา: https://bit.ly/3YPDhbF
การให้ทานไฟ การทำบุญขึ้นชื่อของชาวนครศรีธรรมราช
อภิเชษฐ์ สรุงขจรเดช
การทำบุญของชาวใต้ หากพูดคำนี้ขึ้นมาเมื่อใดแล้ว ก็คงจะมีประเพณีที่หลายคนนึกออกและกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันว่านี่แหละคือการทำบุญของคนใต้ ชื่อแรกคงเป็น “การทำบุญสารทเดือนสิบ” การทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยขนมนานาชนิดที่เป็นเอกลักษณ์และแฝงด้วยความหมาย ส่วนประเพณีที่สองคือ “ชักพระ” ที่ในช่วงวันออกพรรษา แต่ละคนจะช่วยกันทำเรือขึ้นมา โดยเรือที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันคือเรือที่จะมีล้อไว้ใช้ลากทางบก แล้วจะนิมนต์พระสงฆ์หรือพระพุทธรูปขึ้นเรือ จากนั้นก็ลากเรือไปตามหนทางที่มีผู้คนอยู่อาศัย เพื่อให้ผู้คนได้ทำบุญกันนั่นเอง ที่กล่าวมาเบื้องต้นก็คงจะเป็นประเพณีที่คนทั่วไปคุ้นหูคุ้นตากัน แต่หารู้ไหมว่ามีอีกหนึ่งประเพณีการทำบุญของคนใต้ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยอย่าง “การให้ทานไฟ” เพียงแค่ได้ฟังชื่อก็ ประหลาดใจแล้ว ดังนั้น มาหาคำตอบกันว่าเขาทำอะไรกันในประเพณีนี้
การให้ทานไฟ การทำบุญของชาวนครศรีธรรมราชที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เรื่อง โกสิยเศรษฐี ว่าด้วยเรื่องราวของ โกสิยเศรษฐี ผู้มีความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นที่สุด ทั้งตระหนี่ต่อสมณพราหมณ์ ชาวบ้าน ไม่เว้นแม้ภรรยาและลูกของตนเอง วันหนึ่งเศรษฐีนึกอยากกินขนมเบื้อง และไม่อยากให้ผู้อื่นได้กิน จึงให้ภรรยาแอบทำขนมเบื้อง ณ ชั้น 7 ของปราสาท ทว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ จึงได้มอบหมายพระโมคคัลลานะไปโน้มน้าวโกสิยเศรษฐีให้ลดความตระหนี่ถี่เหนียวลง พระโมคคัลลานะเดินทางไปหาโกสิยเศรษฐีและภรรยา ณ ชั้น 7 ของปราสาท และได้ใช้อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ทรมานโกสิยเศรษฐีจนคลาย ความตระหนี่ถี่เหนียวลงได้ เมื่อเป็นดังนั้นพระโมคคัลลานะก็ได้ให้โกสิยะเศรษฐีและภรรยาไปทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุอีก 500 รูป ณ วัดเชตะวันมหาวิหาร เมื่อโกสิยเศรษฐีและภรรยาไปวัดก็ได้ทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุอีก 500 รูป ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า ขนมเบื้องที่ควรจะพอดีกับจำนวนพระที่ถวาย กลับเหลืออีกมาก โกสิยเศรษฐีจึงนำขนมที่เหลือไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน จากนั้นพระพุทธเจ้าก็โปรดเทศนาโกสิยเศรษฐีและภรรยาจนทั้งคู่บรรลุธรรม นับแต่นั้นมาโกสิยเศรษฐีก็กลายเป็นเศรษฐีใจบุญ
การให้ทาน หัวใจสำคัญของเรื่องโกสิยเศรษฐี ที่ชาวนครศรีธรรมราชยึดถือเป็นหัวใจสำคัญของประเพณีการให้ทานไฟ ประเพณีที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนยี่ (ประมาณช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์) ช่วงที่ทางภาคใต้มีอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้พระภิกษุแต่ละวัดออกบิณฑบาตค่อนข้างลำบาก ชาวบ้านจึงนัดรวมตัวกันที่วัด ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละคนจะไปวัดที่อยู่ในละแวกบ้านของตน ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ (ประมาณ 5.00 น.) โดยแต่ละคนจะนำของที่ใช้ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ทั้งไม้ฟืน ถ่าน เตาไฟ เครื่องครัวที่จำเป็น และวัตถุดิบในการปรุงอาหารไปด้วย เมื่อถึงวัดชาวบ้านส่วนหนึ่งจะช่วยกันก่อกองฟืนขึ้นมา แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้น ๆ มานั่งผิงไฟรอบกองฟืน เพื่อมอบความอบอุ่นแก่ร่างกายท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ ในระหว่างนั้นชาวบ้านอีกส่วนก็จะนำเครื่องครัวต่าง ๆ ที่ตระเตรียมมา ปรุงอาหารร้อน ๆ ทั้งของคาวหวาน สำหรับอาหารคาวที่ได้รับความนิยมกันมาก คือ ข้าวต้ม ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวหมกไก่ หมี่ผัด และข้าวเหนียวหลาม ส่วนขนมที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นขนมพื้นบ้านอย่าง ขนมโค ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมจู้จุน และขนมกรอก (ขนมที่เชื่อกันว่ามีที่มาจาก “ขนมเบื้อง” ที่โกสิยเศรษฐีถวายพระภิกษุ) อาหารที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนและใช้เวลา ไม่นาน อาหารที่ปรุงเสร็จ ชาวบ้านจะรีบนำไปถวายให้พระภิกษุฉันทันทีในขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ การปรุงอาหารจะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าเครื่องปรุงหมด และในระหว่างปรุงอาหาร พระภิกษุก็จะฉันอาหารที่นำมาถวายเรื่อย ๆ เช่นกัน เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จก็จะสวดให้พรแล้วกลับไปปฏิบัติกิจของสงฆ์ต่อ ส่วนชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เหลือ มาแบ่งกันรับประทาน พร้อมช่วยกันทำความสะอาด เสร็จแล้วก็จะเก็บของแยกย้ายกันกลับบ้าน
ในปัจจุบันการให้ทานไฟไม่มีวันหรือกำหนดการที่แน่นอน ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความสะดวกของชาวบ้านในละแวกนั้น ๆ ส่วนพิธีกรรมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย สถานที่ที่เคยจัดในลานวัดก็เริ่มหันมาจัดในโรงเรียนเพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กรุ่นหลังช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีนี้เอาไว้ อาหารที่เคยมีแต่อาหารคาวและขนมพื้นบ้านก็ได้มีการเพิ่มอาหารจากต่างประเทศ เช่น ไข่ดาวกับไส้กรอก รวมไปถึงเครื่องดื่มร้อน ๆ อย่าง ชา กาแฟ เข้ามาด้วย และสิ่งสำคัญคือการกระจายตัวของประเพณีที่ไม่ได้มีเพียงแค่จังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ที่ชาวนครศรีธรรมราชเข้าไปอยู่อาศัยก็มีประเพณีนี้เช่นกัน แม้ว่าจะมีหลายสิ่งเปลี่ยนไปในปัจจุบัน แต่การให้ทาน หัวใจสำคัญของประเพณีนี้ยังคงเหมือนเดิม เช่นเดียวกันกับบรรยากาศในช่วงเช้าตรู่ที่ต่างคนต่าง มาร่วมด้วยช่วยกันก่อกองฟืน ปรุงอาหาร ทำบุญ และทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันจนอิ่มทั้งกายและใจ ภาพความสุขเหล่านี้จะยังคงเคียงคู่ไปกับประเพณีที่ชื่อ “การให้ทานไฟ”
บ้านธัมมะ. (2564). ๗. โกสิยชาดก ว่าด้วยโกสิยเศรษฐีขี้ตระหนี่. https://bit.ly/3IQqLnQมูลนิธิอุทยานธรรม. (ม.ป.ป.). ดัดนิสัยตระหนี่โกสิยเศรษฐี. https://bit.ly/3ZGEaF0สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2564). ประเพณีการให้ทานไฟ. https://bit.ly/3HgcNuhOPENBASE คลังเอกสารสาธารณะ. (2008). ประเพณีให้ทานไฟ.
แชร์ 2243 ผู้ชม