หน้าแรก ย้อนกลับ ประเพณีไทปูซัม
ที่มา: Lionel Boon (https://bit.ly/3gqA0eX)
เทศกาลงานประเพณีสิงคโปร์ : ประเพณีไทปูซัม
สิงคโปร์ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีงานเทศกาลและประเพณีเกือบทั้งปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาของกลุ่มคนอันหลากหลายในประเทศ ซึ่งมีทั้งงานเทศกาลและประเพณีของชาวมลายู ชาวจีน ชาวฮินดู และชาวพุทธ
เทศกาลไทปูซัม ตามธรรมเนียมกล่าวว่าได้รับการสร้างขึ้นตามที่คาดคะเนในช่วงหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างอสูรสุรปัทมันกับเทวดา โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้หลายครั้งและไม่สามารถต้านทานการโจมตีของกองกำลังอสูรได้อีก ด้วยความสิ้นหวัง ฝั่งเทวดาจึงเข้าหาพระอิศวรและวิงวอนให้พวกเขามีผู้นำที่มีความสามารถและความกล้าหาญเพื่อต่อสู้กับเหล่าอสูร ภายใต้ความเป็นผู้นำที่กล้าหาญจะทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะเหนืออสูรได้ เทวดาจึงยอมจำนนอย่างสมบูรณ์และสวดอ้อนวอนต่อพระอิศวร จากการร้องขอดังกล่าว พระอิศวรจึงส่งเทพนักรบผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระมุรุคัน(พระขันทกุมาร) ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของตนกับพระนางปราวตี ทันทีที่พระมุรุคันเข้ารับตำแหน่งผู้นำทัพกองกำลังสวรรค์ ท่านได้สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าเทวดาในการต่อสู้กับเหล่าอสูรจนในที่สุดสามารถเอาชนะกองกำลังอสูรได้ ผู้คนจึงได้จัดตั้งเทศกาลไทปูซัม เพื่อรำลึกถึงและถือโอกาสสักการะพระมุรุคัน และเพื่อเฉลิมฉลองที่ธรรมะสามารถเอาชนะอธรรม
เทวรูปพระขันธกุมาร (พระมุรุคัน)
ที่มา: Malaysia Fan Club (https://bit.ly/3sHh1SU)
ไทปูซัมเป็นประเพณีของชาวฮินดูที่นับถือบูชาพระมุรุคัน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความกล้า พลังอำนาจ และคุณความดี เทศกาลไทปูซัมจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันก่อนถึงวันเทศกาล ขบวนราชรถที่ประดิษฐานรูปปั้นพระขันธกุมารจะเริ่มเคลื่อนขบวนจากวัดศรี ธันดายุธาปานี ตั้งอยู่บนถนนแทงค์ ไปยังวัดลายัน สิทธิวินายกะ ตรงถนนค็องเซก ประเทศสิงคโปร์ โดยปกติพิธีไทปูซัมเริ่มตั้งแต่ตอนเช้ามืด ผู้ร่วมพิธีกลุ่มแรกจะเทินศีรษะด้วยหม้อใส่นมและแบกหรือลากกาวาดี ซึ่งเป็นโครงเหล็กหรือไม้รูปครึ่งวงกลม มีไว้เพื่อให้ร่างทรงแต่ละคนเดินแบกไปตลอดเส้นทางของขบวนแห่ กาวาดีจะมีแท่งเหล็กหรือไม้เพื่อรองรับน้ำหนักที่วางลงบนไหล่สองข้างของผู้แบก และประดับประดาด้วยดอกไม้และขนนกยูง กาวาดีบางชิ้นก็มีเหล็กแหลมที่แทงทะลุร่างกายที่มีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัมและสูงถึง 4 เมตร และประดับด้วยรูปปั้นเทพเจ้าทั้งหลายที่ชาวฮินดูเคารพนับถือ บ้างก็เอาเหล็กแหลมเสียบทะลุลิ้น พวกเขาแบกกาวาดีเอาไว้บนบ่าทั้งสองข้างโดยเลี้ยงเอาไว้ไม่ให้กาวาดีตกลงมา
ผู้อุทิศเป็นร่างทรงกำลังแบกกาวาดี
ที่มา: The Lion Raw (https://bit.ly/33jiXZj)
ในระหว่างเทศกาลไทปูซัม นอกจากกิจกรรมหลักอย่างขบวนแห่ยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยสีสันซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังมีบรรดาผู้ศรัทธาชาวฮินดูในสิงคโปร์ออกมาขอพร แก้บน และขอบคุณเทพเจ้าที่ตนนับถือ ในขบวนแห่อันน่าตื่นตานี้ชาวฮินดูทั้งชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดสีเหลืองแล้วตั้งขบวนแห่ไปรอบเมือง บรรดาผู้อุทิศตนที่เป็นร่างทรงจะเดินไกลเป็นระยะทางราว 4 กิโลเมตรพร้อมๆ กับญาติสนิทมิตรสหายที่ร้องเพลงสวดหรือท่องบทสวดมนต์เพื่อให้กำลังใจพวกเขา บรรยากาศงานไทปูซัมจะคล้ายกับงานกินเจที่เกาะภูเก็ต ร่างทรงที่แห่มาในขบวนจะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทำร้ายตัวเองด้วยของมีคมท่ามกลางเสียงสวดมนต์
อ้างอิง
ไทปูซัม. (ม.ป.ป.). ไทปูซัม. https://bit.ly/3gqA0eX
วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). หนังสือชุดประชาคมอาเซียน: สาธารณรัฐสิงคโปร์. (หน้า 167).
สยามคเณศ ดอทคอม. (ม.ป.ป.). พระขันทกุมาร มหาเทพนักรบแห่งสวรรค์. https://bit.ly/34JqfWK
Encyclopædia Britannica, inc. (ม.ป.ป.). Murugan. Encyclopædia Britannica. https://bit.ly/3oO694x
Tok. Wiki. (ม.ป.ป.). ไทปูสัม แหล่งกำเนิดและKavadi Attam. https://bit.ly/3GyLaZI
แชร์ 2436 ผู้ชม