ประเพณีฮารีรายอ วัฒนธรรมสองดินแดน

หน้าแรก ย้อนกลับ ประเพณีฮารีรายอ วัฒนธรรมสองดินแดน

ประเพณีฮารีรายอ วัฒนธรรมสองดินแดน

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/

ประเพณีฮารีรายอ วัฒนธรรมสองดินแดน

          หากจะกล่าวถึงประเพณีที่ชาวมาเลเซียให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่กล่าวถึงประเพณีฮารีรายอ ซึ่งถือเป็นวันเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ของอิสลามิกชนภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติศาสนกิจ ประเพณีฮารีรายอมักจะปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาโดยตรง เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งบทความนี้จะแสดงมุมมองของประเพณีฮารีรายอในประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 60% ของประเทศอย่างมาเลเซีย ทั้งในมุมมองของอาหารและการแต่งกายซึ่งมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกับประเทศไทย

ความหมาย

          ฮารีรายอหรือฮารีรายาเป็นภาษามลายู มีความหมายว่า วันเฉลิมฉลอง วันแห่งความรื่นเริง หรือบางทีเรียกว่า วันอีด ซึ่งมาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า สภาพเดิม โดยถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากเสร็จสิ้นศาสนกิจสำคัญ ได้แก่ พิธีฮัจญ์และการถือศีลอด วันอีดมี 2 ครั้งในรอบปี คือ วันอีดิลฟิฏรีและวันอีดิลอัฎฮา

ความแตกต่างระหว่างวันอีดิลฟิฏรีและวันอีดิลอัฎฮา

          วันอีดิลฟิฏรี หมายถึง วันรื่นเริงเนื่องในการครบรอบเข้าสู่สภาพเดิม กล่าวคือ สภาพที่ไม่ต้องอดอาหาร ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวัล (Shawal) ตามปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิม หรือช่วงเดือนพฤษภาคม ตามปฏิทินสุริยคติ หลังจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นเวลาประมาณ 30 วัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันออกบวช”

          วันอีดิลอัฎฮา “อัฎฮา” หมายถึง การเชือดสัตว์พลี เช่น วัว แกะ แพะ เพื่อแจกจ่ายเป็นอาหารให้แก่คนยากจน จะอยู่ในช่วงเดือนซุลฮิจญะ หรือประมาณเดือนกรกฎาคมที่อิสลามิกชนทั่วโลกได้มีโอกาสไป ประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

          แม้ว่าประเพณีฮารีรายอจะเป็นประเพณีของอิสลามมิกชนทั่วโลก แต่วิถีปฏิบัติของประเพณีฮารีรายอในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากอิทธิพลของบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับใช้ให้สอดรับกับวิถีความเป็นอยู่ของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ดังเช่นความแตกต่างระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ดังบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้

“สำหรับเรา ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ที่มาเลเซียจะมีการเฉลิมฉลอง ทำอาหารกินกันภายในครอบครัว ไปเยี่ยมญาติ เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้ยังรู้สึกถึงบรรยากาศของเทศกาลวันฮารีรายอทั้งเดือน แตกต่างจากที่ไทยที่รายอประมาณหนึ่งวันหลังจากถือศีลอดเท่านั้น”

                                                                             นุรุลญันนะฮ์ เจะตือเงาะ

 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564

 อาหาร

          ในเทศกาลวันฮารีรายอ  ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะมีการจัดเตรียมอาหารและขนมเพื่อต้อนรับการ    เฉลิมฉลอง โดยขนมที่ถือได้ว่าเป็นขนมประจำเทศกาลฮารีรายอ คือ ขนมตูป๊ะหรือตูปัต ซึ่งเป็นขนมประเภทเดียวกันกับที่ชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียนิยมรับประทาน แต่ชาวมาเลเซียจะเรียกว่า เกอตูปัต (Ketupat) ลักษณะของขนมประเภทดังกล่าว ทางภาคใต้ของประเทศไทยจะนิยมทำเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งแตกต่างจากประเทศมาเลเซียที่มักจะสานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ขนมตูป๊ะหรือเกอตูปัตจะทำมาจากข้าวเหนียวกวนกับน้ำกะทิแล้วนำมาห่อหรือสานด้วยใบกะพ้อหรือใบมะพร้าว มีรสชาติหวานมันจากน้ำกะทิ นิยมทานคู่กับอาหารประเภทแกงกะหรี่

ที่มา : ISRANEWS AGENCY

ขนมตูป๊ะ หรือ ตูปัต

ที่มา : TheJakartaPost

ขนมเกอตูปัต

การแต่งกาย

          ศาสนาประจำชาติของประเทศมาเลเซียคือศาสนาอิสลามที่มีความเคร่งครัดในระเบียบปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา โดยเฉพาะการแต่งกายที่สุภาพมิดชิดทั้งหญิงและชาย ดังนั้น ก่อนเทศกาลฮารีรายอ  ชาวมุสลิมมักจะไปเลือกซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อสวมใส่ในวันสำคัญทางศาสนาอย่างวันฮารีรายอ ซึ่งชุดประจำเทศกาลคือ ชุดบาจู กูหรง (Baju Kurung) ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า ปกปิดมิดชิด ลักษณะเด่นของชุดจะเป็นชุดที่ตัดเย็บจากผ้าผืนเดียวกันทำให้สีและลวดลายบนผืนผ้าจะเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด มีความประณีตและสวยงาม เป็นชุดที่ดูสุภาพ ช่วยเสริมความโดดเด่นแก่ผู้สวมใส่

                              ชุดบาจู กูหรง (ชาย)                                                                       ชุดบาจู กูหรง (หญิง) 

                              ที่มา : GENE MARTINO                                                                 ที่มา : GENE MARTINO

การปฏิบัติตนในวันฮารีรายอ

          1. ชาวมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ ตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่าง ๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่มาเยือน ก่อนจะไปละหมาดในวันอีดิลฟิฏรี ทุกคนต้องบริจาคซะกาตฟิตเราะห์ ซึ่งสิ่งของที่นำไปบริจาคจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการบริโภคเป็นหลัก เช่น ข้าวสาร ซึ่งแตกต่างจากวันอีดิลอัฎฮาที่ชาวมุสลิมจะต้องทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์พลีหลังเสร็จละหมาดอีด

          2. การอาบน้ำในวันฮารีรายอ เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จ จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เรียกว่า อาบน้ำสุหนัต เวลาที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมอาบน้ำสุหนัต คือเมื่อแสงอรุณขึ้นขอบฟ้าในวันฮารีรายอ ในขณะอาบน้ำสุหนัต ทุกคนจะต้องกล่าวดุอาอฺเป็นการขอพร

          3. ชาวมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมที่มัสยิด เมื่อเดินทางถึงมัสยิด ทุกคนจะอาบน้ำละหมาดและเข้าไปทำการละหมาดตะฮีญะดุล (การละหมาด 2 รอกาอัตก่อนจะนั่ง) ในมัสยิด โดยมีโต๊ะอิหม่ามเป็นผู้นำละหมาด 2 รอกาอัต ซึ่งรอกาอัต หมายถึง 1 หน่วยของกริยาการทำละหมาด ตั้งแต่ยืน โค้ง ท่าก้มกราบ และท่านั่ง (ในการละหมาด) มีการแบ่งแยกหญิงชายอย่างเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เสร็จแล้วจัดแถวนั่งรอฟังโต๊ะอิหม่าม 

          4. หลังจากละหมาดเสร็จ มุสลิมทุกคนจะนั่งฟังอิหม่ามกล่าวคุฏบะฮ์ (คำอบรมที่ได้สั่งเสียโดยอัลเลาะห์และท่านนบี) เพื่อแนะแนวทางชีวิตด้านความศรัทธาที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติแต่ความดี ละเว้นความชั่วและปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเมื่ออิหม่ามอ่านคุฏบะฮ์จบแล้ว บรรดามุสลิมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรมจะมีการขออภัยต่อกัน โดยผู้น้อยจะเข้าไปขออภัยผู้อาวุโสกว่า

 

 

เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ฮารีรายอ” (หน้า 9060). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18. (2542). มูลนิธิสารานุกรม                      วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

มุสลิมไทยโพสต์. (ม.ป.ป.). “ละหมาด5เวลามีอะไรบ้าง คลิปสอนการละหมาด ความสําคัญของการละหมาด”.                                                  https://bit.ly/3skJ1Ma

วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). หนังสือชุดประชาคมอาเซียน: มาเลเซีย. 114-134.

สำนักข่าวเดลินิวส์. (2557). “วันอีด-ฮารีรายอ” เทศกาลงดงามในศาสนาอิสลาม. https://bit.ly/3GBa5f4

อิ่มร่อน โต๊ะตาเหยะ. (2555). “การอ่านคุตบะฮ์”. https://bit.ly/3rx2pGD

แชร์ 5509 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้