หน้าแรก ย้อนกลับ ประเพณีลอยเรือ
ที่มา : https://prelevicmilos.com/
ประเพณีลอยเรือ
ประเพณีลอยเรือ1เป็นประเพณีที่สืบทอดความเชื่อเรื่องการขับไล่สิ่งอัปมงคลของชาวเล โดยให้สิ่งไม่ดีเหล่านั้นลอยไปกับเรือ ด้วยวิถีชีวิตของชาวเลที่ผูกพันกับทะเล ชาวเลมีความเชื่อว่ามีเทพผู้ปกปักษ์รักษา แสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ในทะเลและบนเกาะ พวกเขาจึงต้องทำพิธีเพื่อบูชาให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้ปกป้องคุ้มครอง พร้อมกับปล่อยเคราะห์ภัย สิ่งไม่ดีให้ออกไปจากหมู่เกาะ ซึ่งประเพณีลอยเรือนั้นจะจัดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ที่ติดทะเลหรือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล และตรัง
ในแต่ละปี ชาวเลจะประสบกับลมมรสุม 2 ครั้ง คือ ลมมรสุมตะวันออก (ลมออก) กับลมมรสุมตะวันตก (ลมพรัด) ชาวเลจึงทำพิธีลอยเรือก่อนถึงช่วงมรสุม ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 13-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติ โดยการทำพิธีแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 วัน
เนื่องจากประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีของเฉพาะกลุ่มชาวเล โดยมีการจัดพิธีกรรม กำหนดการที่แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ บทความนี้จะเล่าเน้นไปที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวเลได้ตั้งรกราก อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัว และหมู่บ้านมายาวนาน
ในวันขึ้น 13 ค่ำ ชาวบ้านทำพิธีอาบน้ำมนต์ที่หาดราไวย์ ชาวบ้านนำโอ่ง ไหขนาดต่าง ๆ บรรจุน้ำและหัวไพลมาวางที่ลานหน้าหมู่บ้าน ปูเสื่อไว้ข้าง ๆ โอ่ง พร้อมจัดหาหมากพลู มะกรูด มะนาว ด้าย และเศษเหรียญมาวางเพื่อประกอบพิธี เมื่อถึงเวลาตะวันตกดิน “โต๊ะหมอ” หรือพ่อหมอเป็นผู้ทำพิธีเริ่มพิธีโดยการจุดธูปเทียน เผากำยานในเตาไฟ พร้อมกับสวดมนต์ไปด้วยแล้วโปรยข้าวตอก ดนตรีพื้นเมืองบรรเลง ขับร้องเพลงบอกกล่าวและเชื้อเชิญ “ดาโต๊ะ” หรือเทพเจ้าให้คุ้มครองพวกเขา นางรำร่ายรำเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า ชาวเลพากันสนุกสนานจนถึงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วอาบน้ำเพื่อล้างมลทินและสิ่งอัปมงคลทั้งปวงออกจากร่างกาย
วันรุ่งขึ้น (วันขึ้น 15 ค่ำ) ชาวบ้านย้ายไปยังเกาะสิเหร่เพื่อทำพิธีลอยเรือที่นั่น ชาวเลกลุ่มหนึ่งจะเข้าป่าเพื่อหาไม้เนื้ออ่อนและไม้ระกำมาใช้ต่อเรือ ตกบ่ายจัดขบวนแห่ไม้ไปรอบหมู่บ้าน ตกเย็นโต๊ะหมอทำพิธีที่หลา (ศาลา) ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของ “โต๊ะตามี่” (ดาโต๊ะ) โต๊ะหมอจัดจานขนมไปเซ่นบูชาดาโต๊ะ ผู้นำแต่ละครอบครัวเตรียมของมาเซ่นไหว้ดาโต๊ะ เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วยข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเหลือง ไก่ย่างและขนม “บลาก้า” (ขนมที่มีรูปลักษณะกลม ๆ ทำจากแป้งข้าวเหนียวสอดไส้ ซึ่งทำจากมะพร้าวเคี่ยวด้วยน้ำตาลแดงคล้ายขนมครกของชาวภาคใต้) และขนมอี๋ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวต้มน้ำตาลใส่ขิง นอกจากนี้ก็มีหมากพลู ของเหล่านี้จะจัดรวมไว้ในจานใบเดียวกัน (ต่อหนึ่งครอบครัว) แล้วก็มีเทียน 1 เล่ม พร้อมกับเหล้าโรง โต๊ะหมอทำพิธีเชิญโต๊ะตามี่มารับเครื่องเซ่น ร่ายมนต์คาถาพร้อมกับโบกธงไปมา พอจบก็จะพากันโห่ 3 ครั้ง เสร็จแล้วพ่อเฒ่าก็จะนำขนมที่ใช้ในพิธีมาแจกจ่ายให้ลูกหลานกิน เป็นอันจบพิธี
ขณะเดียวกันนั้น ชาวเลอีกกลุ่มหนึ่งจะช่วยกันต่อเรือ ส่วนท้องเรือทำด้วยไม้ทองหลาง แล้วต่อขึ้นเป็นรูปเรือด้วยไม้ระกำโดยใช้ไม้ไผ่สอดแทนตะปู ขนาดเรือกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตรเศษ ใบเรือทำด้วยผ้าดิบสีขาว เอาไม้ระกำมาสลักเป็นตุ๊กตาฝีพายประจำเรือจำนวน 12 คู่ เมื่อทำเรือเรียบร้อยแล้วแต่ละครอบครัวจะนำกระทงมาวางในเรือ ในแต่ละกระทงจะทำรูปตุ๊กตาเท่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวนั้น ๆ พร้อมด้วยเศษผม เล็บมือ เล็บเท้าจากสมาชิกครอบครัวทุกคน และมีหมากพลู หอม กระเทียม พริกไทย กะปิ มีด พร้า ขวาน พายสำหรับกรรเชียง เหล้าและเต่า รอบลำเรือตกแต่งด้วยไฟจากแสงเทียน
ถึงเวลาค่ำมืดสนิท บรรดาชาวเลมาพร้อมกันที่เรือพิธี แต่ละคนนำข้าวตอกมาคนละ 1 กำมือ ใช้ข้าวตอกไล่ไปตามลำตัว ทำนองไล่เคราะห์กรรมออกจากร่างกายแล้วทิ้งข้าวตอกนั้นลงในเรือพิธี แล้วร่ายรำเวียนไปรอบ ๆ ลำเรือ จนกระทั่งฟ้าสางจึงช่วยกันยกเรือพิธีไปใส่เรือจริงเพื่อนำไปปล่อยกลางทะเลลึก คนที่นำเรือไปปล่อยต้องเลือกจุดที่ทั้งกระแสน้ำอุ่นและกระแสลมจะไม่พัดพาเอาเรือพิธีกลับมาหาฝั่งอีก จากนั้นเฝ้าดูจนกว่าเรือพิธีจะลอยห่างลับตาไปจึงเป็นอันเสร็จพิธี
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ชาวเล” (หน้า 2042-2044). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5. (2542).
มูลนิธิสารานุกรม วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 6218 ผู้ชม