ภาพสะท้อนค่านิยมและอัตลักษณ์ไทยมุสลิมผ่าน “ชื่อ”

หน้าแรก ย้อนกลับ ภาพสะท้อนค่านิยมและอัตลักษณ์ไทยมุสลิมผ่าน “ชื่อ”

ภาพสะท้อนค่านิยมและอัตลักษณ์ไทยมุสลิมผ่าน “ชื่อ”

ที่มา มุสลิมไทยโพสต์

 

ภาพสะท้อนค่านิยมและอัตลักษณ์ไทยมุสลิมผ่าน “ชื่อ”1

ดร.อภิชญา แก้วอุทัย2

 

        “ชื่อ” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่ใช้แทนบุคคลผู้เป็นเจ้าของชื่อนั้น เป็นคำสั้น ๆ เพียงไม่กี่พยางค์ ที่รวม    มโนทัศน์กว้างไกลของพ่อแม่และสังคมที่มอบให้แก่เด็กที่เกิดใหม่ การตั้งชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิต ชื่อที่ตั้งนั้นจึงมักนิยมให้มีความหมายไปในทางที่ดี เพราะการเรียกชื่อถือว่าเป็นการเพิ่มสิริมงคลให้แก่เจ้าของชื่อ (ศิวรี วรนิตินันท์ 2527: 2) ทั้งนี้ ภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่อคนนอกจากจะสามารถศึกษาในแง่ลักษณะภาษาแล้ว ยังสามารถศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรมได้อีกด้วย (ไศลรัตน์ อิสระเสนีย์ 2546: 1) นอกจากนี้ยังพบว่า “ศาสนา” เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้ภาษาที่ใช้ตั้งชื่อมีความแตกต่างกัน    ทั้งยังบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย โดยจากการศึกษาการตั้งชื่อของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ชั้นปีที่ 1 ถึง ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่              ด้านความหมายและค่านิยมในการตั้งชื่อสามารถสรุปผลได้ดังนี้

1. ความหมายในการตั้งชื่อ

          นิยมนำความหมายทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ซึ่งถือว่าดีมาตั้งเป็นชื่อ              โดยความหมายที่นิยมนำมาตั้งเป็นชื่อมากที่สุดคือ ความหมายที่เกี่ยวกับความดี ความงาม ความประเสริฐ รองลงมาคือความหมายที่เป็นชื่อศาสดา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และความหมายที่เกี่ยวกับเกียรติยศ แสงสว่าง และดอกไม้ หรือพืช ส่วนความหมายที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด คือความหมายที่เกี่ยวกับ สถานที่ สัตว์ จำนวน และความสัมพันธ์ และเมื่อพิจารณาตามเพศพบว่า ความหมายที่ใช้ในการตั้งชื่อระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้

1. เพศชาย มีความหมายที่เกี่ยวข้อง 3 อันดับแรก คือ 1) ชื่อศาสดา ท่านนาบีฯ 2) ความดี ความงามฯ เกียรติยศ ฯ และ 3) เชื้อสาย หรือตระกูล ฯ

2. เพศหญิง มีความหมายที่เกี่ยวข้อง 3 อันดับแรก คือ 1) ความดี ความงาม ฯ 2) ความสะอาด สงบฯ และ        3) แสงสว่าง ฯ ดอกไม้ ฯ

2. ค่านิยมในการตั้งชื่อ                                                                                            

           ชื่อเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นค่านิยม สังคม และอัตลักษณ์ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือไทยมุสลิม ซึ่งปรากฏเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ค่านิยมเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมมีความผูกพันกับศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง      เพราะศาสนาอิสลาม คือ ชีวิตและเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงยึดถือหลัก 3 ประการ อันได้แก่ ความศรัทธา หลักมุขบัญญัติ และจริยธรรมอย่างเคร่งครัดในการตั้งชื่อ เช่น อีมาน (ผู้ศรัทธา) มูฮำหมัด (ชื่อท่านนบี) อัลอามีน (ซื่อสัตย์ สุจริต)    
2. ค่านิยมในเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เชื้อสาย และตระกูล คนไทยมุสลิมให้ความสำคัญเรื่องการให้ความเคารพ ให้เกียรติ การมีความรักในชาติตระกูล ซึ่งเห็นได้จากการตั้งชื่อที่มีคำแสดงเชื้อสายของตระกูลอยู่ แม้ปัจจุบัน ความสำคัญของระบบเชื้อสายเหล่านี้จะลดไปแล้วก็ตาม ชื่อที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เจ๊ะ นิ วัน และ หวัน ได้รับอิทธิพลจากภาษามลายู เป็นคำนำหน้าที่สุภาพแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองในอดีต เช่น นิพาดีละห์ เจ๊ะอับดุลเลาะห์ เป็นต้น
3. ค่านิยมที่แสดงความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้ 1) คำนามที่สื่อถึงสถานที่ เช่น ติรมีซี (ชื่อเมือง) ซารอนะห์ (ชื่อหมู่บ้าน) 2) คำนามที่สื่อถึงสัตว์ เช่น สกุลณี (นก) 3) คำนามที่สื่อถึงพืช เช่น รุสลัน (ข้าว: เป็นอาหารหลักของคนไทย) อาซาฮา (กุหลาบ: เป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความรัก 4) คำนามที่สื่อถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น แซมฮียะห์ (ดวงอาทิตย์) ดารียะ (ความสว่างที่อยู่บนท้องฟ้า) เป็นต้น ทั้งนี้ ค่านิยมต่าง ๆ ข้างต้นล้วนสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และอัตลักษณ์ของคนไทยมุสลิมได้เป็นอย่างดี

 

 

 

1ตัดตอนจาก อภิชญา แก้วอุทัย (2557).ชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม: ภาพสะท้อนค่านิยมและอัตลักษณ์ไทยมุสลิม.                          International Science Conference April 14-15, 2014 at Venice Italy.

2อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคม วัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แชร์ 2180 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้