หน้าแรก ย้อนกลับ นิทานพื้นบ้านภาคใต้
ที่มา นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้านภาคใต้1
นิทานเป็นเรื่องราวที่เกิดจากปัญญาและจินตนาการของมนุษย์ มนุษย์ในแต่ละสังคมรู้จักผูกเรื่องขึ้นเป็นนิทาน เล่าสู่กันฟังมาช้านานแล้ว จึงกล่าวได้ว่าการเล่านิทานเป็น “วัฒนธรรมร่วม” อย่างหนึ่งของมนุษยชาติ นิทานพื้นบ้านในทุกสังคมจึงมี “ลักษณะร่วมกัน” หลายประการ อันถือเป็นลักษณะสำคัญของนิทานพื้นบ้าน ส่วนความแตกต่างในรายละเอียดต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น โดยลักษณะร่วมของนิทานพื้นบ้านพอจะสรุปได้ 4 ประการดังนี้ 1) สืบต่อกันโดยวิธีมุขปาฐะ คือเล่าสู่กันฟังและจดจำเล่าต่อ ๆ กัน 2) เล่าด้วยคำธรรมดาเป็นภาษาร้อยแก้ว 3) มีฉากกับมีตัวละครแสดงพฤติกรรมความเป็นไปของชีวิต 4) มีลีลาการดำเนินเรื่องอย่างง่าย ๆ และ 5) มีเป้าหมายหลักเพื่อความบันเทิงใจของผู้ฟัง
การเล่านิทานสู่กันฟังของชาวภาคใต้แต่เดิมก็ไม่ต่างไปจากภูมิภาคอื่น เพราะนอกจากมนุษย์มีจิตสำนึกพื้นฐานเหมือนกันแล้ว สภาพสังคมของภาคใต้กับภูมิภาคอื่นของไทยในอดีตก็คล้ายคลึงกันคือ เป็นสังคมเกษตรกรรม แม้สภาพภูมิประเทศภาคใต้จะเอื้อให้ชาวภาคใต้มีอาชีพหลักอื่น ๆ ต่างไปจากชาวภูมิภาคอื่นบ้าง เช่น ทำประมงทำเหมืองแร่ ทำสวนยาง ฯลฯ แต่สภาพชีวิตชาวใต้แต่เดิมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “สังคมชาวบ้าน” มากกว่า “สังคมชาวเมือง” สภาพสังคมเช่นนี้ทำให้ผู้คนสนิทมักคุ้นเคยกันมาก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพบปะสังสรรค์กันตามสภาพชาวชนบททั่วไป และนิทานเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ชาวภาคใต้นิยมกัน เพราะการเล่าและฟังนิทานไม่ต้องมีพิธีรีตองหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่อย่างใด สามารถเล่าฟังกันได้แทบทุกโอกาส และสามารถเลือกเรื่องหรือปรับเปลี่ยนเรื่องให้เหมาะกับกลุ่มผู้ฟังได้ง่าย โดยประเภทเนื้อหาของนิทานพื้นบ้านภาคใต้ แบ่งออกเป็น 5ประเภท ได้แก่ 1.นิทานมุกตลก ได้แก่ นิทานมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ลักษณะนิสัย และมุกตลกแบบย้อนผู้ฟัง 2.นิทานอธิบายได้แก่ นิทานอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์ และพืช 3.นิทานภูมินาม ได้แก่ นิทานเกี่ยวกับสถานที่ตามธรรมชาติและนิทานเกี่ยวกับชุมชนของมนุษย์ หรือ สถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น 4.นิทานเกี่ยวกับความเชื่อ มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในอำนาจเร้นลับ เช่น ผีสางนางไม้ เทวดา เจ้าที่เจ้าทาง อำนาจไสยศาสตร์ 5.นิทานคติ เป็นนิทานที่มีเนื้อหาในทางสั่งสอนอบรมหรือให้คติในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ฟัง
นิทานพื้นบ้านเป็นผลิตผลทางปัญญาของมนุษย์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ วันเวลาที่ผ่านไปทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีต่าง ๆ สูงขึ้น ความสงสัยในความเป็นมาของชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ก็ได้รับคำตอบที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้มนุษย์มีรูปแบบของความบันเทิงที่หลากหลายและมีเครื่องมือที่ให้ความบันเทิงมากขึ้น ตลอดจนสภาพสังคมของชาวใต้ก็เริ่มเปลี่ยนไปจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ปัจจัย เหล่านี้ส่งผลให้ความนิยมการฟังนิทานพื้นบ้านภาคใต้เสื่อมคลายลง บรรดานิทานเก่าแก่หลายเรื่องหลายประเภทสูญหายไปพร้อม ๆ กับการเสียชีวิตของคนเฒ่าคนแก่เพราะขาดการรับช่วงสืบต่อ และแม้บางเรื่องจะมีการรับช่วงสืบต่ออยู่บ้าง แต่ก็นับวันเนื้อหาและภาษาถูกปรับเปลี่ยนไปตามลีลาการเล่าต่อของผู้เล่าสมัยใหม่มากขึ้น
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “นิทานพื้นบ้านภาคใต้” (หน้า 3790-3797). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 8. (2542). มูลนิธสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 2888 ผู้ชม