หน้าแรก ย้อนกลับ เพลงกล่อมเด็กไทยพุทธภาคใต้
ที่มา เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
เพลงกล่อมเด็กไทยพุทธภาคใต้
เพลงกล่อมเด็กของไทยพุทธในภาคใต้1มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นว่า เพลงร้องเรือ เพลงน้องนอน เพลงชาน้องหรือเพลงช้าน้อง และที่ปรากฏตามบทเพลงเก่า ๆ หลายบทเรียกว่า “เพลงเสภา” ซึ่งเพลงกล่อมเด็กใช้เป็นบทขับกล่อมให้เด็กนอนหลับเร็วและหลับสนิท จากการศึกษาพบว่าทุกละแวกบ้านที่มีครัวเรือนตั้งแต่ 30 ครัวเรือนขึ้นไป ซึ่งเป็นครัวเรือนที่ตั้งครอบครัวมาแล้วกว่า 20 ปี จะมีเพลงกล่อมเด็กอยู่ประมาณ 120-500 บท ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับอายุ ความสนใจ และความสามารถในการจำของผู้สืบทอดในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยฉันทลักษณ์ เพลงกล่อมเด็กไทยพุทธภาคใต้ เป็นบทกลอนชาวบ้าน ส่วนมาก 1 บทจะมี 8 วรรค ในแต่ละวรรคมีคำประมาณ 4-7 คำบางวรรคอาจน้อยหรือมากถึง 10 คำ และบางบทอาจมีความยาวถึง 30 วรรคหรือมากกว่านั้น โดยบทเพลงที่มี 8 วรรค ส่วนมากวรรคที่ 4 กับวรรคที่ 7 จะมีข้อความซ้ำกันหรือต่างกันเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น
น้ำมากเหอ จมรากลอกอ
ยายเฒ่าแกอ้อร้อ ยอลูกสาวว่าดี
ลูกสาวคบชู้ นางแม่หารู้สักที
ยอลูกสาวว่าดี บัดสีชาวหลังสวน (อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพร)
การร้องเกริ่นและทำนอง จะขับร้องแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นแต่ส่วนมากจะเกริ่นนำด้วยคำว่า “ฮาเอ้อ” ตามด้วยคำในวรรคแรกแล้วจบวรรคด้วยคำว่า “เหอ”
คำขึ้นต้นบท คำขึ้นต้นบทเพลงกล่อมเด็กภาคใต้นิยมใช้ทั้งคำที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ชื่อสัตว์กับพืชที่มีมากใน ท้องถิ่น เช่น ต้นกล้วย ต้นพร้าว ไก่เถื่อน ฯลฯ หรือคำกริยามักเกี่ยวกับเรื่องกิริยาอาการต่าง ๆ ในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ เช่น ตกเบ็ด ไถนา ปลูกเรือน ฯลฯ หรือคำที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ฝนตก แดดออก เดือนขึ้น และคำที่เป็นนามธรรมแสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น แค้นใจ เจ็บใจ รักกัน เป็นต้น
เนื้อหาสาระ เพลงกล่อมเด็กไทยพุทธภาคใต้จำแนกเนื้อหาสาระออกเป็น 5 ลักษณะ คือ 1) ขับกล่อมเพื่อ ช่วยให้เด็กหลับเร็ว 2) มีเนื้อหาสาระเชิงให้ความรู้ 3) มีเจตนาให้ความบันเทิงใจ 4) มีเนื้อหาสาระที่จะปลูกฝังคุณธรรมแก่เยาวชน และ 5) มีเนื้อหาสาระเพื่อปกปักรักษาปทัสถานของสังคม (อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และจรรโลงศาสนา)
ปัจจุบันพบว่าความนิยมในการร้องเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ค่อยเสื่อมคลายลงมาก แต่ยังถือปฏิบัติกันอยู่บ้าง เฉพาะในชนบทและในกลุ่มคนที่มีอายุมากเท่านั้น
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “เพลงกล่อมเด็กไทยพุทธภาคใต้” (หน้า 5522-5525). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 11. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 2442 ผู้ชม