หน้าแรก ย้อนกลับ วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
ที่มา The Cloud
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้1 ในที่นี้ให้หมายแต่เฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับภาคใต้และที่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์- อักษร โดยผู้บันทึกมีเจตนาจะให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ยาวนาน และสามารถสืบสานสาระต่อไปในภายภาคหน้าได้ด้วยการอ่านหรือฟังผู้อื่นอ่านวรรณกรรมท้องถิ่น รวมทั้งเรื่องราวที่มีโครงเรื่อง มีนาฏการของตัวละคร และเรื่องราวที่ไม่มีโครงเรื่องและไม่มีตัวละคร แต่ต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่รวมถึงวัฒนธรรมที่บอกเล่ากันด้วยปากเปล่า หรือที่เรียกกันว่ามุขปาฐะ โดยวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้มีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) สิ่งที่ใช้จารหรือใช้เขียน 2) ตัวอักษรและอักขรวิธี 3) ภาษา 4) เนื้อหาที่นำมาบันทึก 5) ผู้แต่ง หรือผู้สร้างสรรค์ หรือผู้กำหนดเนื้อหา 6) องค์ประกอบอื่น ๆ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
1.สิ่งที่ใช้จารวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
สิ่งที่นำมาใช้จารหรือเขียนบันทึกเรื่องราวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งแท่นศิลา แผ่นศิลา แผ่นดินดิบ ดินเผา รวมถึงแผ่นโลหะ ได้แก่ แผ่นทอง แผ่นเงิน หรือใบไม้ เช่น ใบตอง ใบลาน และแผ่นกระดาษ ได้แก่ สมุดข่อย ตลอดจนกระดาษฝรั่ง แต่ในวัฒนธรรมการสร้างวรรณกรรมภาคใต้ที่พบมากมีเพียง ศิลา แผ่นทองคำ ใบลาน สมุดข่อย หรือที่ในท้องถิ่นเรียกว่า บุด และกระดาษฝรั่ง
2.ตัวอักษรและอักขรวิธีที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
การใช้อักษรในศิลาจารึกภาคใต้ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 เป็นอิทธิพลจากภายนอก ได้แก่ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรมอญอักษรทมิฬ และอักษรขอม ครั้นถึงพุทธศตวรรษ ที่ 18 วัฒนธรรมการใช้ใบลานและสมุดข่อยรุ่งโรจน์และเป็นช่วงที่นิยมใช้อักษรขอมตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การใช้อักษรไทยและอักษรขอมไทยพบหลักฐานที่ชัดเจนจากจารึกบนแผ่นทองคำที่ใช้หุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกแผ่นที่ 49 ซึ่งก่องแก้ว วีระประจักษ์ จำลองอักษรอ่านและแปลจารึกแผ่นนี้ พบว่ามีการใช้อักษรไทย 2 บรรทัด ขนาดกว้าง 11 เซนติเมตร ยาว 47 เซนติเมตร และเมื่อตรวจสอบจารึก พบว่าตรงกับปี พ.ศ. 2159 (มหาศักราช 1538 จุลศักราช 978 ปีมะโรงอัฐศก) ซึ่งตรงกับแผ่นดินของ พระเอกาทศรถ ทว่าในช่วงเวลานั้นอักษรไทยยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากนัก และหลังจากนั้นส่วนใหญ่ยังนิยมใช้อักษรขอม การใช้อักษรไทยเริ่มแพร่หลายในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ในช่วงรัชกาลที่ 3-6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การใช้อักขรวิธีในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้แตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่แต่ง ส่วนใหญ่จะจารตามสำเนียง ท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อสำเนียงใดของภาษาถิ่นไม่มีสัทอักษรที่จะถ่ายทอดได้ตรง ก็อาจยักย้ายสัทอักษรที่มีอยู่แล้วใช้ต่างแทน เช่น ตอมือ (แทน ข้อมือ) ฆดี (แทน ก็ดี) และ สุกคาเสม (แทน สุขเกษม) ซึ่งเหล่านี้จะไม่มีปัญหาในการอ่าน ที่มักมีปัญหาก็คือ การใช้รูปวรรณยุกต์ การอ่านและการปริวรรต จึงต้องอาศัยพลความและบริบทอื่นประกอบ เช่น ได้คำขอม อาจเขียนเป็น “ไดคำขอม” หรือ “ใดคำขอม” หรือ “ได่คำขอม” นายดัน อาจเขียนเป็น “นายดั่น” ย่อเค้าตำรา อาจเขียนเป็น “ยอเข้าตำหรา” หรือ “ยอเค่าตำมรา” หรือ “ยอเข้าตำมรา” ก็มี
3.ภาษาที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
ภาษาที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้มีดังนี้ 1) ภาษาบาลีและสันสกฤต ในศิลาจารึกใช้ภาษาบาลี เมื่อต้อง บันทึกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พระอภิธรรม 2) ใช้ภาษาไทยปนขอมในวรรณกรรมที่ต้องการให้แพร่หลายในความนิยมศรัทธา มีทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับความเชื่อ การประกอบพิธีกรรม และนิทานประโลมโลกบางเรื่อง เช่น เรื่องไชยเชษฐ์ (คำกาพย์) บุดขาว ฉบับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำราดูลักษณะชายหญิง เรื่องที่นั่งชายที่นั่งหญิง (คำกาพย์) และหนังสือบุดขาว ฉบับอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นต้น 3) ใช้ภาษาไทย ได้แก่ หนังสือประเภทตำรายา หนังสือสวด (อ่านเพื่อให้อ่านหนังสือแตกฉาน) นิทานประโลมโลก ตำราความรู้ทั่วไป เช่น พงศาวดาร พระธรรมเทศนา พระศรีสุธน สุบิน ยันต์ ฤกษ์ยาม ฯลฯ
4.เนื้อหาสาระในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
เนื้อหาสาระที่ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประกอบด้วย 1) จากประสบการณ์ของผู้เขียน 2) ความรู้ที่เกิดจากการสร้างสมและสืบสานต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น 3) ความคิดเห็นและความคิดคำนึงของผู้เขียน 4) ความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น 5) ความเชื่ออันเนื่องด้วยศาสนา และ 6) ความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มคนภายนอก เช่น จากคนเมืองหลวง หรือชาวต่างประเทศที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นต้น โดยเนื้อหาสาระสำคัญในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ จำแนกประเภทได้ดังนี้ 1) กฎหมาย 2) ศาสนา 3) ตำนาน 4) ตำรา 5) ความเชื่อ 6) คำสอน 7) นิทานประโลมโลก 8) นิทานชาดก 9) ประวัติ และ 10) เบ็ดเตล็ด
5.ผู้แต่ง
“บัณฑิตชาวใต้” ที่สามารถแต่งวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นผู้แตกฉานภาษาบาลี ภาษาไทย และอักษรขอม การแต่งวรรณกรรมส่วนใหญ่มีเจตนา “สร้างเป็นพุทธบูชา” จึงไม่นิยมที่จะบอกชื่อผู้แต่ง
คำว่า “ผู้สร้าง” ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ อาจหมายถึง (1) ผู้รจนา (2) ผู้มีกุศลจัดการให้แต่งหรือคัดลอกไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา และ (3) ผู้ทำหน้าที่คัดลอกจากต้นฉบับเดิม ดังนั้นผู้สร้างจึงอาจไม่ใช่ผู้แต่งหรือผู้รจนาก็ได้
คำว่า “ผู้เขียน” อาจหมายถึงผู้แต่งหรือผู้คัดลอกก็ได้
6.องค์ประกอบอื่น ๆ
จุดมุ่งหมายในการแต่งวรรณกรรมท้องถิ่นใต้ ส่วนใหญ่แต่งขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือแต่งขึ้นเพื่อเป็นหนังสือ สวด คือ สวดอ่านเพื่อให้การอ่านหนังสือแตกฉาน อีกส่วนหนึ่งมักเป็นการรวบรวมองค์ความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งไว้ใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น ตำรายา ตำราฤดูฤกษ์ยาม ดูลักษณะสุภาษิต คำสอน เป็นต้น คุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ส่วนใหญ่มีคุณค่าในการใช้อบรมกุลบุตรธิดา การเผยแพร่พระศาสนา และสะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรม ผนวกด้วยคุณค่าเฉพาะทาง เช่น ตำรายา มักใช้ในการรักษาไข้ ตำราเรียน ใช้เพื่อเป็นแบบเรียนตามวัฒนธรรม พื้นบ้าน เป็นต้น
ลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ คือ กาพย์ ชนิดของกาพย์ที่นิยมกันคือ ราบ (สุรางคนางค์) 28 และ 32 กาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง ส่วนคำประพันธ์ประเภท ฉันท์ กลอน โคลง และร่าย พบบ้างแต่น้อยกว่ากาพย์
สมัยที่แต่งวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ส่วนใหญ่จะไม่บอกปีที่แต่ง ที่บอกบ้างอาจเป็นปีที่แต่งหรือปีที่คัดลอก แล้วแต่กรณี
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้” (หน้า 7052-7066). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 14. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
แชร์ 27285 ผู้ชม