กลอนชาวบ้าน
กลอนชาวบ้าน1 เป็นคำคล้องจอง กาพย์ กลอนแปด ที่ชาวบ้านแต่งขึ้นหรือผูกขึ้น มีลักษณะสั้นกะทัดรัด ได้ใจความสมบูรณ์ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีน้อย ส่วนมากมีผู้ผูกขึ้นในใจ แล้วบอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้ จดจำบอกเล่าต่อ ๆ กันไป
คำคล้องจอง กาพย์ กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด ชาวบ้านนิยมเรียกรวมกันว่า “กลอน” ส่วนที่เป็นโคลงหรือ ฉันท์ไม่ค่อยมี เพราะชาวภาคใต้สมัยก่อนไม่นิยมคำร้อยกรอง 2 ประเภทนี้ อาจเป็นเพราะแต่งยาก พูดไม่คล่องปาก ถ้าไม่นับเพลงร้องเรือ กลอนชาวบ้านจึงมี 5 ลักษณะ คือ คำคล้องจอง กาพย์ กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด ดังกล่าวแล้ว
กลอนชาวบ้านมีมาก ไม่ค่อยมีผู้ใดรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน เมื่อคนที่จดจำกลอนชาวบ้านไว้ได้ตายจากไป กลอนชาวบ้านก็พลอยตายตามไปด้วย กลอนชาวบ้านไม่ปรากฏชัดว่า ใครเป็นผู้แต่ง แต่งเมื่อใด ที่บอกชื่อผู้แต่งได้มีน้อยมาก กลอนชาวบ้านนอกจากให้สุนทรียะทางอารมณ์แล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านอื่น ๆ อีกมาก พอสรุปได้ดังนี้
ตัวอย่าง
“ถึงเดือนสิบปีระกาพระโคกหัก
ทำฤทธิ์ยักษ์ชิงลามือคว้าขวาน
ตีหัวเณรถึงแตกแหกร้าวราน
ท่านสมภารอยู่ไม่ได้ภายหอครอง”
วัดโคกหักอยู่ในตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นายหนูบ้านหนองเส้อ อยู่ตำบลเดียวกันเป็นผู้แต่ง
ตัวอย่าง
“ผักดีปลาดีหวาย (ถวาย) ชีวัดนอก
ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออกบอกชีวัดใน”
วัดปรางหมู่นี้ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มี 2 วัด วัดปรางหมู่ใน มีหลวงพ่อสงเป็นเจ้าอาวาส เป็นหมอยา หมอดูฤกษ์ดูยาม เป็นช่างโลงศพ จรวด ดอกไม้ อ้ายตูม2 มีผู้คนมาหาเกี่ยวกับงานศพ หรือยามเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ วัดปรางหมู่นอก อยู่ทางตะวันออก ห่างกันประมาณ 1 เส้น สมัยนั้นท่านพระครูอินทโมฬีเป็นเจ้าอาวาสมีผู้คนนำภัตตาหารไปถวายไม่ขาด หลวงพ่อสงจึงผูกกลอนขึ้นประชดชาวบ้าน3
3.ประเภทความเชื่อ
ตัวอย่าง
“ห้ามเผาผีวันศุกร์
ห้ามโกนจุกวันอังคาร
ห้ามแต่งงานวันพุธ”
ถ้าทำงานในวันที่ห้ามไว้จะเกิดโทษหรือมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้
4.ประเภทลายแทงปริศนาคำทาย
ตัวอย่าง
“โพรกเพรงแก้วข้า
มีพระอุ้มลูก
ข้างหนึ่งอย่าได้ถูก
ข้างหนึ่งอย่าได้ต้อง
คดข้าวให้กากิน
กานั้นจะบอกทอง”
วัดโพรกเพรง ตั้งอยู่ในตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีพระปฏิมาปูนปั้นมืออุ้มบาตร มีผู้แก้ลายแทงนี้ได้ เจาะตรงข้อศอกของพระปฏิมา ได้ทองคำหนัก 10 บาท เจาะที่กาล้วงหม้อทั้งสองข้าง ได้เพชร 2 เม็ด ผู้แก้ลายแทงได้ซ่อมพระปฏิมาให้มีสภาพเดิม อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดลานแซะในปัจจุบัน เป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ตัวอย่าง
“เมื่อแมวอยู่หนูเปรียบเงียบสงัด
เมื่อแมวลัดหลีกไปไกลสถาน
ฝ่ายพวกหนูกรูกราววิ่งร้าวราน
เสียงสะท้านหวั่นไหวอยู่ในครัว”
พระมหาสมนึก ครูสอนโรงเรียนบาลีวัดสุวรรณ แต่งขึ้นเตือนสติให้นักเรียนอยู่ด้วยความเรียบร้อย เมื่อไม่มีครูสอน
ตัวอย่าง
“เยี่ยวเหมือนเสียงปี่
ขี้เหมือนยอดเทริด4 ”
แสดงถึงว่าผู้นั้นมีสุขภาพสมบูรณ์
ตัวอย่าง
“เมืองลุงขี้ด่า
สงขลาปากบอน
เมืองคอนปากหวาน”
คนเมืองลุง เวลาพูดชอบขึ้นต้นด้วยคำด่าเสียก่อนอย่างติดปาก ชาวสงขลาชอบฟ้อง นินทา ชาวนครพูดจาไพเราะ แต่ไม่จริงใจ ที่เรียกกันว่า “ลิ้นคอน”
ตัวอย่าง
“คุ้นกับหญิง วิ่งฉัดกร้อ
ฉ้อคนโม่ โห่ช้างหระ
เขเรือไฟ ไปกับพระ”
คือในสมัยก่อนนั้นใครได้คุ้นเคยกับลูกสาวเขาโดยพ่อแม่ไม่หวงถือว่าหรอย พวกที่เพิ่งหัดเตะตะกร้อใหม่ พวกไม่ให้เข้าวง คอยเตะนอกวงเมื่อตะกร้อหลุดออกมาคือนาน ๆ ได้เตะสักครั้งถือว่าหรอย ฉ้อคนโม่ก็หรอย โห่ช้างหระ คือในสมัยก่อนในท้องถิ่นหัวไทร-ระโนด มีช้างชนิดหนึ่งตัวเล็กมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ช้างพระ ช้างหัวแดง ช้างแคระ ช้างท่ง ช้างนกยางเข ช้างหระ มีอยู่ในท้องทุ่งตั้งแต่ระโนด-หัวไทร-ชะอวด-เชียรใหญ่ ช้างพวกนี้มักอาศัยอยู่ในป่าพรุ ออกหากินกลางคืน โดยออกมากินข้าวของชาวนา โขลงหนึ่ง ๆ มีอยู่หลายสิบเชือก ถ้าใครได้โห่ให้ช้างหระเหยียบนาเพื่อนก็ถือว่าหรอย เขเรือไฟ ในสมัยนั้นมีเรือกลไฟวิ่งระหว่างหัวไทร-ปากพนัง อยู่เพียงลำเดียว (เรือยนต์ยังไม่มี) แต่ละเที่ยวคนแน่นแย่งกันขึ้นเพราะเป็นของใหม่ ถ้าใครได้เขเรือไฟก็ถือว่าหรอย ไปกับพระก็ถือว่าหรอยปาก เพราะไม่อด
กลอนชาวบ้าน เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ที่ช่วยกันรังสรรค์ สั่งสมกันมานับเป็นเวลายาวนาน ให้ความรู้คติเตือนใจ ความเพลิดเพลิน มีคุณค่าสูงสุด แม้คนปัจจุบันจะคิดแต่งขึ้นบ้างไม่ค่อยมีใครยอมรับ สู้ของเก่าไม่ได้ กลอนชาวบ้านที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “กลอนชาวบ้าน” (หน้า 191-195). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 1. (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2อ้ายตูม เป็นเครื่องใช้สำหรับจุดระเบิด ทำจากไม่ไผ่ ในอดีตชาวบ้านนิยมใช้จุดในงานศพคืนสุดท้าย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ วิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์
3เพื่อแสดงว่ายามเดือดร้อนชาวบ้านจะมาขอความช่วยเหลือหลวงจากหลวงพ่อสง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปรางหมู่ใน แต่พอมี ความสุขกลับนำอาหารไปถวายท่านพระครูอินทโมฬี เจ้าอาวาสวัดปรางหมู่นอก
4เทริด คือ เครื่องประดับศีรษะรูปมงกุฎทรงเตี้ย มีกรอบหน้า ใช้ในการแสดงมโนราห์
แชร์ 6238 ผู้ชม