มวยกาหยง

หน้าแรก ย้อนกลับ มวยกาหยง

เจ้าของผลงาน จรรยา หีดแก้ว Articles Others


 

มวยกาหยง

 

จรรยา หีดแก้ว1

 

     มวยกาหยง หรือกาหยง เป็นศิลปะการแสดงที่ใช้ในการแก้บนหรือแก้เหมย2 เมื่อหายจากการเจ็บป่วยหรือ    ปลอดภัยจากภัยพิบัติในท้องทะเลของชาวไทยใหม่ที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมวยกาหยงเป็นศิลปะการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้า แนวคิด ทัศนคติความเชื่อ และวิถีชีวิตของบรรพบุรุษชาวไทยใหม่ตั้งแต่สมัยบรรพกาล  

       ชาวไทยใหม่ คือ ชนกลุ่มน้อยพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวมลายูที่อาศัยอยู่ทางแถบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและ    ทะเลอันดามัน โดยก่อนที่ชาวกลุ่มน้อยดังกล่าวจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานในไทย ได้ใช้ชีวิตอยู่บนเรือจนได้รับสมญาว่าเป็นยิปซีแห่งท้องทะเล โดยชาวไทยใหม่ที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เป็นชาวเลที่มาจากสองเชื้อสาย คือพวกสิงห์ และพวกอูรักลาโว้ย ซึ่งพวกอูรักลาโว้ยเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนอพยพมาจากเกาะในแถบประเทศมาเลเซียและยึดหาดราไวย์เป็นบ้านมาตั้งแต่สมัยร้อยกว่าปีที่แล้ว ส่วนพวกสิงห์เชื่อว่าบรรพบุรุษดั้งเดิมอยู่บริเวณเกาะในประเทศพม่า

        ชาวเลมีความเชื่อในเรื่องบรรพบุรุษ สิ่งเหนือธรรมชาติ โชคลาง และวิถีชีวิตทุกย่างก้าวผูกพันเชื่อมโยงกับเรื่องราวของท้องทะเลแทบทั้งสิ้น ดังนั้นศิลปะการแสดงมวยกาหยงจึงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อมโยงระหว่างทัศนคติความเชื่อ วิถีชีวิต และศิลปะการแสดงที่มีมาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณของชาวเลเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นกุศโลบายอันแสนแยบยลที่บรรพบุรุษของชาวไทยใหม่สร้างขึ้นเพื่อให้ลูกหลานชาวเลมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจยามเมื่อประสบภัยอันตรายจากท้องทะเล โดยเฉพาะในอดีตกาล ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์เป็นเรื่องที่ไกลห่างจากผู้คน และอุบัติภัยในท้องทะเลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการบนบานศาลกล่าวจึงก่อให้เกิดกำลังใจ สร้างแรงศรัทธาของการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา รวมทั้งสามารถบรรเทาความหวาดกลัวต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในท้องทะเล

          ปัจจุบันมวยกาหยงเป็นศิลปะการแสดงทั้งของชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมในหมู่บ้านบริเวณชายหาดราไวย์        จังหวัดภูเก็ต แต่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เนื่องจากการแสดงเป็นการต่อย เตะ ยกแข้ง ยกขาเหมือนมวยไทย ทั้งนี้มวยกาหยงเป็นศิลปะการแสดงที่หาชมได้ยากมาก เพราะจะแสดงเฉพาะในพิธีแก้บนและพิธีไหว้ครูมวยกาหยงประจำปีเท่านั้น แม้ว่าปัจจุบันเริ่มมีคนมาว่าจ้างหรือเชิญให้ไปแสดงโชว์ แต่ก็เป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการดูมวยกาหยงอย่างเต็มรูปแบบต้องดูในพิธีไหว้ครูของชาวไทยใหม่ที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี โดยพิธีไหว้ครูจะประกอบด้วย 1) ครูหมอหรือโต๊ะครู 2) นักมวย 3) ของบวงสรวง 9 ชนิด อันได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยเปรี้ยวและกล้วยขมอย่างละหนึ่งเครือ เครื่องหอมกำยาน เหล้าขาวหนึ่งแก้ว น้ำหรือน้ำหวานหนึ่งแก้ว ข้าวตอก หมากพลูหนึ่งคำ ใบจากหรือบุหรี่ เทียนขาวหนึ่งเล่ม และกำนล3 เงินบูชาครู โดยจำนวนเงินให้ขึ้นอยู่กับความศรัทธาแต่ให้จำนวนเงินลงท้ายด้วยเลข 9 และ 4) เครื่องดนตรี 4 ชิ้น ได้แก่ กลองทนหรือชาวเลเรียกเกอนักกาหยก จำนวน 2 ลูก ปี่กาหยงหรือหรือชาวเลเรียกสุไนกาหยก จำนวน 1 เลา โหม่งหรือหรือชาวเลเรียกตะวะกาหยกจำนวน 1 ใบ และไม้แกระที่ชาวเลเรียกว่ากาหยู้กาหยกหรือกาโตะกาแฉะ จำนวน 1 อัน

 

1 นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2 การเซ่นสรวงสิ่งศักดืสิทธิ์ตามที่ตนได้บนบานไว้

3 เงินค่าคำนับครู

Share : แชร์ 3349 ผู้ชม 12 สิงหาคม 2564

มวยกาหยง
ห้องแสดงผลงาน