เจ้าของผลงาน ณัฐฐิรา พรมมา Articles Students
“ซั้ง” ขนมหวานของจีนโพ้นทะเลสู่ภูมิปัญญาถิ่นปักษ์ใต้ไทย
ณัฐฐิรา พรมมา1
วัฒนธรรมอาหารของภาคใต้นับได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยความหลากหลายทาง พหุวัฒนธรรมของอาหารภาคใต้ที่ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติ ทำให้เกิดตำรับสูตรอาหารใหม่ขึ้นมามากมาย อีกทั้งยังมีความพิเศษที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นในด้านรสชาติที่มีความเผ็ดจัดจ้านเน้นเครื่องเทศในการปรุงรสอาหาร หรือในด้านของกรรมวิธีการทำขนมหวานที่ประกอบไปด้วยส่วนผสมของน้ำตาลโตนด ข้าวเหนียวเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่หาได้จากในพื้นที่ ซึ่งถือได้ว่าอาหารของคาวและของหวานพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไปจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารอินเดียใต้ รวมถึงอาหารจีน โดยชาวภาคใต้มักจะนำวัฒนธรรมอาหารของต่างชาติมาทำการดัดแปลง ปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมอาหารใต้ ทำให้อาหารของถิ่นปักษ์ใต้มีลักษณะที่พิเศษและแตกต่างจากภาคอื่น
ทั้งนี้ หนึ่งในขนมหวานชื่อดังของภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติและสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น พหุวัฒนธรรมของอาหารอย่างเห็นได้ชัด คือ ‘ขนมซั้ง’ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ขนมกี่จ่าง’ ขนมหวานรสชาติอร่อยประจำถิ่นแดนใต้ที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลากลายเป็นขนมโบราณหายากในยุคสมัยนี้ สำหรับเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและไม่นิยมรับประทานกันมากนัก แต่ในทางกลับกันขนมซั้งได้รับความนิยมจากผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายจีนก็ยังคงรับประทานกันอย่างล้นหลาม ทำให้ขนมซั้งถือเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่มีการสอดแทรกความเป็นพหุวัฒนธรรมด้านอาหารของชนชาติไทยผสมผสานกับเมืองแผ่นดินใหญ่อย่างประเทศจีนได้อย่างลงตัว
บ้านควนเนียง ถิ่นกำเนิดของขนมซั้งในไทย
ปัจจุบันแหล่งภูมิปัญญาการทำขนมซั้งของภาคใต้ที่ยังคงเหลืออยู่คู่ชาวบ้านพื้นที่ท้องถิ่นมากที่สุด คือ พื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา นับได้ว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของขนมซั้งภาคใต้ที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากมีการผลิตจำหน่ายส่งออกต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศมาเลเซียด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหรือไม่เคยรับประทานขนมซั้ง จึงไม่ควรพลาดอย่างยิ่งในการเปิดประสบการณ์ลิ้มลองความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ของขนมซั้งโบราณแห่งแดนปักษ์ใต้
ขนมซั้ง (ขนมกี่จ่าง)
ความโดดเด่นของวัฒนธรรมการกินขนมซั้ง
เสน่ห์ที่เป็นลักษณะเฉพาะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ขนมซั้ง คือ กลิ่นหอมละมุนของใบไผ่เมื่อทำการต้มสุกเรียบร้อยแล้ว โดยชาวบ้านจะนำใบไผ่มาห่อหุ้มข้าวเหนียวให้มีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยม ภายในมีข้าวเหนียวสีเหลืองใสงดงามดั่งแก้ว คล้ายบ๊ะจ่างที่มีขนาดเล็กกว่าและไม่มีไส้ เหนียวนุ่มน่ารับประทานปราศจากรสขมแต่จะมีรสชาติจืด แต่ละคนจึงมีวิธีการรับประทานแตกต่างกันไปตามความชอบส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการกินแบบเปล่า ๆ สัมผัสได้ถึงความอร่อยของข้าวเหนียว หรือจะนำมาจิ้มกับน้ำตาลอ้อยเพื่อเพิ่มความหวาน บางคนอาจชื่นชอบเมื่อนำมารับประทานคู่กับน้ำแข็งใสเติมน้ำเชื่อมให้คลุกเคล้าเข้ากันก็สามารถทำให้รสชาติของขนมซั้งมีความอร่อยได้อีกแบบเช่นกัน
ขนมหวานจากดินแดนมังกร ถึงชาวบ้านจังหวัดสงขลา
หลายคนเรียกชื่อขนมซั้งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ในท้องถิ่นนั้น ดังเช่น ขนมซั้ง กี่จ่าง ขนมซั้ง ขนมจั้ง แต่ชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน จะเรียกขนมซั้งว่า ‘จีซั้ง’ แถบภาคกลางเรียกว่า ‘ข้าวต้มน้ำวุ้น’ เพราะ ข้าวเหนียวมีลักษณะใสคล้ายวุ้น ต้นกำเนิดดั้งเดิมขนมซั้งมาจากประเทศจีน เนื่องจากคนจีนสมัยก่อนได้ทำการอพยพย้ายถิ่นฐานไปตามประเทศต่าง ๆ รวมทั้งตั้งรกรากสืบทอดวัฒนธรรมต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวความเป็นมาของขนมซั้งมีการเล่าขานว่า 90 ปีที่แล้วได้มีชาวควนเนียงไปทำงานกับเจ้าสัวเมืองจีนที่เข้ามาทำกิจการค้าในอำเภอหาดใหญ่ และในเวลาต่อมาได้มีการเผยแพร่สูตรภูมิปัญญาการทำขนมซั้งเกิดขึ้น ส่งผลให้ชาวควนเนียงรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงนิยมรับประทานขนมซั้งเป็นอาหารว่างเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเริ่มทดลองทำขายในตลาดควนเนียงเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งขนมโบราณที่มีชื่อเสียงประจำท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การซื้อนำกลับไปฝากให้แก่ผู้อื่นเป็นอย่างยิ่ง
ขั้นตอนวิธีการทำขนมซั้ง
ที่มา: https://youtu.be/mQnPbVnmHts - Suraphong CE Channel
ภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทำขนมซั้ง ฉบับชาวควนเนียง
การทำขนมซั้งได้มีการสืบทอดกรรมวิธีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ชาวบ้านในอำเภอควนเนียงต่างซึมซับวัฒนธรรมการกินขนมซั้งและอยากสานต่อภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยก่อนการเริ่มต้นทำขนมต้องไปเก็บใบไผ่ที่ขึ้นตามธรรมชาติแนวป่าเขาหรือในสวนบริเวณใกล้เคียง ส่วนขั้นตอนการทำจะนำข้าวเหนียวที่แช่น้ำด่างประมาณ 3-5 ชั่วโมงจนเกิดเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ เมื่อข้าวเหนียวนิ่มก็พร้อมที่ห่อมัดขนมซั้ง ซึ่งจะหยิบข้าวเหนียวมารวมกันลงกลางใบไผ่ แล้วใช้มือห่อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมให้แน่นหนา โดยผู้ที่มีความชำนาญในการห่อจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาทีเท่านั้น เรียกได้ว่าต้องอาศัยความคล่องแคล่วและความชำนาญเฉพาะตัวเป็นอย่างสูง จากนั้นจึงเอาห่อขนมซั้งไปมัดกับเชือกปอ เมื่อทำจนกว่าจะได้เป็นมัดพวงใหญ่แล้วต่อมาก็นำไปต้มในหม้อสเตนเลส โดยเรียงพวงขนมซั้งตั้งเป็นชั้น ๆ ใส่น้ำให้ท่วมต้มประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอันเสร็จทุกวิธีขั้นตอน
ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การขนมซั้งอนุรักษ์วัฒนธรรมไว้ต่อไปเพื่อไม่ให้เหลือเพียงแค่ชื่อ ซึ่งเป็นขนมที่มีกรรมวิธีการทำไม่ค่อยยากมากเท่าไรนัก แต่สำหรับใครที่ไม่เคยทำจะถือว่ายากพอสมควร ต้องใช้เวลาในการฝึกห่อและมัด ในปัจจุบันขนมซั้งยังคงมีขายตามตลาดนัดทั่วไปหรือตามบนรถไฟในราคาเพียงพวงละ 10 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ใดที่สนใจภูมิปัญญาการทำขนมซั้งท้องถิ่นสามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เพื่อสืบสานไม่ให้สูญหายไปจากวัฒนธรรมอาหารของภาคใต้
1นักศึกษาในรายวิชา 896-482 การฝึกปฏิบัติการภาษาไทย สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อ้างอิง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. ขนมซั้ง. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.m-culture.go.th/songkhla/ewt_news.php
องค์การบริหารส่วนตำบลรัฐภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา. ขนมซั้งบ้านไร่. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จาก http://www.rattaphoom.go.th/otop/detail/196
Share : แชร์ 2228 ผู้ชม 8 มีนาคม 2565